๒๐ พฤศจิกายน วันกองทัพเรือ

เรียบเรียงโดย เนวี่24

๒๐ พฤศจิกายน วันกองทัพเรือ น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทั้งนี้ กองทัพเรือ ได้ถือวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ เสด็จมาเปิดโรงเรียนนายเรือที่พระราชวังเดิม (ธนบุรี) เพื่อเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนากำลังพลของกองทัพเรือ เป็น “วันกองทัพเรือ

โรงเรียนนายเรือ พระราชวังเดิม (ธนบุรี)

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 5 เป็นยุคที่ประเทศมหาอำนาจตะวันตก ล่าอาณานิคมโดยมีเป้าหมายที่ประเทศในแถบเอเชียซึ่งมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ ด้วยพระวิจารณญาณและพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพัฒนาประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศ โดยส่งพระราชโอรสหลายพระองค์ไปศึกษาในยุโรป ซึ่งได้ทั้งวิชาความรู้และเป็นการเจริญวิเทโศบายเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศมหาอำนาจส่งผลให้ประเทศสยามในเวลานั้นรอดพ้นจากลัทธิล่าอาณานิคม

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการพัฒนากำลังทางเรือของไทย ให้มีขีดความสามารถในการปกป้องอธิปไตยทางทะเลมากยิ่งขึ้นจึงได้ส่งพระราชโอรสไปศึกษาวิชาการทหารเรือ ณ ประเทศอังกฤษ และประเทศเยอรมันนี และได้ทรงก่อตั้งโรงเรียนนายเรือขึ้น เพื่อเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนากำลังพลของกองทัพเรือต่อไป

ซ้าย พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (องค์พระบิดาของทหารเรือไทย) ขวา สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระปฐมบรมราชชนก (กรมขุนสงขลานครินทร์ : เจ้าฟ้าทหารเรือ)

โดยในวันอังคารที่ ๒๐ พฤศจิกายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๕ ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๔๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเสด็จมาเปิดโรงเรียนนายเรือที่พระราชวังเดิม ธนบุรี ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์วรพินิต ผู้บัญชาการทหารเรือ ในการพิธีวันนี้เองที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ลงลายพระราชหัตถเลขาในสมุดเยี่ยมโรงเรียนนายเรือเป็นข้อความประวัติศาสตร์ว่า

“ วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๕ เรา จุฬาลงกรณ์ ปร ได้มาเปิดโรง เรียนนี้ มีความปลื้มใจซึ่งได้เหนการทหารเรือมีรากหยั่งลงแล้ว จะเปนที่มั่นสืบไปในภายน่า”

เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เสด็จพระราชดำเนินเปิดโรงเรียนนายเรือ

จึงถือเป็นการเปิดหน้าประวัติศาสตร์

“การทหารเรือสยาม”

หยั่งรากแห่งเกียรติยศและภาระหน้าที่ของทหารเรือมาตั้งแต่นั้น

หมายเหตุ : การสะกดเป็นไปตามเอกสารเก่า

ข้อมูล
ราชนาวิกสภา
เว็บไซต์โรงเรียนนายเรือ

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *