เรือดำน้ำไทยในอดีต

เรือดำน้ำไทยในอดีต

“ถ้ากรุงสยามมีเรือดำน้ำ จะเปนเครื่องป้องกันสำคัญมากหรือจะนับว่าเปนเครื่องป้องกันอย่างดีที่สุดก็ว่าได้”

(๔ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๑วันเรือดำน้ำไทยครบรอบ๘๑ ปี)

เรือดำน้ำสินสมุทร ขณะลอยลำอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งพระนคร (ด้านตรงข้ามคือ วัดอรุณราชวราราม) ถ่ายภาพโดย อาจารย์ภิญโญ วัฒนายากร ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ในขณะที่ท่านเป็นนักเรียน โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน
พิธีปล่อยเรือหลวงสินสมุทร (HTMS Sinsamut) ลงน้ำ ที่อู่มิซูบิชิ เมืองโกเบ เมื่อ ๑๔ พ.ค.๒๔๘๐
อู่ Mitsubishi เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น
พิธีรับเรือหลวงมัจฉาณุ และเรือหลวงวิรุณ เมื่อ เดือนกันยายน ๒๔๘๐ ที่เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น

ประเทศไทยเคยมีเรือดำน้ำเข้าประจำการ เป็นชาติที่สองในเอเชีย เป็นชาติแรกในอาเซียน ประกอบด้วย เรือหลวงมัจฉาณุ เรือหลวงวิรุณ เรือหลวงสินสมุทร และเรือหลวงพลายชุมพล

ทั้งนี้ กองทัพเรือมีความพยายามที่จะจัดหาเรือดำน้ำมาประจำการมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานมาแล้ว เริ่มตั้งแต่ครั้งที่พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ องค์บิดาแห่งทหารเรือไทย เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็น นายพลเรือตรี พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ได้จัดทำโครงการจัดสร้างกำลังทางเรือ พ.ศ. ๒๔๕๓ ถวายสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิจ เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ ซึ่งได้นำทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ร.ศ. ๑๒๙ (พ.ศ.๒๔๕๓) โดยในรายงานได้เสนอความต้องการ เรือ ส. หรือเรือดำน้ำ จำนวน ๖ ลำ แต่ เนื่องจากว่าสภาวะเศรษฐกิจของไทย หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ ไม่เอื้ออำนวยให้กองทัพเรือจัดซื้อหรือสร้างเรือดำน้ำมาไว้ใช้ในราชการได้ โครงการดังกล่าวจึงต้องระงับไป
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ความฝันของกองทัพเรือที่จะได้มีเรือดำน้ำไว้ใช้ในราชการจึงเป็นจริง สภาผู้แทนราษฎรขณะนั้นได้อนุมัติพระราชบัญญัติบำรุงกำลังทางเรือ พ.ศ. ๒๔๗๘ โดยในพระราชบัญญัตินี้ ได้กำหนดให้กองทัพเรือต่อเรือดำน้ำจำนวน ๖ ลำ โดยในที่สุดแล้วไทยได้ทำสัญญาว่าจ้างต่อเรือกับ บริษัท มิตซูบิชิ ประเทศญี่ปุ่นให้ต่อเรือดำน้ำ ขนาด ๓๗๐ ตัน จำนวน ๔ ลำ เป็นเงินลำละ ๘๒๐,๐๐๐ บาท และได้รับพระราชทานชื่อในภายหลังว่า ร.ล.มัจฉาณุ (หมายเลข ๑)  ร.ล.วิรุณ (หมายเลข ๒)  ร.ล.สินสมุทร (หมายเลข ๓) และ ร.ล.พลายชุมพล (หมายเลข ๔) เป็นประเภทเรือดำน้ำรักษาฝั่ง ขนาดเล็ก (ระวางขับน้ำต่ำกว่า ๕๐๐ ตัน) ทั้งหมด

ร.ล.มัจฉาณุ และ ร.ล.วิรุณ ขึ้นประจำการในวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๐ โดยมี พระมิตรกรรมรักษา อัครราชทูตไทยในขณะนั้น เป็นประธานในพิธีปล่อยเรือทั้ง ๒ ลำ

นับเป็นเรือดำน้ำคู่แรกของกองทัพเรืออย่างเป็นทางการ ทำให้ไทยเป็นชาติที่สองในเอเชีย   ถัดจากญี่ปุ่นที่มีเรือดำน้ำประจำการ นำมาซึ่งความภาคภูมิใจในศักยภาพและเกียรติภูมิของทหารเรือไทย  บรรลุตามพระดำริ และวิสัยทัศน์แห่งองค์บิดาของทหารเรือไทย ที่เล็งเห็นความสำคัญของเรือดำน้ำ ตามความที่ปรากฎในรายงานที่ทรงระบุไว้ เมื่อ ๒ มี.ค. ๒๔๖๒ ตอนหนึ่งว่า            

“… ถ้ากรุงสยามมีเรือดำน้ำ จะเป็นเครื่องป้องกันสำคัญมาก หรือจะนับเป็นเครื่องป้องกันอย่างดีที่สุดก็ว่าได้ …”

 

กองทัพเรือ จึงได้ถือเอาวันที่ ๔ กันยายนของทุกปี เป็น “วันที่ระลึกเรือดำน้ำไทย” ต่อมาจนถึงทุกวันนี้

ต่อมาในวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๔๘๑ บริษัทมิตซูบิชิ ได้ทำพิธีส่งมอบเรือดำน้ำที่เหลืออีก ๒ ลำ คือ เรือหลวง     สินสมุทร และ เรือหลวงพลายชุมพล ให้แก่ กองทัพเรือไทย

นาวิกศาสตร์

ชื่อของเรือดำน้ำทั้ง ๔ ลำ เรือหลวงวิรุณ เรือหลวงสินสมุทร และเรือหลวงพลายชุมพล ล้วนเป็นชื่อพระราชทาน จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๐

เมื่อกองทัพเรือได้รับมอบเรือดำน้ำครบทั้ง ๔ ลำแล้ว  จึงได้เริ่มฝึกศึกษาตามหลักสูตรทางวิชาการของเรือดำน้ำเพิ่มเติมจนคล่องแคล่ว และออกเดินทางจากเมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๑ ระหว่างการเดินทางยังได้พบเรือหลวงสีชัง ช่วยส่งเสบียง และแวะจอดที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ก่อนที่จะเดินทางฝ่าคลื่นลมมาถึงฐานทัพเรือสัตหีบ ในวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๔๘๑ ตามลำพังโดยไม่มีเรือพี่เลี้ยงรวมระยะทางทั้งสิ้น ๓,๐๐๐ ไมล์ ใช้เวลาเดินเรือและแวะเมืองท่ารวม ๒๔ วัน เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทยแล้ว เรือดำน้ำทั้ง ๔ ลำ ก็ได้ทำการออกฝึกอย่างต่อเนื่อง

 

กำลังพลรับเรือดำน้ำ ทั้ง ๔ ลำ ประกอบไปด้วย นายทหารสัญญาบัตร ๒๐ นาย นายทหารประทวน ๑๓๔ นาย โดยมีรายนามผู้บังคับการเรือ ดังนี้
*นาวาตรี ซุ้ย (กนก) นพคุณ เป็น ผู้บังคับการเรือหลวงมัจฉานุ
*เรือเอก พร เดชดำรง เป็น ผู้บังคับการเรือหลวงวิรุณ
*เรือเอก สาคร จันทร์ประสิทธิ์ เป็น ผู้บังคับการเรือหลวงพลายชุมพล
*เรือเอก สนอง ธนศักดิ์ เป็น ผู้บังคับการเรือหลวงสินสมุทร

ความเป็นมาของชื่อเรือดำน้ำทั้ง ๔ ลำ

เรือหลวงมัจฉาณุ (HTMS Matchanu) หมายเลขเรือ ๑ เป็นชื่อพระราชทาน มาจากชื่อตัวละครในวรรณคดีไทยซึ่งมีอิทธิฤทธิ์ในการดำน้ำ คือ มัจฉานุ จากเรื่องรามเกียรติ์ มี เรือเอก ซุ้ย (กนก) นพคุณ เป็นผู้บังคับการเรือ วางกระดูกงูเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ปล่อยลงน้ำเมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๙

 

เรือหลวงวิรุณ (HTMS Wirun) หมายเลขเรือ ๒ เป็นชื่อพระราชทาน มาจากชื่อตัวละครในวรรณคดีไทยซึ่งมีอิทธิฤทธิ์ในการดำน้ำ คือ วิรุณจำบัง จากเรื่องรามเกียรติ์ มี เรือเอก พร เดชดำรง เป็นผู้บังคับการเรือ. วางกระดูกงูเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๗๙ ปล่อยลงน้ำเมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๙

 

 

เรือหลวงสินสมุทร (HTMS Sinsamut) หมายเลขเรือ๓ เป็นชื่อพระราชทาน มาจากชื่อตัวละครในวรรณคดีไทยซึ่งมีอิทธิฤทธิ์ในการดำน้ำ คือ สินสมุทร จากเรื่องพระอภัยมณี มี เรือเอก สนอง ธนาคม เป็นผู้บังคับการเรือ วางกระดูกงูเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๗๙ ปล่อยลงน้ำเมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๐

 

 

เรือหลวงพลายชุมพล (HTMS Phlai-chumphon) หมายเลขเรือ ๔ เป็นชื่อพระราชทานมาจากชื่อตัวละครในวรรณคดีไทยซึ่งมีอิทธิฤทธิ์ในการดำน้ำ คือ พลายชุมพล จากเรื่องขุนช้างขุนแผน มี เรือเอก สาคร จันทประสิทธิ์ เป็นผู้บังคับการเรือ วางกระดูกงูเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๗๙ ปล่อยลงน้ำเมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๐

 

 

ชมคลิปการเดินทางออกจากเมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่นของเรือดำน้ำไทยทั้งสี่ลำ   https://youtu.be/BmCgILLjCwE เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ถึงกรุงเทพเมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑เข้าประจำการเมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ได้ออกปฏิบัติการในสงครามอินโดจีนกับฝรั่งเศส และสงครามโลกครั้งที่สอง

 

การฝึกของเรือดำน้ำทั้งสี่ลำในไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๔ มีการฝึก ๒ ครั้ง
ครั้งที่๑ ออกเรือไปฝึกวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๔ มีกำหนดการฝึก ๑๕ วัน ทำการฝึกบริเวณสนามฝึกสัตหีบ มีเรือดำน้ำออกฝึกทั้ง ๔ ลำ เรือหลวงพงัน เป็นเรือพี่เลี้ยง
ครั้งที่๒ ออกฝึก ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๔ ระยะเวลา ๑๕ วัน สนามฝึกสัตหีบ มีเรือดำน้ำออกฝึก ๒ ลำ คือ เรือหลวงสินสมุทร และ เรือหลวงพลายชุมพล มีเรือหลวงพงัน เป็นเรือพี่เลี้ยง

การปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างสงครามอินโดจีน

วีรประวัติของเรือดำน้ำชุดเรือหลวงมัจฉาณุ ได้สร้างวีรกรรมครั้งสำคัญให้ต้องเป็นที่จดจำต่อภารกิจในการช่วยปกป้องรักษา อธิปไตยของชาติ จากการถูกรุกรานของฝรั่งเศส ในกรณีพิพาทอินโดจีน กล่าวคือ ภายหลังฝรั่งเศสพ่ายแพ้ต่อนาซีเยอรมัน เมื่อต้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ ไทยได้เรียกร้องต่อฝรั่งเศสขอดินแดนที่ถูกยึดกลับคืน ทำให้ถูกตอบกลับด้วยการโจมตีทางอากาศที่จังหวัดนครพนม ไทยจึงส่งกำลังพลทางบก และอากาศ เข้ายึด และโจมตีที่มั่นสำคัญของกำลังพลฝรั่งเศสในลาว และกัมพูชา

ส่วนทางทะเลนั้น ฝรั่งเศสได้ส่งกำลังพลทางเรือจากฐานทัพเรือเรียม เข้าลิดรอนทำลายกำลังทางเรือของไทย เกิดเป็นยุทธนาวีเกาะช้าง เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๔๘๔

ต่อมาหลังจาก เรือหลวงธนบุรี และเรือตอร์ปิโดถูกเรือรบฝรั่งเศสยิงจมแล้ว เรือดำน้ำทั้ง ๔ ลำ ได้ไปลาดตระเวนเป็น ๔ แนว อยู่บริเวณหน้าฐานทัพเรือเรียมของอินโดจีนฝรั่งเศส ใช้เวลาอยู่ใต้น้ำทั้งสิ้นลำละ ๑๒ ชั่วโมงขึ้นไป คือระหว่าง ๐๖.๐๐ – ๑๘.๐๐ น. กลางคืนแล่นลาดตระเวนบนผิวน้ำ นับเป็นปฏิบัติการดำที่นานที่สุดนับแต่เริ่มตั้งหมวดเรือดำน้ำมา ซึ่งยังปรากฏจากหลักฐานของฝ่ายฝรั่งเศสในการรบที่เกาะช้างว่า ฝรั่งเศสมีความหวั่นเกรงเรือดำน้ำทั้ง ๔ ลำของไทยมาก จึงเดินเรือเลาะมาตามชายฝั่งของเวียดนาม และกัมพูชาเพื่อลดความเสี่ยงที่จะปะทะกับเรือดำน้ำไทย และภายหลังการปะทะกับกำลังทางเรือของไทยก็ต้องรีบเดินทางกลับ เพราะเกรงว่าเรือดำน้ำของไทยอยู่ในพื้นที่ปฏิบัติการ ทำให้ภารกิจในการควบคุมทางทะเลด้านตะวันออกของอ่าวไทยไม่บรรลุผล

นอกจากนี้เรือรบของฝรั่งเศสยังถูกเรือดำน้ำของไทยติดตามไปจนถึงฐานทัพเรือเรียม จากนั้นมาก็ไม่ปรากฏเรือรบของฝรั่งเศสออกมาปฏิบัติการอีกเลย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพการป้องปรามของเรือดำน้ำที่แม้ไม่ปรากฏตัวให้เห็น แต่มีผลคุกคามต่อข้าศึกได้ทุกพื้นที่

 

การปฏิบัติหน้าที่ในสมัยสงครามโลกครั้งที่๒ ช่วงปลายสงคราม ฝ่ายสัมพันธมิตรเอาเครื่องบิน B24 B29 มาทิ้งระเบิดโจมตีกรุงเทพฯ และชานเมือง ยิ่งกว่านั้นยังโปรยทุ่นระเบิดแม่เหล็กปิดเส้นทางเดินเรือตรงปากน้ำสันดอนเอาไว้ทำให้เรือรบทุกลำแม้กระทั่งเรือสินค้าต้องหยุดนิ่งทันที เรือหลวงพลายชุมพล และ เรือหลวงสินสมุทร ออกปฏิบัติราชการและจะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ อยู่แล้ว จึงต้องแวะที่เกาะสีชังไปก่อน จนกว่าจะทำการกวาดทุ่นระเบิดแม่เหล็กเสร็จเรียบร้อย

เรือดำน้ำจ่ายกระแสไฟฟ้าให้รถรางสายหลักเมือง-ถนนตก
ต่อมาเมื่อโรงไฟฟ้าสามเสนและวัดเลียบที่จ่ายกระแสไฟฟ้าประจำวันถูกระเบิดเรียบ กรุงเทพฯ ยามราตรีมีแต่ความมืดมาครอบงำราวกับเมืองร้าง เนื่องจากชาวกรุงอพยพไปหมด แต่ผู้จัดการไฟฟ้ากรุงเทพฯ ทราบว่า เรือดำน้ำจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ จึงขอร้องมายังกองทัพเรือ แล้วอนุมัติให้ เรือหลวงมัจฉาณุ กับเรือหลวงวิรุณ ไปเทียบท่าบริษัทบางกอกด็อก (บริษัทอู่กรุงเทพปัจจุบัน) เมื่อเรือดำน้ำทั้งสองลำจ่ายกระแสไฟฟ้าทำให้รถรางสายหลักเมือง-ถนนตกวิ่งได้ ยังความประหลาดใจแก่ชาวบ้านเป็นอันมาก ขณะที่เรือดำน้ำทั้งสองจ่ายกระแสไฟฟ้าอยู่นั้นทหารบนเรือต้องทำงานเสี่ยงอันตรายอย่างหนัก และคอยหลบภัยทางอากาศอยู่ตลอดเวลา กล่าวได้ว่าเรือดำน้ำทั้งสี่ลำนี้ได้รับใช้ชาติอย่างสมบูรณ์ในเหตุการณ์กรณีพิพาทกับฝรั่งเศส และในสงครามมหาเอเชียบูรพา จนสงครามสงบ

ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่๒

เรือดำน้ำทั้งหมดได้ปลดระวางประจำการพร้อมกันเมื่อ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๔ รวมเวลารับใช้กองทัพเรือเป็นเวลา ๑๒ ปีเศษ เรือดำน้ำเหล่านี้เริ่มชำรุดทรุดโทรมไปตามอายุขัย ขาดแคลนชิ้นส่วนที่จะใช้ในการซ่อม   การสั่งซื้อจากผู้สร้างไม่อาจทำได้ เพราะญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงครามและถูกยึดครอง ถูกห้ามไม่ให้ผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ และโรงงานแบตเตอรีของไทยที่ตั้งขึ้นก็ไม่สามารถผลิตแบตเตอรีสำหรับใช้ประจำเรือได้ ในครั้งนั้นกองทัพเรือได้พยายามหาทางที่จะซ่อมแซมเรือเหล่านี้ให้ใช้การได้อยู่หลายปีแต่ก็ไม่บรรลุผลสำเร็จ จึงรุขายไปในที่สุด ทั้งๆ ที่กองทัพเรือและทหารเรือมีความเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ประกอบกับเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๔ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างขนาดใหญ่ในกองทัพเรือ มีคำสั่งยุบหมวดเรือดำน้ำ โอนย้ายไปรวมกับหมวดเรือตรวจฝั่งที่ตั้งขึ้น

 

 

 

 

ภายหลังปลดประจำการ เรือทั้งสี่ลำได้นำมาจอดเทียบกันที่ท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้กับโรงพยาบาลศิริราช ต่อมาได้ขายเรือให้กับบริษัทปูนซีเมนต์ไทย เพื่อทำการศึกษาและ Reverse engineering

สะพานเดินเรือ (ดำน้ำ) จำลอง จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ จ.สมุทรปราการ

 

คงเหลือแต่หอบังคับการ อาวุธปืน และกล้องส่อง ทางกองทัพเรือได้นำมาจัดสร้างสะพานเรือจำลอง จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ  และที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า จังหวัดสมุทรปราการ

 

 

 

แนวคิดที่จะมีเรือดำน้ำ

หลังจากได้รับความเจ็บแค้นจากชาติผู้รุกรานที่ใช้กองเรือใหญ่ เข้าคุกคามพระนคร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้พระราชโอรส ซึ่งต่อมาได้เป็นพระบุพการีของกองทัพเรือ หลายพระองค์ เสด็จไปทรงศึกษาวิชาการทหารเรือและการทหารจากต่างประเทศ เมื่อเสด็จกลับมารับราชการ ทุกพระองค์ได้ทรงเสนอแนวความคิด ทรงดำเนินการในการพัฒนาและปรับปรุงขีดความสามารถในการรบทางเรือของประเทศไทย เพื่อมิให้ประวัติศาสตร์อันเจ็บช้ำ ซ้ำรอยอีก

ทั้งนี้ แนวความคิดในการใช้เรือดำน้ำของ ทร.ไทย ที่ปรากฏหลักฐานเป็นครั้งแรกนั้น เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๓ หรือ ๑๐๑ ปีมาแล้ว โดย เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ สมัยนั้นคือ จอมพลเรือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์พินิจ ได้ทรงนำเอกสาร “โครงการจัดกำลังทางเรือ” ซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมการ ที่มี นายพลเรือตรี พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เป็นประธาน ขึ้นทูลเกล้าถวาย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

สาระสำคัญของเอกสาร คือ “มีความต้องการเรือดำน้ำ ๖ ลำ โดยมีแนวความคิดที่จะใช้ทำลายเรือใหญ่ของข้าศึก โดยวิธีดำใต้น้ำ หลบหลีก การตรวจจับ เข้าใช้ตอร์ปิโด” และ อีก ๕ ปีต่อมา หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายเรือเยอรมัน นายเรือโท สมเด็จเจ้าฟ้า กรมขุนสงขลานครินทร์ ได้ทรงจัดทำรายงาน เรื่อง “ความเห็นเกี่ยวกับเรือ ส.” (มาจากคำว่าสับมารีน) ถวายต่อ นายพลเรือโท พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสิงหวิศมเกรียงไกร เสนาธิการทหารเรือ เอกสารนี้เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับ โครงการจัดหาเรือดำน้ำ ซึ่งประกอบด้วย คุณลักษณะเฉพาะที่ต้องการของฝ่ายเสนาธิการ แนวความคิดในการใช้ฐานทัพและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ต้องการ การบริหารกำลังพล (อัตรา, การเตรียมกำลัง, การฝึกหัดศึกษา, การปกครองบังคับบัญชา, การสวัสดิการ) วิธีจัดหาและงบประมาณที่ใช้

ทั้งนี้ นายเรือโท สมเด็จเจ้าฟ้า กรมขุนสงขลานครินทร์ทรงมีแนวความคิดที่จะใช้เรือดำน้ำ ปฏิบัติการร่วมกับเรือผิวน้ำ ในการป้องกันพระนคร และควบคุมทะเลในอ่าวไทย โดยใช้เรือดำน้ำขนาดประมาณ ๒๐๐ ตัน ในเขตชั้นใน ตั้งแต่แนวเกาะจวง – ประจวบคีรีขันธ์ เข้ามา และขนาดประมาณ ๑,๐๐๐ ตัน ชั้นนอกอ่าวไทย ตั้งแต่บริเวณเกาะสมุยจนถึงสิงคโปร์ พระองค์ท่านทรงให้ความเห็นว่า เรือดำน้ำเป็นอาวุธป้องปรามที่ดี การส่งกองเรือปืนขนาดใหญ่ เข้ามาคุกคามพระนคร กรณี ร.ศ.๑๑๒ ข้าศึกคงจะไม่กล้ากระทำอีก เพราะเรือใหญ่จะเป็นเป้าอย่างดีของเรือดำน้ำ หากข้าศึกคิดจะคุกคาม พระนครอีก จะต้องส่งเรือขนาดเล็กหลายลำมาแทน จะเป็นการยากต่อการส่งกำลังบำรุง และต้องมีการป้องกันอย่างดีตลอดเวลา เพิ่มความตรากตรำแก่กำลังพล อีกทั้งการบีบบังคับให้ข้าศึกใช้เรือขนาดเล็ก จะทำให้ เรือผิวน้ำฝ่ายเราไม่เสียเปรียบในการยุทธ์

นอกจาก “ความเห็นเกี่ยวกับเรือ ส.นายเรือโท สมเด็จเจ้าฟ้า กรมขุนสงขลานครินทร์ ยังได้ทรงร่าง “โครงสร้างกองเรือรบ” (กองเรือรบ ต่อมาได้เป็นกองเรือยุทธการในปัจจุบัน) โดยประกอบกำลังด้วย เรือปืนหุ้มเกราะ เรือลาดตระเวนตอร์ปิโด เรือตอร์ปิโดใหญ่ เรือตอร์ปิโดเล็ก เรือทุ่นระเบิด เรือที่ใช้เป็น เรือธงของผู้บังคับบัญชา และเรือดำน้ำ

โดยกำลังทางเรือเหล่านี้จะถูกส่งไปประจำสถานีทหารเรือต่าง ๆ ซึ่งพระองค์ท่านทรงกำหนดให้มี ๔ แห่ง คือ สถานีทหารเรือบริเวณปากน้ำ – กรุงเทพ สถานีทหารเรือเกาะสีชัง สถานีทหารเรือสงขลา และ สถานีทหารเรือภูเก็ต โดยสถานีทหารเรือแต่ละแห่ง จะประกอบด้วย ท่าเทียบ/สถานที่จอดเรือ อู่ซ่อม โรงงาน สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ระบบการรักษาความปลอดภัย และที่พักอาศัย

เนื่องจากยุคนั้นอยู่ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ ฐานะการเงินการคลังของประเทศไม่ดีนัก โครงการและแนวความคิดต่าง ๆ ของ ทร. จึงไม่ได้รับการพิจารณาให้ดำเนินการ แต่เรือดำน้ำได้เป็นที่สนพระราชหฤทัยของ

นายนาวาตรี หลวงหาญกลางสมุทร

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) และของประชาชนมาก พระองค์ท่านได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละคร เรื่อง “เรือใต้น้ำหลวงนนทรี” (รตล.นนทรี) แสดงถึงความกล้าหาญ และความยากลำบากในการปฏิบัติการของกำลังพลเรือดำน้ำ เป็นที่ชื่นชอบของประชาชน ตลอดจนได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้กระทรวงต่างประเทศ ประสานกับรัฐบาลอังกฤษ ในการส่งนายทหารเรือไปรับการฝึกหัด ศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ ซึ่งได้มีการดำเนินการเป็นที่เรียบร้อย ซึ่ง “กำลังพลเรือดำน้ำ” คนแรกของ ทร.ไทย คือ นายนาวาตรี หลวงหาญกลางสมุทร

 

 

***อัพเดทข้อมูล ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๑

บรรณานุกรม

๑. บทสัมภาษณ์ พล.ร.ต.สุริยะ พรสุริยะ ผู้บัญชาการกองเรือดำน้ำ เนื่องในวันเรือดำน้ำ 4 กันยายน 2554

๒. หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือเอกสนอง ธนะศักดิ์ (อดีตผู้บังคับการเรือหลวงสินสมุทร)
พลเรือเอก ศุภกร บูรณดิลก. นาวิกศาสตร์. กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๔

ขอบคุณภาพบางส่วนจาก เพจ ห้องวิจัยประวัติศาสตร์

 

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *