๑๙ ธันวาคม วันประสูติ “องค์บิดาของทหารเรือไทย”

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ 

องค์บิดาของทหารเรือไทย

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ มี พระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ เป็นพระราชโอรสลำดับที่ ๒๘ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติเมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๒๓ พระมารดาคือเจ้าจอมมารดาโหมด  ธิดาของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) สมุหพระกลาโหมในราชการที่ ๕  ทรงเป็นพระราชโอรสรุ่นแรกที่เสด็จไปศึกษาวิชาการทหารเรือ ณ ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจที่มีกองทัพเรือแข็งแกร่งที่สุดในยุคนั้น

ทรงเครื่องแบบราชนาวีอังกฤษ

เนื่องด้วยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๕ พระบรมชนกนาถ เป็นยุคที่ประเทศมหาอำนาจตะวันตก เข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเต็มรูปแบบ มีความต้องการแรงงานและทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมหาศาล จึงพากันออกแสวงหาอาณานิคมมาทางเอเชียด้วยเห็นว่ามีแรงงานที่อ่อนแอและง่ายต่อการปกครอง ทั้งยังมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ด้วยพระวิจารณญาณและพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชวิเทโศบายสำคัญในการรักษาเอกราชของชาติ ส่งผลให้ประเทศสยามในเวลานั้นรอดพ้นจากลัทธิล่าอาณานิคม หนึ่งในพระราชวิเทโศบายนั้นคือการเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศมหาอำนาจโดยการส่งพระราชโอรสหลายพระองค์ไปศึกษาในยุโรป

ทรงเครื่องแบบนักเรียนทำการนายเรือ เมื่อมาเฝ้าสมเด็จพระชนกนาถ ที่เมือง เบงกอล พ.ศ.๒๔๔๐

เสด็จในกรมฯ นับเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์แรกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้เสด็จไปทรงศึกษาเกี่ยวกับวิชาการทหารเรือยังต่างประเทศ ทั้งนี้เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงมีพระราชดำริ “….กิจการทหารเรือไทยเท่าที่ได้เป็นอยู่ในขณะนั้น ต้องอาศัยชาวต่างประเทศเป็นผู้บังคับบัญชาการเรือ และป้อม อยู่เป็นอันมากจึงไม่สู้จะมีความมั่นคงเท่าใดนัก ดังจะเห็นได้จากเหตุกาณ์ ร.ศ.๑๑๒ (พ.ศ.๒๔๖๓) เป็นตัวอย่างอันฉะนั้น จึงนับว่าเป็นพระราชดำริที่เหมาะสม ในการส่งพระราชโอรสไปทรงศึกษาวิชาการทหารเรือในครั้งนี้…”

ซุ้มประตูโรงเรียนนายเรือแรกก่อตั้ง ณ พระราชวังเดิม

ภายหลังจากที่ เสด็จในกรมฯ ทรงสำเร็จการศึกษา และเข้ารับราชการทหารเรือแล้ว พระองค์ทรงเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นความสำคัญและโปรดเกล้าฯ พระราชทาน พระราชวังเดิม ให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ พระองค์ได้แก้ไขปรับปรุงระเบียบการในโรงเรียนนายเรือให้ทันสมัย เพื่อให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายเรือเป็นนายเรือที่มีความรู้ ความสามารถ เทียบได้กับ นายทหารเรือต่างประเทศ

ทรงฉายร่วมกับศิษย์ที่สำเร็จ การศึกษาจากโรงเรียนนายเรือ แถวนั่ง ๑. พลเรือโท พระยาราชวังสัน ๒. กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ๓. พลเรือตรี พระยาหาญกลางสมุทร แถวยืน ๑.เรือโทตรุส บุนนาค ๒. นายเรือตรี  ผู้ช่วย นายแนบ

พระองค์ทรงริเริ่มวางรากฐานกิจการทหารเรือ ทรงจัดทำแผนการทหารเรือ แผนการทัพเรือ ทรงประสิทธิ์ประสาทวิชาการทหารเรือ ทรงจัดการศึกษาทางยุทธศาสตร์ยุทธวิถีและกระบวนรบทำให้กองทัพเรือมีความ  เข้มแข็ง มั่นคง มีประสิทธิภาพ และเจริญก้าวหน้าเป็นที่ประจักษ์มาจนทุกวันนี้

พระองค์ทรงกอปรด้วยพระคุณลักษณะของทหารเรือทุกประการ ทรงปลูกฝังวิญญาณทหารเรือไว้ในส่วนลึกของหัวใจให้ทหารเรือไทยทุกคนเป็นทหารเรืออย่างแท้จริง พระจริยวัตรที่ทรงแสดงออกจากน้ำพระทัยมิใช่อย่างข้ากับเจ้าหรือบ่าวกับนาย หากแต่เสมือนบิดากับบุตรเป็นที่ซาบซึ้งตรึงใจและเทิดทูนบูชาของทหารเรือทั้งหลายยิ่งนัก…ทหารเรือทั้งหลายจึงพากันเทิดทูน และเคารพรักพระองค์อย่างเป็นที่สุด

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงฉายในปี พ.ศ. ๒๔๕๐

ในกาลต่อมา กองทัพเรือได้กำหนดให้วันที่ ๑๙ พฤษภาคมของทุกปี อันเป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของพระองค์ เป็น “วันอาภากร” พร้อมกับเทิดพระเกียรติพระราชสมัญญานาม พระองค์ท่านเป็น “องค์บิดาของกองทัพเรือไทย” เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๖ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกพระกรุณาธิคุณของ พระองค์ท่านที่ได้ทรงพัฒนากิจการทหารเรือให้มีความเข้มแข็ง มั่นคง มีความเจริญก้าวหน้าเป็นที่ประจักษ์ มาตราบเท่าทุกวันนี้ และเพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพระองค์ท่าน กองทัพเรือได้จัดงานเนื่องในวันสำคัญนี้ เป็นประจำทุกปี พร้อมจัดกิจกรรมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ตามสถานที่ต่างๆ ในพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพเรือ.

อ้างอิง  ๑. พลเรือตรี กรีฑา พรรธนะแพทย์. “ทำไมทหารเรือจึงรักกรมหลวงชุมพรมาก” นาวิกศาสตร์. ปีที่ ๙๕ เล่มที่ ๑๒. ธันวาคม ๒๕๕๕.

๒. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. พระอุปนิสัยและพระจริยวัตร ในกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์. ศิลปวัฒนธรรม. ฉบับธันวาคม 2555

 

 

#องค์บิดาของทหารเรือไทย #เสด็จเตี่ย #กรมหลวงชุมพร #นาวิกศาสตร์ #19ธันวาคม #เสด็จในกรม

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *