250ปี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกู้ชาติ

250ปี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกู้ชาติ

วันนี้เมื่อ 250 ปีที่แล้ว เป็นวันที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ไทยจดจำไว้ชั่วลูกชั่วหลานถึงพระมหากรุณาธิคุณ ของ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ต่อลูกหลานไทย ด้วยหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่2 เพียง 7 เดือน      พระเจ้าตากสินพร้อมเหล่าทหารกล้าสามารถกอบกู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนมาได้เมื่อวันศุกร์ เดือน 12 ขึ้น 15 ค่ำ จุลศักราช 1129 ปีกุน นพศก เวลาบ่ายโมงเศษ ซึ่งตรงกับวันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2310 เวลาประมาณ 13.00 น. ทรงขับไล่ข้าศึกผู้รุกรานออกจากแผ่นดิน ทรงปราบปรามผู้ก่อตั้งชุมนุมต่างๆ จนราบคาบ และรวบรวมประเทศชาติเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันส่งต่อให้ลูกหลาน จนไทยเป็นไทอยู่ได้ตราบจนทุกวันนี้

อยุธยา
“อาณาจักรอยุธยาเสียแก่พม่า” จิตรกรรมฝาผนังจัดแสดงในอาคารภาพปริทัศน์อนุสรณ์สถานแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร

หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยา(ครั้งที่ 2) แล้ว 2 เดือน หลังจากนั้นพระเจ้าตากสินได้เคลื่อนทัพไปยังเมืองตราดพวกกรมการและราษฎรเกิด ความเกรงกลัวต่างพากันมาอ่อนน้อมโดยดี ที่ปากน้ำเมืองตราดขณะนั้นมีเรือสำเภาจีน มาทอดทุ่นอยู่หลายลำพระเจ้าตากสินได้เรียกนายเรือมาพบแต่พวกจีนนายเรือขัดขืนต่อสู้พระเจ้าตากสินจึงนำกองเรือไปล้อมสำเภาจีนเหล่านั้นได้ต่อสู้กันอยู่ประมาณครึ่งวันพระเจ้าตากสินก็ยึดสำเภาจีนไว้ได้หมด

ตากสินมหาราช
“พระราชวังเดิมกรุงธนบุรี” ในจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดอัมพวันเจติยาราม จังหวัดสมุทรสงคราม ที่เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชประวัติรัชกาลที่ 2 ในยุคต้นรัตนโกสินทร์ เขียนแล้วเสร็จใน พ.ศ.2543

ต่อจากนั้นพระเจ้าตากสิน ได้เดินทางกลับจากตราดมาตั้งมั่นรวบรวมผู้คนอยู่ที่เมืองจันทบุรีเพื่อวางแผนปฏิบัติการรบเพื่อตีกรุงศรีอยุธยาคืนจากข้าศึก พร้อมกับสั่งให้ต่อเรือรบและรวบรวมเครื่องศัตราวุธและยุทธภัณฑ์ภายในเวลา 3 เดือน พร้อมกับฝึกไพร่พลให้พร้อมที่จะปฏิบัติการเมื่อสิ้นฤดูมรสุมในเดือน ตุลาคม พ.ศ.2310 พระเจ้าตากสินได้ยกกองทัพเรือจากจันทบุรีเข้ามาทางปากแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว เข้าโจมตีข้าศึกที่เมืองธนบุรี

ศาลพระเจ้าตาก ในพระราชวังเดิม (กรุงธนบุรี)

เมื่อพระเจ้าตากสินยึดเมืองธนบุรีและปราบนายทองอินได้แล้วจึงเคลื่อนทัพต่อไปที่กรุงศรีอยุธยาเข้ายึดค่ายโพธิ์สามต้น ปราบพม่าจนราบคาบ จึงสามารถกอบกู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนมา เมื่อวันศุกร์ เดือน 12 ขึ้น 15 ค่ำ จุลศักราช1129 ปีกุน นพศก เวลาบ่ายโมงเศษ ซึ่งตรงกับวันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2310 เวลาประมาณ 13.00 น. ใช้เวลา 7เดือนหลังจากคราวเสียกรุงศรีอยุธยา (ครั้งที่2) ขับไล่ข้าศึกผู้รุกรานออกจากแผ่นดิน รวมชาติรวมแผ่นดินส่งต่อลูกหลานมาถึงปัจจุบัน

ตากสินมหาราช
“สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพระราชทานข้าวสารแก่ข้าราชการ และทรงแจกจ่ายทานแก่ราษฎรยากไร้” ภาพจิตรกรรมจัดแสดงภายในตำหนักเก๋งคู่ พระราชวังเดิม

พระราชประวัติย่อ

พระเจ้าตากสินทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี และปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2311 ทรงพระนามว่า “สมเด็จพระบรมราชาที่ 4” แต่ประชาชนนิยมเรียกพระนามว่า “พระเจ้าตากสิน” จากนั้นทรงยกกองทัพไปปราบปรามก๊กต่างๆ จนราบคาบ ทรงใช้เวลารวบรวมอาณาเขตอยู่ 3 ปี คือตั้งแต่ พ.ศ. 2311 – พ.ศ. 2313 จนกอบกู้เอกราช รวมเป็นพระราชอาณาจักรเดียวดังเดิม

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงครองราชย์เป็นเวลา 15 ปี จึงทรงสวรรคตเมื่อ วันเสาร์ เดือน 5 แรม 9  ค่ำ จศ. 1144 ปีขาล ตรงกับวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 สิริพระชนมายุได้ 48 พรรษา พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถ กอบกู้ประเทศชาติให้เป็นเอกราชอิสรภาพตราบเท่าทุกวันนี้

ประชาราษร์ผู้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ยกย่องถวายพระเกียรติพระองค์ท่านว่า “มหาราช”  เพื่อน้อมรำลึกในพระเกียรติประวัติ เกียรติยศและเกียรติคุณให้ปรากฏกับอนุชนรุ่นหลัง

ตากสินมหาราช
แสตมป์ที่ระลึกครบรอบวาระ 250 ปี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกอบกู้อิสรภาพ

 

 

บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ร่วมบันทึกประวัติศาสตร์หน้าสำคัญ เปิดตัวแสตมป์ที่ระลึก  เนื่องในวาระอันสำคัญยิ่งที่ได้เวียนมาบรรจบครบรอบ นั่นคือครบรอบวาระ 250 ปี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกอบกู้อิสรภาพ พระราชทานชาติไทยเมื่อ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2310 โดย จะนำออกจำหน่ายพร้อมกัน ณ ที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศในวันนี้ ( 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2560) ซึ่งถือเป็นวันชนะศึก 250 ปี

 

 

อ้างอิง

การกอบกู้เอกราชของพระเจ้าตาก.  (2556) จาก  http://pojjamansk.exteen.com/20091222/entry-8
การปราบชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก.  (2556) จาก http://th.wikipedia.org/wiki/
การรบที่บางกุ้ง. (2310) จาก http://th.wikipedia.org
การรวมตัวกันเป็นชุมนุมต่างๆ.  (2556) จาก   https://sites.google.com/
การรบพม่าที่บางกุ้ง.  (2310) จาก   http://th.wikipedia.org
ตีค่ายนายทองอินที่เมืองธนบุรี.   (2310) จาก :  http://allknowledges.tripod.com
ตีค่ายโพธิ์สามต้น.  (2556) จาก  http://www.gotoknow.org
เบื้องลึกการขยายอำนาจของ “รัฐสยาม” ในสมัยธนบุรี และต้นรัตนโกสินทร์. มติชน. 8 กุมภาพันธ์ 2560
สูญสิ้นเมืองอโยธยา. (2556)จาก  http://th.wikipedia.org

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *