ครองเวหา ครองนที จักรีนฤเบศร

วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2540 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนารถบพิตรเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเจิมเรือหลวงจักรีนฤเบศร เป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ต่อกำลังพลประจำเรือและกองทัพเรือ
เรียบเรียงโดย Navy24

เรือหลวงจักรีนฤเบศร (HTMS Chakri Naruebet : CVH-9111) เป็นเรือธงและเรือบรรทุกอากาศยานลำแรกและลำเดียวของราชนาวีไทย ประจำการในส่วนกำลังรบของกองทัพเรือ เป็นเรือที่ต่อขึ้นจากประเทศสเปน โดยนำแบบมาจากเรือปรินซีเปเดอัสตูเรียส (Principe de Asturias) ของกองทัพเรือสเปน โดยปรับปรุงระบบขับเคลื่อน ระบบควบคุมการบิน ระบบอาวุธ และลดระวางขับน้ำลงเหลือสองในสาม ได้เริ่มสร้างในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2536 และวางกระดูกงูในวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2537 ทำพิธีปล่อยเรือลงน้ำในวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2539 โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9 เสด็จไปทำพิธี  และขึ้นระวางประจำการเมื่อ วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2540 เดินทางถึงประเทศไทยในต้นเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน และเข้าประจำการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2540   ได้ใช้งานปฏิบัติภารกิจด้านยุทธการ และช่วยเหลือภัยพิบัติตลอดน่านน้ำไทยทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน

ในการนี้กองทัพเรือได้ขอพระราชทานชื่อเรือเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่กองทัพเรือและเป็นขวัญกำลังใจแก่กำลังพลประจำเรือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนรถบพิตรพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อเรือหลวงลำนี้ว่า เรือหลวงจักรีนฤเบศร แปลว่า “ผู้เป็นใหญ่แห่งราชวงศ์จักรี” และใช้คำขวัญว่า “ครองเวหา ครองนที จักรีนฤเบศร” และเมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2540 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนารถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเจิมเรือหลวงจักรีนฤเบศร ณ ท่าเรือน้ำลึกจุกเสม็ด นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ เป็นล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้ต่อกองทัพเรือ และกำลังพลประจำเรือ

ปฐมบทของเรือหลวงจักรีนฤเบศร 

จากเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ.2532 เวลา 08.30 น. พายุไต้ฝุ่นเกย์ เคลื่อนเข้าสู่ภาคใต้ตอนบนด้วยความเร็ว 185 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นความเร็วของพายุไต้ฝุ่นระดับ 3 เข้าถล่มจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ บางสะพานน้อย และบางสะพาน ก่อนขึ้นฝั่งที่อำเภอท่าแซะ และปะทิว จังหวัดชุมพรทำให้เกิดคลื่นพายุซัดฝั่งที่ อำเภอบางสะพานน้อย บางสะพาน ท่าแซะและ ปะทิว ผลของพายุไต้ฝุ่นเกย์ทำให้มีมีผู้เสียชีวิตกว่า 500 คน สูญหายกว่า 400 คน บาดเจ็บ 154 คน บ้านเรือนเสียหายกว่า 38,000 หลัง ประชาชนเดือดร้อนกว่า 150,000 คน  ทรัพย์สินของทางราชการและเอกชนเสียหายไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท พื้นที่การเกษตรกว่า 80 ล้านไร่ มูลค่าความเสียหายกว่า 11,257 ล้านบาท เรือประมงจมลงสู่ใต้ท้องทะเลประมาณ 500 ลำ นอกจากนี้ยังมีรายงานเรือขุดเจาะน้ำมันซีเครสต์อับปางลงนอกชายฝั่ง มีลูกเรือเสียชีวิต 91 คน ถือเป็นพายุหมุนเขตร้อนที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยมากที่สุดในรอบ 27 ปี นับตั้งแต่พายุโซนร้อนแฮเรียตถล่มแหลมตะลุมพุก ในปี พ.ศ. 2505 และเป็นพายุลูกเดียวในประวัติศาสตร์ที่พัดเข้าสู่ประเทศไทยในระดับไต้ฝุ่น ที่มีความเร็วลมสูงสุดขณะขึ้นฝั่งเท่าที่เคยมีมาในคาบสมุทรมลายู

พายุไต้ฝุ่นเกย์

ในขณะนั้นกองทัพเรือได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ค้นหา และช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล ซึ่งทางกองทัพได้ใช้เรือและอากาศยานในการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง แต่ก็ช่วยเหลือไม่ได้มากเท่าที่ควรเนื่องจากเรือขนาดใหญ่ที่สุดที่กองทัพเรือมีอยู่ขณะนั้นคือเรือหลวงสุรินทร์ ซึ่งมีระวางขับน้ำประมาณ 4500 ตัน มีความทนทะเลต่ำไม่สามารถทนสภาพทะเลที่มีคลื่นสูงได้ ทำให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยกระทำได้ด้วยความยากลำบาก

เรือหลวงจักรีนฤเบศร และเรือหลวงสิมิลัน

กองทัพเรือจึงมีแนวคิดว่าการมีเรือขนาดใหญ่พร้อมอุปกรณ์ทันสมัยจะสามารถใช้ในการค้นหา และให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเลได้อย่าง รวดเร็ว และทันการ และหากว่ามีเฮลิคอปเตอร์ประจำการบนเรือจะช่วยขยายพื้นที่ในการลาดตระเวน และระยะเวลาในการ ปฏิบัติ การในทะเลได้เป็น เวลานานและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงได้มีแนวความคิด ในการจัดหาเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ เพื่อให้สามารถบรรลุภารกิจ ซึ่งตามความมุ่งหมายเดิมรัฐบาลไทยได้วางแผนจัดซื้อเรือบัญชาการสนับสนุนการยกพลขึ้นบก ขนาดระวาง 7,800 ตันจากบริษัทเบรเมอร์ วัลแคนของเยอรมนี แต่ได้ยกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2534 และทำการจัดซื้อใหม่จากบริษัท บาซานประเทศสเปน ซึ่งเป็นผู้ออกแบบและต่อเรือปรินซีเปเดอัสตูเรียส เรือธงของ กองทัพเรือสเปนในขณะนั้น

เรือปรินซีเปเดอัสตูเรียส ต้นแบบเรือหลวงจักรีนฤเบศร

ต่อมาคณะรัฐมนตรีของไทยได้มีมติเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2535 อนุมัติให้กองทัพเรือว่าจ้างสร้างเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ ในลักษณะ รัฐบาลต่อรัฐบาล ลงนามโดยรัฐบาลไทยและรัฐบาลสเปนในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2535 เป็นเงิน 7,100 ล้านบาท

ตลอดเวลาที่ผ่านมาเรือหลวงจักรีนฤเบศรได้มีภารกิจช่วยเหลือประชาชนในเหตุการณ์น้อยใหญ่นับครั้งไม่ถ้วน โดยมีเหตุสำคัญๆ  ดังนี้

พายุไต้ฝุ่นซีตาห์ ในวันที่ 24 สิงหาคมพ.ศ. 2540 ได้เกิดพายุไต้ฝุ่นซีตาห์ที่จังหวัดชุมพร เรือหลวงจักรีนฤเบศร ได้ไปยังพื้นที่ประสบภัย และช่วยเหลือประชาชนที่ติดอยู่ตามตำบลที่ต่างๆ เนื่องจากระดับน้ำท่วมสูงถึง 2.20 เมตร จนการช่วยเหลือทางบกไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ประสบภัยได้ ด้วยการใช้เฮลิคอปเตอร์จากเรือ นำอาหารและน้ำดื่มไปแจกจ่ายให้กับผู้ที่ติดอยู่ตามตำบลที่ต่างๆ

พายุไต้ฝุ่นลินดา เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 เกิดพายุโซนร้อน “ลินดา” ในอ่าวไทยตอนกลางทวีความรุนแรงเป็นพายุไต้ฝุ่นลินดา ทำให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากต่อเนื่องหลายวัน เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก บริเวณประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม ราชบุรี และกาญจนบุรี โดยเฉพาะจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีลมพัดแรงจัดจนบ้านเรือนเสียหายและต้นไม้ โค่นล้มในหลายอำเภอ ส่งผลกระทบต่อประชาชน 461,263 คน มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 9 คน สูญหาย 2 คน บาดเจ็บ 20 คน บ้านเรือนได้รับความเสียหาย 9,248 หลัง ถนนเสียหาย 1,223 แห่ง ฝาย-ทำนบเสียหาย 40 แห่ง สะพานชำรุด 20 แห่ง สาธารณประโยชน์ 58 แห่ง มูลค่าความเสียหายรวม 213,054,675 บาท นอกจากนี้ยังมีคลื่นพายุซัดฝั่ง ซัดเรือประมงอับปางกว่า 50 ลำ

ในวันที่ 4-7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 เรือหลวงจักรีนฤเบศร ได้ออกเรือเพื่อให้การช่วยเหลือเรือประมงในทะเล ที่ประสบภัยจากพายุไต้ฝุ่นลินดาโดยลาดตระเวนจากสัตหีบไปยังเกาะกูดจังหวัดตราดจนถึงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

เหตุการณ์น้ำท่วมหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในปี พ.ศ. 2543  เป็นเหตุการณ์ที่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจของ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 15,000 ล้านบาท ในครั้งนั้นเรือหลวงจักรีนฤเบศรได้ออกเรือเพื่อปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่จังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 23-29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 เรือหลวงจักรีนฤเบศร ออกจากท่าเรือจุกเสม็ดการท่าเรือสัตหีบฐานทัพเรือสัตหีบ ในวันที่ 23 พฤศจิกายนพ.ศ. 2543 และจอดทอดสมอเรือบริเวณเกาะหนูจังหวัดสงขลา ในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 ได้เริ่มปฏิบัติการโดยใช้การบินตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 และส่งชุดปฏิบัติการพิเศษพร้อมเรือยางลำเลียงเอาอาหารและสิ่งของจำเป็นมอบแก่ผู้ประสบภัย

ช่วยเหลือคนไทยในเหตุการณ์ความไม่สงบที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ในวันที่ 26 มกราคมพ.ศ. 2546 เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในกรุงพนมเปญ และมีชาวกัมพูชาเผาสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญได้รับความเสียหาย มีการเตรียมพร้อมในการอพยพเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตไทยและประชาชนชาวไทยในกัมพูชาให้เดินทางกลับประเทศไทย ในแผน “โปเชนตง 1” และเตรียมพร้อมปฏิบัติการบริเวณพื้นที่ด้านตะวันตกของเกาะกง นอกน่านน้ำกัมพูชา เป็นการปฏิบัติการในชื่อแผน “โปเชนตง 2” โดยอากาศยานบนเรือเตรียมพร้อมปฏิบัติการในการใช้กำลังทางทหารต่อกัมพูชา หากมีความผิดพลาดเกินขึ้นในแผนโปเชนตง 1

เหตุการณ์มหาพิบัติภัยสึนามิ พ.ศ. 2547 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคมพ.ศ. 2547 กองเรือยุทธการได้จัดตั้งหมู่เรือช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล โดยมีกำลังพลรวมทั้งสิ้น 760 นาย ประกอบด้วยเรือหลวงจักรีนฤเบศร เรือหลวงนเรศวร และชุดแพทย์เคลื่อนที่ โดยมีภารกิจหลักค้นหา และช่วยเหลือผู้ประสบภัย ให้การรักษาพยาบาลบริเวณเกาะต่างๆ และพื้นที่ทะเลด้านใต้ของเกาะภูเก็ต และเก็บกู้ศพ และลำเลียงศพจากเกาะพีพีดอน

เหตุการณ์น้ำท่วมในประเทศไทย พ.ศ. 2553 ในเหตุการณ์อุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2553 เรือหลวงจักรีนฤเบศรได้เดินทางออกจากฐานทัพเรือสัตหีบ เดินทางถึงจังหวัดสงขลา โดยทอดสมอที่เกาะหนู เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย

เหตุการณ์ภัยพิบัติในพื้นที่จังหวัดสุราษฏร์ธานี (เกาะเต่า) ในเหตุการณ์อุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2554 กองทัพเรือได้จัดตั้งหมู่เรือช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล กรณีเกิดภัยพิบัติในพื้นที่ เกาะเต่า เกาะสมุย เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฏร์ธานี โดยสั่งการให้เรือหลวงจักรีนฤเบศรพร้อมด้วยอากาศยาน เรือหลวงสุโขทัย และเรือของกองทัพเรืออีกหลายลำออกเดินทางไปให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ติดค้างบนเกาะเต่า โดยลำเลียงผู้ประสบภัยจำนวนทั้งสิ้น 743 คน เดินทางมายังท่าเทียบเรือจุกเสม็ด

เรือหลวงจักรีนฤเบศรเป็นเรือบรรทุกอากาศยานขนาดเล็กที่สุดในโลก เล็กกว่า Principe de Asturias ต้นแบบเล็กน้อย ซึ่งเดิมที พัฒนามาจากแบบแผนเรือคุมทะเล (Sea Control Ship – SCS) ของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาโดยลดระวางขับน้ำลง มีระวางขับน้ำเต็มที่ 11,544 ตัน จาก 16,700 ตัน ของเรือพี่  เรือหลวงจักรีนฤเบศรมีความเร็วสูงสุด 27 นอต แม้ว่าเรือจะทำความเร็วได้ที่ 17.2 นอตเมื่อใช้เครื่องยนต์ดีเซลเพียงอย่างเดียว เรือมีระยะทำการ 10,000 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 12 นอต

นอกจากนี้กองทัพเรือยังได้รับเครื่องบินขึ้นลงทางดิ่งแบบ Hawker Siddeley ‘Matador’ Harrier แบบ AV-8S (ที่นั่งเดี่ยว) และ TAV-8S (สองที่นั่ง) มือสองจากกองทัพเรือสเปนเข้าประจำการจำนวน 9 เครื่อง ภายในวงเงินงบประมาณ ซึ่งนับได้ว่าเป็นการจัดซื้อเรือที่คุ้มค่าที่สุดในของกองทัพเรือในขณะนั้น ด้วยเรือที่แลกมาด้วยคุณภาพในราคาค่อนข้างถูก แม้มีค่าใช้จ่ายสูงเนื่องจากเป็นเรือใหญ่

นอกจากอากาศยานปีกตรึงแล้ว กำลังหลักของเรือหลวงจักรีนฤเบศรคือ เฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำแบบ S-70B Seahawk จำนวน 6 ลำ และเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไปแบบ MH-60S Knighthawk ที่จัดซื้อมาภายหลังอีกจำนวน 2 เครื่อง. โดยเรือหลวงจักรีนฤเบศรสามารถรองรับเฮลิคอปเตอร์ขนาด 10 ตัน ได้สูงสุดถึง 14 เครื่อง

ระบบอาวุธของเรือหลวงจักรีนฤเบศร : เรือหลวงจักรีนฤเบศรติดตั้งอาวุธปืน 20 มม. จำนวน 4 แท่นยิง พร้อมแท่นยิงจรวด SADRAL สำหรับยิงจรวดต่อสู้อากาศยานระยะใกล้แบบ Mistral ระยะยิง 6 กม. จำนวน 3 แท่นยิง

ในปี 2555 เรือหลวงจักรีนฤเบศร ยังได้รับการอัพเกรดระบบควบคุมและบังคับบัญชา (Command and Control System)  ด้วยการติดตั้งระบบควบคุมและบังคับบัญชารุ่น 9LV Mk.4 รวมถึงระบบเครือข่ายการส่งข้อมูลทางยุทธวิธีหรือ Datalink เพื่อเชื่อมต่อเรือหลวงจักรีนฤเบศรเข้ากับเครื่องบินขับไล่แบบ Gripen และเครื่องบินแจ้งเตือนล่วงหน้าแบบ Saab 340 AEW “Erieye” ของกองทัพอากาศ และการติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์รุ่น Sea Giraffe AMB บนเรือหลวงจักรีนฤเบศร ซึ่งแล้วเสร็จในปี 2558 ทำให้เรือหลวงจักรีนฤเบศร กลายเป็นเรือธงที่มีความพร้อมรบในการสื่อสาร การเป็นศูนย์บัญชาการ และการประสานงานระหว่างกองทัพเรือและกองทัพอากาศอย่างเป็นรูปธรรม

โดยการฝึกหลัก คือ การทดสอบการใช้ระบบ Datalink ประสานการปฏิบัติการซึ่งกันระหว่างเรือรบและอากาศยานของทั้ง 2 เหล่าทัพ และการพัฒนาระบบ Link-T ซึ่งเป็นลิงก์มาตรฐานของทุกเหล่าทัพ ซึ่งเรือรบทั้ง 3 ลำสามารถเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเครื่องบินขับไล่ Gripen, เครื่องบินแจ้งเตือนล่วงหน้า Saab 340 AEW รวมทั้งฐานเรดาร์ภาคพื้นดินของกองทัพอากาศได้ เท่ากับเป็นการสร้างสร้างส่วนทวีกำลังรบ (Force Multiplier) ระหว่าง 2 เหล่าทัพขึ้น เมื่อสามารถรับรู้ข้อมูลและสถานการณ์ทั้งหมดได้แล้ว การตัดสินใจทำภารกิจต่างๆจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น กองทัพเรือไทยยุคใหม่ใช้ระบบ C4ISR (ย่อมาจาก Command, Control, Communications, Computers, Intelligence, Surveillance และ Reconnaissance) อย่างเต็มตัว และกำลังจะก้าวต่อไปสู่ระบบ Network Centrics Warfare หรือการสงครามโดยใช้ระบบเครือข่ายเป็นศูนย์กลาง

และในการฝึกกองทัพเรือประจำปี 2560 นอกจากการฝึกร่วมกับกองทัพอากาศ แล้วทางกองทัพบกยังได้ปรับแผนการฝึกในการส่งกำลังเข้าร่วมการฝึก และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยกองบังคับการตำรวจน้ำ ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของ ศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ร่วมสาธิตการตรวจค้นเรือต้องสงสัย กระทำผิดกฎหมายในทะเลด้วย
นอกจากนี้กองทัพเรือยังปรับแบบการฝึกของกองทัพเรือจัดกำลังเข้าร่วมงานสวนสนามทางเรือนานาชาติ และ นิทรรศการทางเรือ IMDEX ASIA 2017 ที่สิงคโปร์ การฝึกผสม CARAT 2017 แบบพหุภาคีครั้งแรกระหว่าง กองทัพเรือไทย-สหรัฐฯ–สิงคโปร์ การฝึกผสม GUARDIAN SEA 2017 กับเรือดำน้ำสหรัฐ ในฝั่งทะเลอันดามัน และ การฝึกผสม PASSEX ระหว่าง กองทัพเรือไทย – กองทัพเรือออสเตรเลีย

สุดท้ายนี้ เรือหลวงจักรีนฤเบศร จึงมิใช่เพียงเรือบรรทุกเครื่องบินจอดรับนักท่องเที่ยว แต่ด้วยสมรรถนะและประสิทธิภาพ เมื่อถึงเวลาที่ต้องปฏิบัติหน้าที่  เรือหลวงจักรีนฤเบศร ย่อมเป็นได้ทุกสิ่งตามภารกิจหน้าที่ของเรือธงและเรือบรรทุกอากาศยานลำแรกและลำเดียวของราชนาวีไทย

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว /Facebook เรือหลวงจักรีนฤเบศร /จักรกฤษณ์ จิตรกุล (10 กรกฎาคม พ.ศ. 2559)

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *