๒๕๐ ปี สมเด็จพระเจ้าตากสินกู้เอกราช

วันที่ ๒๘ ธันวาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันปราบดาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ด้วยพระปรีชาสามารถที่ทรงใช้เวลาเพียง ๗ เดือนกอบกู้เอกราชหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่๒  เมื่อขับไล่ข้าศึกออกจากแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาได้ ยังทรงปราบปรามผู้ก่อตั้งชุมนุมต่างๆ จนราบคาบ แล้วปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๑๑ ทรงพระนามว่า“สมเด็จพระบรมราชาที่ ๔” แต่ประชาชนนิยมขานพระนามว่า “พระเจ้าตากสิน

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ทางรัฐบาลอีกทั้งปวงประชาราษฎรทั้งหลายจึงพากันถวายพระเกียรติ ประกาศให้วันที่ ๒๘ ธันวาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันปราบดาภิเษกของพระองค์ ให้เป็นวัน “วันสมเด็จพระเจ้าตากสิน” และถวายพระราชสมัญญานามว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ด้วยความน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงรวบรวมประเทศชาติเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันส่งต่อให้ลูกหลาน จนไทยเป็นไทอยู่ได้ตราบจนทุกวันนี้

 

ภาพจิตรกรรมฝาผนัง : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพระผู้กู้ชาติ ณ ท้องพระโรงกรุงธนบุรี เมืองโบราณ. โดย น. ณ ปากน้ำ

เมื่อ ๒๕๐ ปีที่แล้ว หลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ (เมื่อวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ.๒๓๑๐) เพียง ๗ เดือน สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพร้อมเหล่าทหารกล้าสามารถกอบกู้เอกราชกลับคืนมาได้สำเร็จ โดยทรงสร้างกองทัพเรือเพื่อการนี้ ประกอบด้วยเรือรบประมาณ ๑๐๐ ลำ มีกำลังพลประมาณ ๕,๐๐๐ นาย ซึ่งทรงใช้เวลาสร้างกองเรือและรวบรวมกำลังพลเพียง ๓ เดือน ยาตราทัพเรือทางทะเลจากเมืองจันทบุรีเลียบชายฝั่งทะเลเข้าปากน้ำเมืองสมุทรปราการ เข้าตีเมืองธนบุรีที่มีพม่ายึดครองอยู่แตกพ่ายหนีขึ้นไปโพธิ์สามต้นกรุงเก่า จนยึดกรุงศรีอยุธยาคืนได้สำเร็จ ในปี พ.ศ.๒๓๑๐ สามารถขับไล่ข้าศึกผู้รุกรานออกจากแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา ถือเป็นการกู้เอกราชด้วยกำลังทางเรือเป็นหลักที่มีสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเป็นแม่ทัพเรือ

จิตรกรรมฝาผนังแสดงเหตุการณ์ในคราวเสียกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าตากกับทหารได้ฝ่าวงล้อมของพม่าออกจากกรุงศรีอยุธยา ภาพนี้จัดแสดงในอาคารภาพปริทัศน์ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ จ.ปทุมธานี

การกู้เอกราชโดยทัพเรือในครั้งนั้นทำให้คนไทยได้รับอิสรภาพ มีผืนแผ่นดินอันอุดมสมบูรณ์และร่มเย็นเป็นสุข สืบมาจนถึงทุกวันนี้ จึงนับเป็นเกียรติประวัติอันยิ่งใหญ่ที่บรรพบุรุษทหารเรือได้สร้างเกียรติประวัติไว้ซึ่งทหารเรือทุกคนควรระลึกถึงด้วยความภาคภูมิใจ

จิตกรรมฝาผนัง : กองทัพไทยภายใต้การนำของวีรบุรุษ พระยาตากสินผู้รวบรวมไพร่พลจากดินแดนภาคตะวันออกทั้งทางลำน้ำเจ้าพระยา และทางบกมุ่งสู่ค่ายโพธิ์สามต้นด้วยจิตใจฮึกเหิมในการศึก หวังจะพาเผด็จดัสกรที่มาครอบงำกดขี่อยู่ให้พ้นสิ้นไปจากดินแดนสยามประเทศ โดย
น. ณ ปากน้ำ. จิตรกรรมเล่าเรื่อง : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพระผู้กู้ชาติ ณ ท้องพระโรงกรุงธนบุรี เมืองโบราณ.

หลังกอบกู้เอกราช สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงใช้เวลารวบรวมอาณาจักรอยู่ ๓ ปี คือตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๑๑ – พ.ศ. ๒๓๑๓ จนสามารถรวมเป็นพระราชอาณาจักรเดียวดังเดิม สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงครองราชย์เป็นเวลา ๑๕ ปี จึงเสด็จสวรรคตเมื่อ วันเสาร์ เดือน ๕ แรม ๙ ค่ำ จศ.๑๑๔๔  ปีขาล ตรงกับวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ สิริพระชนมายุได้ ๔๘ พรรษา

แผนที่กรุงธนบุรี
“พระราชวังเดิมกรุงธนบุรี” จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดอัมพวันเจติยาราม จังหวัดสมุทรสงคราม

สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงทรงเลือกกรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวงเนื่องจากในครั้งนั้นกรุงศรีอยุธยาเสียหายมากจนไม่สามารถจะบูรณะปฏิสังขรณ์ให้ดีเหมือนเดิมได้ และกรุงธนบุรีมีเหมาะสมทั้งขนาดของเมืองที่ง่ายต่อการดูแลรักษา มีป้อมปราการที่สร้างไว้ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาหลงเหลืออยู่ ซึ่งพอจะใช้เป็นเครื่องป้องกันเมืองได้ และมีชัยภูมิที่ตั้งเหมาะสมด้วยอยู่ใกล้ทะเล หากเกิดมีศึกมาแล้วตั้งรับไม่ไหวก็สามารถหลบหนีไปตั้งมั่นทางเรือได้  จึงทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี พระราชทานนามว่า “กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร” เมื่อจุลศักราช ๑๑๓๐ นับเป็นราชธานีแห่งที่ ๓ ถัดจากกรุงสุโขทัย และกรุงศรีอยุธยา และโปรดเกล้าฯให้สร้างพระราชวังหลวง ขึ้นทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่ที่เคยเป็นที่ตั้งของป้อมวิไชยเยนทร์เดิม (ซึ่งภายหลังได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็นป้อมวิไชยประสิทธิ์) ภายหลังเรียกขานกันว่า พระราชวังเดิม อาณาเขตของพระราชวังเดิมในสมัยนั้นมีพื้นที่ตั้งแต่ป้อมวิไชยประสิทธิ์ขึ้นมาจนถึงคลองเหนือวัดอรุณราชวราราม (คลองนครบาล) โดยรวมวัดแจ้ง(วัดอรุณราชวราราม) และวัดท้ายตลาด(วัดโมลีโลกยาราม) เข้าไปในเขตพระราชวัง

พระราชวังเดิม ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการกองทัพเรือ

อ้างอิง
ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ทหารเรือ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ นาวิกศาสตร์ ปีที่ ๙๗ เล่มที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๗
สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 สุเนตร ชุตินธรานนท์ ศึกษาจากพงศาวดารพม่าฉบับราชวงศ์คองบอง,)
กองทัพเรือน้อมรำลึกสดุดีสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช. ผู้จัดการออนไลน์. 28 ธันวาคม 2549
กำพล จำปาพันธ์. พระยาตากสินจากหลักฐานฮอลันดา. ศิลปวัฒนธรรม. พฤศจิกายน ๒๕๖๐

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *