7 มกราคม วันสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
The Second King : ผู้บัญชาการทหารเรือพระองค์แรกของสยาม
ทหารเรือทุกนายไม่มีใครไม่รู้จักพระนาม “พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว “ แต่คงมีไม่มากนักที่จะทราบถึงพระมหากรุณาธิคุณต่อกองทัพเรือ ประการแรกคือพระราชวังเดิมที่ทำการกองบัญชาการกองทัพเรือตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันนั้นคือวังที่ประทับของพระองค์นับตั้งแต่วันพระราชสมภพ เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 10 ขึ้น 15 ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 4 กันยายน 2351 ด้วยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระราชบิดา ซึ่งในครั้งนั้นเรียกว่า “พระบวรราชวังใหม่” อันเนื่องมาจากในขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยดำรงพระอิสริยยศที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล  ภายหลังพระองค์ประสูติได้ประมาณ 1 ปี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ล้นเกล้ารัชกาลที่ 1 เสด็จสวรรคต เป็นผลให้สมเด็จพระราชบิดาของพระองค์เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ในรัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี มีพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หลังจากที่สมเด็จพระราชบิดาได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติพระองค์จึงได้ตามเสด็จพระบรมชนกนาถและพระราชชนนี ไปประทับในพระบรมมหาราชวัง เมื่อพระองค์มีพระชนมายุได้ 16 พรรษา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระราชบิดา ทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคต ยังไม่ทันได้สถาปนาพระอิสริยยศจึงยังคงทรงพระนามเดิมว่า “สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี” หรือ “เจ้าฟ้าน้อย” และเสด็จมาประทับ ณ พระราชวังเดิม และประทับที่นี่จนถึงปี พ.ศ.2394
 
เจ้าฟ้าน้อยทรงเป็นพระอนุชาร่วมพระมารดาเพียงพระองค์เดียวกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อสมเด็จพระราชบิดาเสด็จสวรรคต ณ ช่วงเวลานั้นพระเชษฐาเจ้าฟ้ามงกุฎ (เจ้าฟ้าใหญ่) ยังทรงผนวชอยู่ พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระเชษฐาต่างพระมารดาจึงได้ขึ้นครองราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ 3 พระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว” เจ้าฟ้าน้อยจึงได้ตามเสด็จพระมารดากลับไปประทับ ณ พระราชวังเดิม ฝั่งธนบุรี*
ต่อมาเจ้าฟ้าน้อยทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และเสด็จไปประทับ ณ วัดระฆังโฆษิตาราม หลังจากลาผนวช พระองค์ได้เข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์บังคับบัญชากรมทหารปืนใหญ่ กรมทหารแม่นปืนหน้าปืนหลัง และญวนอาสารบแขก อาสาจาม  จนปรากฏว่ามีความชอบในราชการ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นเจ้าฟ้าต่างกรมที่กรมขุน มีพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ในวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2375 ในขณะที่พระองค์มีพระชนมายุได้ 24 พรรษา
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ทรงเป็นเจ้านายที่มีความคิดทันสมัยมากในยุคนั้น ทรงเห็นว่ามหาอำนาจตะวันตกกำลังขยายอิทธิพลเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกไม่ช้าจะต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับสยามมากขึ้นอย่างแน่นอน พระองค์จึงทรงเห็นความจำเป็นที่จะต้องศึกษาหาความรู้ตามแบบของชาวตะวันตกไว้เพื่อรับมือกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น สิ่งที่พระองค์ทรงเห็นว่าจำเป็นต้องศึกษามากที่สุดคือ ภาษาอังกฤษ ซึ่งสำคัญอย่างยิ่งในการศึกษาวิทยาการแขนงต่างๆ และใช้ในการติดต่อกับชาวต่างประเทศด้วย
นอกจากเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ จะทรงสนพระทัยศึกษาภาษาอังกฤษแล้ว พระองค์ยังศึกษาวิชาการเดินเรือ การทหารแบบใหม่ การต่อเรือ การทำแก๊ส และการซ่อมนาฬิกา ในหนังสือเรื่องหมอเฮาส์ในรัชกาลที่ 4* ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า
“ในตอนแรก เจ้าฟ้าน้อยถือโอกาสการรู้จักกันนี้ให้ช่วยแนะนำวิชาวิทยาศาสตร์ให้พระองค์ใช้ให้บ่าวมาขอยืมหนังสือและขอคำแนะนำเกี่ยวกับเคมี ไฟฟ้า ถ่ายรูปการพิมพ์หนังสือ และงานที่เกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ ดร.เฮาส์ได้ถูกเจ้าชายเรียกตัวมาในวังบ่อยๆ เพือขอความช่วยเหลือหรือสั่งสอนเกี่ยวกับการทดลองวิทยาศาสตร์บางประการ”
*แปลและเรียบเรียงจาก Samuel Reynolds Houseof Siam by George Haws Feltus ของสภาคริสจักร ในประเทศไทย จัดพิมพ์
การศึกษาขนบธรรมเนียมและความเจริญของฝรั่งของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์  ได้ทรงนำมาใช้เป็นกำลังสำคัญของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ในกิจการที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศอีกด้วย ซึ่งเห็นได้จากการที่รัชกาลที่ 3​ ทรงไว้วางพระทัยมอบหมายให้พระองค์แปลเอกสาร และโต้ตอบจดหมายต่างประเทศเป็นประจำ เวลามีทูตต่างประเทศเข้ามาติดต่อทำสนธิสัญญาทางการค้าก็ทรงมอบหมายงานด้านนี้ให้ ดังจะเห็นได้จากกรณีนายโยเซฟ บัลเลสเตีย ทูตสหรัฐอเมริกาเข้ามาในปี พ.ศ.2393 เพื่อขอแก้สนธิสัญญาที่นายเอ็ดมันต์ โรเบิร์ตทำไว้เมื่อ พ.ศ.2376 และ เมื่อเซอร์เจมส์ บรุค ทูตอังกฤษ ซึ่งเข้าในปีเดียวกัน ขอแก้สนธิสัญญาที่นายเฮนรี่ เบอร์นี ทำไว้เมื่อ พ.ศ.2369 เหตุการณ์ทั้งสองครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงดำริให้ปรึกษาเรื่องนี้กับสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ดังพระราชดำรัสเมื่อครั้งเซอร์ เจมส์ บรุค เข้ามาๅตอนหนึ่งว่า “…จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าว่า ราชการแผ่นดินต้องปรึกษาหารือกัน พระยาราชสุภาวดี พระเพชรพิไชย และข้าราชการผู้น้อย นอกจากนี้เสนาบดีที่เคยใช้สอยเห็นว่า ผู้ใดมีสติปัญญาก็ควรเอามาเป็นที่ปรึกษาด้วย การนี้เป็นการฝรั่ง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ทราบอย่างธรรมเนียมฝรั่งมากควรจะเป็นที่ปรึกษาใหญ่ได้…”
นอกจากนี้การศึกษาหาความรู้ด้านภาษาอังกฤษ และขนบธรรมเนียมของชาวตะวันตก ของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ ฯ รวมทั้งการที่ทรงมีพระสหายชาวต่างประเทศมากมาย จึงสามารถช่วยในเรื่องกิจการการต่างประเทศของบ้านเมืองในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี ทำให้บรรดาฝรั่งที่ได้มาพบเห็นเกิดความเลื่อมใสศรัทธา ไม่กล้าดูหมิ่นเหมือนอย่างที่ฝรั่งเคยดูหมิ่นชาวตะวันออกอื่นๆ
ในปีพุทธศักราช 2375  ไทยเกิดกรณีพิพาทกับญวนถึงกับทำสงครามกันด้วยเรื่องเจ้าอนุวงศ์ เมืองเวียงจันทร์ การสงครามในครั้งนั้นใช้ทั้งกองทัพบกและกองทัพเรือ เมื่อมีข่าวว่าญวนได้ขุดคลองลัดจากทะเลสาบมาออกอ่าวไทย และมีท่าทีว่าจะยกกำลังทางเรือมารุกรานไทย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ จึงโปรดให้สร้างป้อมขึ้นตามปากแม่น้ำสำคัญ เริ่มแต่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมาเป็นปากแม่น้ำท่าจีน ปากแม่น้ำแม่กลอง ปากแม่น้ำบางปะกง และปากแม่น้ำจันทบุรี สำหรับป้อมที่ปากแม่น้ำแม่กลองนั้น ได้โปรดเกล้า ฯ ให้กรมขุนอิศเรศรังสรรค์  เป็นแม่กองอำนวยการสร้างขึ้น ที่ฝั่งตะวันออกของปากคลองแม่กลอง ต่อจากวัดบ้านแหลม เมื่อสร้างเสร็จแล้วพระราชทานนามว่าป้อมพิฆาตข้าศึก*
กาลต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในวันที่ 2 เมษายน 2394 พระราชวงศ์และเสนาบดี มีมติเห็นชอบให้ถวายราชสมบัติแก่พระมงกุฎ วชิรญาณะ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในกาลต่อมา) จึงมอบหมายให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ไปเฝ้าเจ้าฟ้ามงกุฎ ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร แต่พระมงกุฎยังไม่ลาผนวชและตรัสว่า ต้องอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ขึ้นครองราชย์ด้วย เนื่องจากพระองค์ทรงเห็นว่า เป็นผู้ที่สามารถควบคุมกำลังทหารเป็นอันมากได้ จึงมีพระชะตาแรงและต้องได้เป็นพระมหากษัตริย์ ด้วยในยุคนั้นเป็นที่รู้กันดีว่า สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ทรงมีพระปรีชาสามารถ โด่งดังในตำแหน่งผู้คุมกำลังด้านกองทัพมาโดยตลอดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) นอกจากจะทรงเคยเป็นแม่ทัพเรือยกไปปราบญวนแล้ว ยังทรงเป็นผู้บัญชาการทหารปืนใหญ่อีกด้วย พระวันรัต (พทุธสิริทับ) วัดโสมนัสวิหารยังได้แสดงธรรมเทศนาในงานสมโภชพระนครครบ ๑๐๐ ปี ได้กล่าวถึงเหตุที่รัชกาลที่ ๔ สถาปนาพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า
“ทรงมีพระราชดำริเห็นว่า เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ทรงพระปรีชารอบรู้การในพระนครและต่างประเทศ และขนมธรรมเนียมต่าง ๆ และชำนาญในสรรพอาวุธในการณรงค์สงครามเป็นอันมาก และแคล่วคล่องจัดเจในการทรงพาหนะ มี คชสาร เป็นต้น อนึ่งเป็นที่นิยมนับถือของพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยเป็นอันมาก ครั้นทรงพระราชดำริฉะนี้แล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งที่อุปราช ให้รับพระบวรราชโองการพระราชทานพระเกียรติยศยิ่งกว่ากรมพระราชวังบวร ทุก ๆ พระองค์”

ดังนั้น จึงได้มีการเชิญสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ขึ้นทรงราชสมบัติที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล มีพระราชพิธีบวรราชาภิเษกเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2394 และทรงรับพระบวรราชโองการให้พระเกียรติยศเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่ 2 โดยได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า

  “พระบาทสมเด็จพระปวเรนทราเมศร์มหิศเรศรังสรรค์ มหันตรวรเดชโชไชย มโหฬารคุณอดุลย สรรพเทเวศรานุรักษ บวรจุลจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสังสุทธเคราะหณี จักรีบรมนาถ อิศวรราชรามวรังกูร บรมมงกุฎนเรนทร สูรยโสทรานุชาธิบดินทร เสนางคนิกรินทร บวราธิเบศร พลพยุหเนตรนเรศวร มหิทธิวรนายก สยามาทิโลกดิลกมหาบุรุษรัตนไพบูลยพิพัฒนสรรพศิลปาคม สุนทรโรดมกิจโกศล สัตปดลเสวตรฉัตร ศิริรัตนบวรมหาราชาภิเศกาภิสิต สรรพทศทิศพิชิตไชยอุดมมไหสวริยมหาสวามินทร สเมกธรณินทรานุราช บวรนารถชาติอาชาวศรัย ศรีรัตนไตรสรณารักษ์ อุกฤษฐศักดิสรรพรัษฎาธิเบนทร ปวเรนทรธรรมมิกราชบพิตร พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว”

 

พระราชกิจจานุกิจด้านการทหารเรือ

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือเป็นพระองค์แรก หลังจาก ได้รับพระราชทานบวรราชาภิเษก และทรงดำรงตำแหน่งนี้อยู่จนตลอดพระชนชีพ นับได้ว่าพระองค์เป็นผู้ทรง วางรากฐานการจัดกิจการทหารเรือให้เข้าสู่ระบบสากลตามแบบอย่างอารยะประเทศ

 

พระราชกรณียกิจด้านทหารเรือนี้เริ่มเป็นที่ประจักษ์ตั้งแต่ช่วงต้นของปี พ.ศ.2384 ซึ่งในขณะนั้นประเทศไทยได้ทำสงครามติดพันกับญวน ติดต่อกันมาหลายปี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์) เป็นแม่ทัพใหญ่คุมกองทัพเรือยกทัพไปตีเมืองบันทายมาศ เพื่อทำให้ญวนเกิดความระส่ำระสายและถ่วงเวลาให้ กองทัพบกของไทยทำการถมคลองตัดเส้นทางส่งเสบียงตลอดจนเส้นทางคมนาคมเพื่อป้องกันไม่ให้กองทัพญวนมาตั้ง ในเขมรได้ แต่การศึกครั้งนั้นฝ่ายไทยต้องยกทัพกลับเพราะกองทัพของญวนได้ทำการสู้รบอย่างเข้มแข็ง

 

หลังพระราชพิธีบวรราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงจัดตั้งกรมทหารเรือวังหน้าขึ้น พระองค์ทรงทำนุบำรุงด้านกำลังทหารเรืออย่างต่อเนื่อง ทรงสร้างโรงทหารเรือขึ้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศใต้ของตำหนักแพ (บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปัจจุบัน) นอกจากนั้นยังได้ทรงดัดแปลงกำปั่นไทยให้เป็นเรือรบ 2 ลำ โดยพระราชทานนามว่า “อาสาวดีรส” และ “ยงยศอโยชฌิยา”

 

ต่อมาในปีพ.ศ.2375 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์สร้าง “ป้อมพิฆาตข้าศึก” ขึ้นเพื่อรักษาปากน้ำแม่กลองที่สมุทรสงครามนับเป็น พระราชกรณียกิจแรกที่เกี่ยวกับราชการบ้านเมืองซึ่งได้มีการบันทึกไว้ในพระ ราชพงศาวดาร

กองอาสาญวนและกองทหารต่างด้าว

ในรัชสมัยสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพวกญวนอพยพเข้ามา 3 ครั้งด้วยกัน ในครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2377 ได้มีพวกญวนที่นับถือศาสนาคริสต์อพยพเข้ามาด้วย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้แยกจากพวกนับถือศาสนาพุทธ มาตั้งบ้านเรือนบริเวณสามเสน โดยให้ขึ้นกับสมเด็จเจ้าฟ้า กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ และฝึกหัดให้เป็นทหารปืนใหญ่ ในการอพยพในครั้งที่ 3 ในปีพ.ศ.2383 เป็นพวกญวนที่นับถือศาสนาพุทธ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้พวกนี้ไปอยู่ที่บางโพธิ์ และขึ้นอยู่กับสมเด็จพระเจ้า น้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ สังกัดกรมอาสาญวน เป็นพลทหารปืนใหญ่ประจำป้อม นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงเป็นผู้บัญชาการทหารปืนใหญ่และทหารต่างด้าว ได้ทรงจัดวิธีการฝึกทหารแบบตะวันตกขึ้น ทรงปรับปรุงและจัดเป็นวิชาการทหารปืนใหญ่ตามแบบยุโรปทั้งทางด้านยุทธศาสตร์ และยุทธวิธีโดยใช้ปืน ใหญ่ซึ่งหล่อขึ้นเองด้วยเหล็ก ส่วนเครื่องแบบได้ให้แต่งตามแบบทหารซีปอย

ตำราปืนใหญ่

ในฐานะที่พระบาท สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นแม่กองฝึกยิงปืนใหญ่ และทรงบังคับบัญชาทหารปืนใหญ่ ทำให้จำเป็นต้องมีตำราเพื่อใช้ในการฝึก จึงได้ทรงพระราชนิพนธ์ตำราปืนใหญ่ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2348 โดยทรงแปลจากตำราภาษาอังกฤษ การหล่อปืนตามแบบวิธีการสมัยใหม่ และการยิงปืน ทรงรวบรวมทำเนียบนามปืนใหญ่ ตลอดจนความเชื่อและเคล็ดลับอาถรรพ์ต่างๆ ของไทยแทรกไว้ด้วย ตำรานี้เดิมใช้ฝึกหัดทหาร ปืนใหญ่ญวน แต่ต่อมาได้ใช้นำมาฝึกหัดทหารปืนใหญ่ของไทยเรื่อยมา จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้มีต้นฉบับเป็นสมุดเขียนตัวรงค์ด้วยลายมืออาลักษณ์

การวางผังถนนเจริญกรุง

เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีความเชี่ยวชาญในเรื่องปืนใหญ่ได้ทรง ทักท้วงการวางผัง การตัดถนนสายตรงจากสามแยกพุ่งเข้ามายังพระนคร เพราะทรงเห็นว่าหากข้าศึกนำปืนใหญ่มาตั้งที่ถนน จะง่ายต่อการยิงเข้าประตูเมือง ดังนั้นจึงได้ตัดถนนเจริญกรุงโค้งอ้อมมาทางสะพานดำรงสถิตซึ่งจะเห็นว่า ปัจจุบันถนนนี้มีการหักมุมกันอยู่

———————-

การทหารเรือ การทหารเรือ ของไทยเรานั้น เริ่มมีเค้าเปลี่ยนจากสมัยโบราณเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ในสมัยรัชกาลที่ 3 และผู้ที่เป็นกำลังสำคัญ ในกิจการด้านทหารเรือในสมัยนั้น คือ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ และ จมื่นไวยวรนาถ (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ : ช่วง บุนนาค) ด้วยทั้ง 2 ท่านนี้มีความรู้ในวิชาการต่อเรือในสมัยนั้นเป็นอย่างดี จึงได้รับหน้าที่ปกครอง บังคับบัญชาการทหารเรือในสมัยนั้น

ต่อมาได้แบ่งหน้าที่กันโดยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงบังคับบัญชาทหารเรือ วังหน้า ส่วนทหารเรือบ้านสมเด็จอยู่ในปกครองบังคับบัญชาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ในยามปกติทั้ง 2 ฝ่าย นี้ ไม่ขึ้นแก่กันแต่ขึ้นตรงต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงฝึกฝนทหารของพระองค์ โดยใช้ทั้งความรู้และความสามารถ และยังทรงมุ่งพระราชหฤทัยในเรื่องการค้าขายให้มีกำไร สู่แผ่นดินด้วยมิใช่สร้าง แต่เรือรบเพราะได้ทรงสร้างเรือเดินทะเล เพื่อการค้าระหว่างประเทศอีกด้วย นอกจากนี้พระองค์ได้ทรงนำเอาวิทยาการ สมัยใหม่ของยุโรป มาใช้ฝึกทหารให้มีสมรรถภาพเป็นอย่างดี ทรงให้ร้อยเอก น็อกส์ (Thomas George Knox) เป็นครูฝึกทหารวังหน้า

ทำให้ทหารไทยได้รับวิทยาการอันทันสมัยตามแบบทหารเกณฑ์หัดอย่างยุโรปการฝึกหัดใช้คำบอกทหารเป็น ภาษาอังกฤษทั้งหมดเริ่มมีเรือรบกลไฟเป็นครั้งแรก ชื่อเรืออาสาวดีรส 3 และเรือยงยศอโยชฌิยา 4 (หรือยงยศอโยธยา) ซึ่งเมื่อครั้งเรือยงยศอโยชฌิยา ได้เดินทางไปราชการที่สิงคโปร์ ก็ได้รับคำชมเชยจากต่างประเทศเป็นอันมาก ว่าพระองค์มีพระปรีชาสามารถทรงต่อเรือได้ และการเดินทางในครั้งนั้นเท่ากับเป็นการไปอวดธงไทยในต่างประเทศ ธงไทยได้ถูกชัก ขึ้นคู่กับธงอังกฤษ ที่ฟอร์ทแคนนิ่งด้วย และแม้พระเจ้าลูกยาเธอหลายพระองค์ก็ทรงโปรด ฯ ให้เป็นทหารเรือเช่นกัน

ประวัติของเรือที่พระองค์ทรงมีใช้ในสมัยนั้น ตามที่พลเรือตรี แชน ปัจจุสานนท์ ได้รายงานเล่าไว้ในหนังสือประวัติทหารเรือไทย มีดังนี้

  1. เรือพุทธอำนาจ (Fairy) สร้างเมื่อ พ.ศ. 2379 เป็นเรือชนิดบาร์ก (Bark) ขนาด 200 ตัน มีอาวุธปืนใหญ่ 10 กระบอก เรือลำนี้เป็นของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ เมื่อ พ.ศ. 2384 ไปราชการทัพรบกับญวน ใช้เป็นเรือพระที่นั่งของแม่ทัพ คือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เมื่อครั้งทรงเป็นกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ยกกองทัพไปรบกับญวน ตีเมืองบันทายมาศ (ฮาเตียน)

 

  1. เรือราชฤทธิ์ (Sir Walter Scott) สร้างเมื่อ พ.ศ. 2379 เป็นเรือแบบเดียวกันกับพุทธอำนาจ เมื่อ พ.ศ. 2384 ไปราชการทัพรบกับญวน

 

  1. เรืออุดมเดช (Lion) สร้างเมื่อ พ.ศ. 2384 เป็นเรือชนิดบาร์ก (Bark) ขนาด 300 ตัน เรือลำนี้เป็นของพระบาทสมเด็จ พระปิ่นเกล้าฯ เมื่อ พ.ศ. 2384 ได้ใช้ไปราชการทัพรบกับญวน พ.ศ. 2387 ได้นำสมณทูตไปลังกา

 

  1. เรือเวทชงัด (Tiger) สร้างเมื่อ พ.ศ. 2386 เป็นเรือชนิดสกูเนอร์ (Schooner) ขนาด 200 ตัน เรือลำนี้เป็นของพระบาท สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ

 

  1. เรือพุทธสิงหาศน์ (Cruizer) สร้างเมื่อ พ.ศ. 2398 เป็นเรือชนิดชิพ ขนาด 400 ตัน เรือลำนี้เป็นของพระบาทสมเด็จ พระปิ่นเกล้าฯ

 

  1. เรือมงคลราชปักษี (Falcon) ซื้อเมื่อ พ.ศ. 2400 เดิมเป็นเรือของชาวอเมริกัน ชนิดสกูเนอร์ (Schooner) ขนาด 100 ตัน พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ ทรงซื้อมา แล้วดัดแปลงใช้เป็นเรือรบ เรือพระที่นั่งของพระองค์

 

เกียรติประวัติของการทหารเรือไทยสมควรจะต้องยกถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะพระองค์เป็นผู้ที่ทรงสนพระราชหฤทัยในกิจการทหารเรือในสมัยนั้นเป็นอย่างมาก เมื่อปรากฏว่ามีเรือรบต่างประเทศเข้ามาเยี่ยม ประเทศไทยคราวใดพระองค์ก็มักหาโอกาสเสด็จไปเยี่ยมเยียนเรือรบเหล่านั้นเสมอ เพื่อจะได้ทรงทราบว่าเรือรบต่าง ประเทศเขาตกแต่งและจัดระเบียบเรือกันอย่างไร แล้วนำมาเป็นแบบอย่างให้กับเรือรบของไทยในเวลาต่อมา

 

จากพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเห็นได้ว่าพระองค์ทรงเป็นผู้นำในเรื่องเรือสมัยใหม่ ซึ่งผู้คนในสมัยนั้นไม่มีใครเชื่อเลยว่าเหล็กจะลอยน้ำได้แต่พระองค์ได้ทรงแสดงพระปรีชาสามารถให้ปรากฏ ทรงต่อเรือรบ กลไฟขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย ทรงมีพระปรีชาสามารถหลายด้าน ทรงแตกฉานเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษจนสามารถติดต่อ กับชาวต่างประเทศได้เป็นอย่างดีพระสหาย และพระอาจารย์เป็นชาวอเมริกันเสียเป็นส่วนมากทรงหมกมุ่นกับกิจการทหารเรือมาตั้งแต่ต้น

 

ด้วยเหตุนี้จึงถือได้ว่าพระองค์ทรงเป็น ผู้บัญชาการ ทหารเรือ พระองค์แรก และควรถวายพระนามว่า ผู้บัญชาการทหารเรือวังหน้า สมควรได้รับการถวายพระเกียรติยศขั้นสูงสุด จากเราชาวกองทัพเรือ ตั้งแต่นี้และตลอดไป

 

          หลังจากพระราชพิธีบวรราชาภิเษกแล้ว พระองค์ก็เริ่มทรงพระประชวรบ่อยครั้ง หาสมุฏฐานของพระโรคไม่ได้ จนกระทั่งประชวรด้วยวัณโรคและเสด็จสวรรคตเมื่อวันอาทิตย์ เดือน 2 แรม 6 ค่ำ เวลาเช้าย่ำรุ่ง ตรงกับวันที่ 7 มกราคม 2408 สิริพระชนมายุ 58 พรรษา ทรงอยู่ในบวรราชสมบัติทั้งสิ้น 15 ปี มีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบวรศพเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2409 โดยมีการจัดการแห่พระเมรุมาศพระบวรศพเช่นเดียวกับพระศพสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ แต่เพิ่มเติมพระเกียรติยศพิเศษขึ้นหลายประการตามพระยศที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลหลายแหล่งกล่าวตรงกันว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระปรีชาสามารถมาก ทรงรอบรู้งานใน ด้านต่าง ๆ มากมาย เช่น งานด้านกองทัพบก กองทัพเรือ ด้านต่างประเทศ วิชาช่างจักรกล และวิชาการปืนใหญ่ ทรงรอบรู้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างดีจนสามารถที่จะทรงเขียนโต้ตอบจดหมายเป็นภาษาอังกฤษ กับ เซอร์ จอห์น เบาริง ราชทูตอังกฤษ ที่เดินทางมาเจริญพระราชไมตรีกับประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2398 (ค.ศ. 1855)

             ซึ่งข้อความในสนธิสัญญานั้น ถ้าเอ่ยถึง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะมีคำกำกับว่า The First King ส่วนพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวจะมีคำกำกับว่า The Second King สำหรับในภาษาไทยนั้น ตามสนธิสัญญา ทางไมตรีกับประเทศอังกฤษ ในบทภาค ภาษาไทยจะแปลคำว่า The First King ว่า พระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์เอก ส่วนคำว่า The Second King นั้นจะแปลว่า พระเจ้าประเทศสยามพระองค์ที่ 2 นั่นเอง

 *หลังจากที่ได้รับพระราชทานบวรราชาภิเษกเป็น “พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว” เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2394 ทรงมีศักดิ์สูงเสมอพระมหากษัตริย์เป็น “พระเจ้าประเทศสยามองค์ที่ 2” ได้ทรงย้ายมาประทับ ณ พระบวรราชวัง (ปัจจุบันคือบริเวณพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ) จนสิ้นพระชนม์ลงใน วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2408 ขณะที่ทรงมีพระชนมายุได้ 58 พรรษา

**ป้อมพิฆาตข้าศึก นี้ ตั้งอยู่ที่ปากคลองแม่กลองฝั่งตะวันออก ต่อจากวัดบ้านแหลมและสถานีรถไฟแม่กลอง ต่อมาในปี พุทธศักราช 2449 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทางราชการเห็นว่าป้อมให้ประโยชน์ในการป้องกันน้อยมาก เนื่องจากความก้าวหน้าทางอาวุธยุทโธปกรณ์ จึงได้รื้อป้อมพิฆาตข้าศึกและกำแพงลง จัดตั้งกองโรงเรียนพลทหารเรือที่ 1 ขึ้นแทน โดยโปรดให้นายพลเรือเอก พระมหาโยธา (ฉ่าง แสงชูโต) มาอำนวยการสร้าง กองโรงเรียนพลทหารเรือดังกล่าวนี้ใช้เป็นที่ฝึกอบรมทหารใหม่ที่เกณฑ์จากชายฉกรรจ์ในเมืองสมุทรสงคราม จำนวน 1 ปี แล้วส่งเข้าไปผลัดเปลี่ยนทหารเก่าในกรุงเทพฯ
ในเวลาต่อมาโรงเรียนพลทหารเรือที่ ๑​ ได้ยุบเลิก และกระทรวงทหารเรือในเวลานั้น ได้ยกได้ยกอาคารและที่ดินให้กระทรวงมหาดไทยสำหรับเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2468 เป็นต้นมา จนถึง พ.ศ. 2499 จึงได้ทำการปลูกสร้างศาลากลางจังหวัดใหม่ และโอนศาลากลางจังหวัดหลังเดิมให้กระทรวงสาธารณสุขใช้ในกิจการโรงพยาบาล เป็นที่ตั้งโรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาจนถึงปัจจุบัน  (ที่มา : พระบวรราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมราชวงศ์ ศิริชัย สายสนั่น วันที่ 8 มีนาคม 2516)  

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *