๑๙ ธันวาคม วันอาภากรรำลึก


วันอาภากรรำลึก ตรงกับวันที่ ๑๙ ธันวาคมของทุกปี เป็น ‘วันคล้ายวันประสูติ’ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ด้วยพระกรณียกิจและคุณงามความดีของพระองค์ที่ทรงมีต่อกิจการทหารเรือและประเทศชาตินั้น ยังคงจารึกไว้ในความทรงจำของทหารเรือทุกนาย และปวงชนชาวไทยอยู่อย่างมิลืมเลือน แม้ว่าพระองค์จะสิ้นพระชนม์มาเป็นเวลานานแล้วก็ตาม ความเลื่อมใสศรัทธาของชาวไทยที่มีต่อพระองค์นั้นยังคงอยู่มิเสื่อมคลาย ดังจะเห็นได้จากอนุสาวรีย์และศาลของพระองค์ที่มีตั้งอยู่มากมายทั่วประเทศ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ ๒๘ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าจอมมารดาโหมดประสูติเมื่อ วันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๒๓ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๔๖๖ ขณะทรงมีพระชนมายุ ๔๓ พรรษา พระนามเดิม พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ทรงมีพระขนิษฐา และพระอนุชาร่วมพระมารดาเดียวกัน ๒ พระองค์ ได้แก่ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงอรองค์อรรคยุพา และพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าสุริยงประยุรพันธุ์ กรมหมื่นไชยาศรีสุริโยภาส ทรงเสกสมรสกับหม่อมเจ้าหญิงทิพย์สัมพันธ์ (หม่อมเจ้าหญิงทิพย์สัมพันธวงษ์) พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช

เมื่อครั้งทรงเยาว์วัย ทรงรับการศึกษาเบื้องต้นในพระบรมมหาราชวังโดยมีพระศรีสุนทรโวหาร พระยาอิศรพันธ์ โสภณ (หม่อมราชวงศ์หนู อิศรางกูร) เป็นพระอาจารย์ และนายโรเบิรด์ โมแรนท์ เป็นพระอาจารย์สอนภาษาอังกฤษ ภายหลังทรงเข้าศึกษา ณ โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ

ทรงเครื่องแบบราชนาวีอังกฤษ

ปีมะเส็งพุทธศักราช ๒๔๓๖ พระชนม์มายุย่าง ๑๓ พรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมชนกนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เสด็จไปทรงศึกษาวิชาการที่ประเทศอังกฤษพร้อมกับ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นทรงพระยศเป็น สมเด็จเจ้าฟ้าชายมหาวชิราวุธ และได้เสด็จประทับศึกษาวิชาการเบื้องต้นร่วมกันจนถึงสมัยเมื่อจะทรงศึกษาวิชาการเฉพาะพระองค์ เสด็จในกรมฯ จึงได้ทรงแยกไปศึกษาวิชาการทหารเรือ นับเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์แรกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงศึกษาวิชาการทหารเรือในต่างประเทศ

ตลอดระยะเวลาที่พระองค์ทรงศึกษาอยู่นั้น ได้มีพระวิริยะอุตสาหะจนผลการศึกษาปรากฏอยู่ในขั้นดีเยี่ยม และมีพระจริยวัตรที่งดงามเป็นที่รักใคร่ของ ครู อาจารย์ เป็นที่ยอมรับนับถือของชาวอังกฤษที่ได้ศึกษาอยู่ในคราวเดียวกัน

เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปเป็นครั้งแรกในพ.ศ. ๒๔๔๐ เสด็จในกรมฯ ยังทรงเป็นนักเรียนนายเรืออยู่ที่ประเทศอังกฤษ ได้ทรงแสดงความสามารถในการเดินเรือ โดยขออนุญาตออกมารับเสด็จพระบรมชนกนาถ โดยได้ทรงเข้าร่วมกระบวนเสด็จที่เกาะลังกา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการตำแหน่งนักเรียนนายเรือ ในเรือพระที่นั่งมหาจักรี ภายในการบังคับบัญชาของกัปตันเรือพระที่นั่ง ในครั้งนั้นเสด็จในกรมทรงถือท้ายเรือพระที่นั่งมหาจักรีด้วยพระองค์เอง แสดงความสามารถให้ปรากฎแก่พระเนตรพระกรรณ พระบรมราชชนกจึงโปรดเกล้าฯ ให้ทรงศึกษาวิชาการทหารเรือโรงเรียนนายเรืออังกฤษต่อไป ทรงเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนนายเรือแห่งอังกฤษ ต่อจากนั้นทรงศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยทหารเรือ โรงเรียนปืนใหญ่ โรงเรียนตอร์ปิโด และทรงสอบผ่านหลักสูตรชั้นสูงสุดของโรงเรียนนายเรืออังกฤษ นับเวลาที่ทรงศึกษาอยู่ในราชนาวีอังกฤษ ปีเศษจึงได้เสด็จกลับประเทศไทยโดยทางเรือ

เสด็จในกรมฯ ได้เสด็จลงเรือเมล์เยอรมันที่เมืองเยนัว วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๔๔๓ เสด็จพักแรมที่สิงค์โปร์หนึ่งคืนแล้วจึงเสด็จออกสิงคโปร์โดยเรือเมล์เช่นเดียวกันถึงปากน้ำเจ้าพระยาจังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา ออกไปคอยรับเสด็จที่สมุทรปราการแล้วประทับรถไฟสายปากน้ำจากสมุทรปราการเข้ามายังพระนคร

เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาเป็นนายทหารสัญญาบัตรในราชนาวีอังกฤษแล้วได้เสด็จกลับเข้ารับราชการ ในกระทรวงทหารเรือ ในปีพุทธศักราช ๒๔๔๓ รับพระราชทานยศเป็น “นายเรือโทผู้บังคับการ” ในตำแหน่ง นายธงผู้บัญชาการกรมทหารเรือ และทรงเสกสมรสกับหม่อมเจ้าหญิงทิพย์สัมพันธ์

พ.ศ. ๒๔๔๗ ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม “กรมหมื่นชุมพรเขตร์อุดมศักดิ์” ดำรงตำแหน่ง รองผู้บัญชาการกรมทหารเรือ และทรงดำรงตำแหน่ง เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ พระองค์ได้ทรงแก้ไขและปรับปรุงระเบียบของโรงเรียนนายเรือ และทรงริเริ่มการใช้ ระบบการปกครองบังคับบัญชา ตามระเบียบการปกครองในเรือรบ คือการแบ่งให้นักเรียนชั้นสูง บังคับบัญชารองลงมา ทรงเป็นพระอาจารย์ของนักเรียนนายเรือ ทรงจัดเพิ่มเติมวิชาสำคัญสำหรับทหารเรือ เพื่อให้เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว สามารถเดินเรือทางไกลในทะเลน้ำลึกได้ คือวิชา ดาราศาสตร์ ตรีโกณมิติ พีชคณิต การเดินเรือเรขาคณิต และ อุทกศาสตร์ ทรงปรับปรุงการศึกษาของโรงเรียนนายเรือให้เจริญก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้ทหารเรือไทยมีความรู้ ความชำนาญ สามารถเป็นครู และเป็นผู้บังคับบัญชาได้โดยไม่ต้องพึ่งพาชาวต่างประเทศ

ปีพุทธศักราช ๒๔๔๘ ทรงดำรงตำแหน่ง เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ ได้ทรงปรับปรุงการศึกษาของโรงเรียนนายเรือให้เจริญก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้ทหารเรือไทยมีความรู้ ความชำนาญ สามารถเป็นครู และเป็นผู้บังคับบัญชาได้โดยไม่ต้องพึ่งพาชาวต่างประเทศ ในปีต่อมาทรงมีพระดำริ ในการจัดตั้งโรงเรียนนายช่างกล เพื่อรับผิดชอบเครื่องจักรในเรือ และในโรงงานบนบกแทนชาวต่างประเทศที่จ้างไว้

ทรงพัฒนากิจการทหารเรือเจริญรุดหน้าเป็นอย่างมาก จนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นความสำคัญและโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชวังเดิมให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๙ ทำให้กิจการทหารเรือมีรากฐานมั่นคงสืบมาจนปัจจุบัน

 

ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๔๕๐ ทรงเป็นผู้บังคับการเรือหลวงมกุฎราชกุมารนำนักเรียนนายเรือ และนักเรียนนายช่างกล ไปฝึกภาคต่างประเทศ ได้ทรงนำเรือแวะที่สิงคโปร์และเปลี่ยนสีเรือมกุฎราชกุมารจากสีขาวเป็นสีหมอกให้เหมือนกับเรือรบต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความกลมกลืนกับลักษณะของสีน้ำทะเล และภูมิประเทศ ซึ่งกองทัพเรือได้นำสีดังกล่าวมาใช้เป็นสีเรือทุกลำของกองทัพเรือตราบจนปัจจุบัน

ในปีพุทธศักราช ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเห็นความสำคัญของกิจการทหารเรือ จึงได้ทรงยกฐานะกรมทหารเรือเป็นกระทรวงทหารเรือ  และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จในกรมฯ ทรงดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ และในปีต่อมาทรงออกจากประจำการชั่วระยะเวลาหนึ่ง ทรงใช้เวลาศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณอย่างจริงจัง

ด้านการแพทย์แผนโบราณของไทย พระองค์ทรงศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง ทรงเขียนตำรายาแผนโบราณลงในสมุดข่อยด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เองโดยทรงตั้ง ชื่อตำรายาเล่มนี้ว่า “พระคัมภีร์อติสาระวรรคโบราณะกรรมและปัจจุบันนะกรรม” นอกจากนั้นยังได้ทรงรักษาโรคภัยไข้เจ็บแก่คนทั่วไปโดยไม่เลือกคนจนหรือคนมี และมิได้คิดค่ารักษาหรือค่ายาแต่อย่างใด จนเป็นที่นับถือของบุคคลทั่วไป และถวายพระนามพระองค์ท่านว่า “หมอพร”

เรือหลวงพระร่วง ลำที่๑

ครั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ สยามเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นชุมพรเขตร์อุดมศักดิ์ เสด็จกลับเข้ารับราชการในตำแหน่ง เจ้ากรมจเรทหารเรือ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือ ในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ต่อ พ.ศ. ๒๔๖๒ ทรงได้รับแต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงพิเศษออกไปจัดหาซื้อเรือในภาคพื้นยุโรป โดยเรือที่จะจัดซื้อนี้ได้รับพระราชทานนามว่า “เรือหลวงพระร่วง” ทรงเป็นผู้บังคับการเรือ นำเรือหลวงพระร่วงแล่นข้ามทวีปจากประเทศอังกฤษเข้ามายังกรุงเทพมหานครด้วยพระองค์เอง ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่นายทหารเรือไทยเดินเรือได้ไกลข้ามทวีป  นอกจากนี้ยังทรงจัดตั้งกองการบินทหารเรือ ทรงเปลี่ยนสีเรือรบของทหารเรือจากสีขาวเป็นสีหมอกให้เหมือนกับเรือรบต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความกลมกลืนกับลักษณะของสีน้ำทะเลและภูมิประเทศ ซึ่งกองทัพเรือได้นำสีดังกล่าวมาใช้เป็นสีเรือทุกลำของกองทัพเรือตราบจนปัจจุบัน

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๓ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระอิสริยศพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตร์อุดมศักดิ์ ขึ้นเป็นกรมหลวงมีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ สิงหนาม

พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่๖ ณ อ.สัตหีบ จว.ชลบุรี

ด้วยทรงเป็นนักยุทธศาสตร์ที่เล็งเห็นการณ์ไกล ในเวลาต่อมาจึงทูลเกล้าพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่๖ ขอพระราชทานที่ดินบริเวณอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานที่ดินที่สัตหีบให้แก่กองทัพเรือเมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ.๒๔๖๕ เพื่อใช้เป็นที่ตั้งฐานทัพเรือ และหน่วยกำลังรบต่าง ๆ ของกองทัพเรือ ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งมาจนถึงปัจจุบัน

หาดทรายรี /ภาพ https://thailandtourismdirectory.go.th/th/info/attraction/detail/itemid/21897

เมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๖ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง พลเรือเอก เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ ก่อนจะกราบบังคมทูลออกจากราชการ เสด็จไปประทับที่ชายทะเลหาดทรายรี ทางใต้ของปากน้ำเมืองชุมพร และสิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคไข้หวัดใหญ่เนื่องจากถูกฝน ที่ ต.หาดทรายรี อ.เมือง จ.ชุมพร เมื่อ ๑๙ พฤษภาคม ๒๔๖๖ สิริพระชนมายุ ๔๓ พรรษา

ด้วยพระกรณียกิจตลอดระยะเวลาที่ทรงรับราชการทหารเรือ ส่งผลให้กิจการทหารเรือ มีความเจริญก้าวหน้า สามารถทำหน้าที่รั้วของชาติทางทะเลได้อย่างเข้มแข็งสืบต่อมา ซึ่งนับเป็นสิ่งที่มีคุณค่ายิ่ง กองทัพเรือจึงได้ประกาศขนานพระนามเป็น “องค์บิดาของทหารเรือไทย” และได้กำหนดให้วันที่ ๑๙ พฤษภาคมของทุกปี เป็น “วันอาภากร”

งานอดิเรก

ทรงสนพระทัยใน กีฬามวยและ กระบี่กระบอง กีฬาแล่นใบในทะเล ก็นับว่าทรงโปรดมากที่สุด

ในด้านการดนตรี ก็ทรงมีความสามารถชำนาญทาง ดนตรีดีดสีตีเป่า ทั้งดนตรีไทยและดนตรีสากล การขับร้อง เพลงไทย ทั้งยังทรงนิพนธ์บทเพลงเองก็มี โดยเฉพาะบทเพลงที่ทรงนิพนธ์เกี่ยวกับวิชาทหารเรือนั้น มีสาระสำคัญในการปลุกใจให้เข้มแข็ง ส่งเสริมกำลังใจให้มีความรักชาติ รักหน้าที่ รักเกียรติ รักวินัย รักหมู่คณะ และให้เกิดความมุมานะ กล้าตายไม่เสียดายชีวิตในยามศึก บทเพลงชองพระองค์ท่านนั้นเป็นที่จับใจของผู้ฟัง โดยเฉพาะผู้ที่เป็นทหารเรือ แม้ปัจจุบันจะมีเพลงที่แต่งขึ้นใหม่ อีกหลายเพลงใน ทำนองเดียว กันนี้ แต่หาได้เป็นที่ซาบซึ้งในอย่างเพลงของพระองค์ท่านไม่ ฉะนั้น จึงได้จดจำ และร้องต่อ ๆ กันมาจนกลายเป็นเพลงประจำของทหารเรือและบรรดาทหารเรือทั้งหลายก็รับไว้เป็น อนุสรณ์แห่งพระองค์ท่านโดยเฉพาะ ” เพลงดอกประดู่ ” และเพลง ” เกิดมาทั้งที

 

พ.ศ. ๒๔๔๓

  •  ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการทหารเรือจากประเทศอังกฤษ
  •  ทรงดำรงพระอิสริยศนายเรือโทผู้บังคับการ ตำแหน่งนายธงของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์   ศิลปาคม (ผู้บัญชาการกรมทหารเรือ)
  •  ทรงริเริ่มกำหนดแบบสัญญาณสองมือและโคมไฟ การฝึกพลอาณัติสัญญาณ  (ทัศน สัญญาณ)

พ.ศ.๒๔๔๕

  •  ทรงจัดตั้งหน่วยฝึกพลทหารที่บางพระ จังหวัดชลบุรี
  •  ทรงจัดระเบียบราชการกรมทหารเรือ

พ.ศ. ๒๔๔๘

  •  ทรงริเริ่มจัดทำโครงการป้องกันประเทศทางทะเล และทรงปรับปรุงกิจการทหารเรือ    สยามให้อยู่ในระดับมาตรฐานสากล
  •  ทรงขอพระราชทานที่ดินเพื่อการจัดตั้งโรงเรียนนายเรือที่พระราชวังเดิม ฝั่งธนบุรี ทรงฝึกสอนทหารเรือด้วยพระองค์เองและทรงปรับปรุงหลักสูตรโรงเรียนนายเรือ

พ.ศ. ๒๔๔๙

  •  ทรงนำนักเรียนนายเรือทั้งหมดไปฝึกหัดทางทะเล บริเวณภาคตะวันออกของอ่าวไทยจนถึงจังหวัดจันทบุรีพ.ศ. ๒๔๕๐
  •  ทรงนำนักเรียนนายเรือและนักเรียนนายช่างกลไปฝึกทางทะเล นำเรือไทยบังคับการโดยคนไทยไปถึงต่างแดน เช่น สิงคโปร์ ปัตตาเวีย ชวา และเกาะบิลลิตัน (ประเทศฟิลิปปินส์) ได้สำเร็จเป็นครั้งแรก

พ.ศ. ๒๔๖๐

  •   ทรงดำรงตำแหน่งนายพลเรือโท เสนาธิการทหารเรือ

พ.ศ. ๒๔๖๑

  •   ทรงดำรงตำแหน่งเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ
  •   ประเทศไทยเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ ๑
  •   ทรงดำริให้มีการสร้างฐานทัพเรือที่สัตหีบ จังหวัดชลบุรี การจัดตั้งกองกำลังอากาศนาวี ซึ่งชาวนักบินนาวีถือว่า ทรงเป็นพระบิดาแห่งการบินนาวี
  •   ทรงทำหน้าที่ข้าหลวงพิเศษดำเนินการสรรหาซื้อเรือรบ ณ ประเทศอังกฤษ ทรงนำเรือรบที่จัดซื้อนั้นเดินทางกลับถึงประเทศ และเข้าประจำการในกองทัพเรือชื่อ เรือหลวงพระร่วง เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๓

พ.ศ.๒๔๖๓

  •  ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหลวงและทรงได้รับพระราชทานยศพลเรือเอก

พ.ศ.๒๔๖๖

  •  ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ
  •  ทรงลาออกจากราชการเสด็จไปประทับ ณ ชายทะเลหาดทรายรี จังหวัดชุมพร จนถึงช่วงปลายแห่งพระชนม์ชีพ

 

อ้างอิง http://bus.rmutp.ac.th/
http://thaitribune.org/contents/detail/309?content_id=20085
http://thaitribune.org/contents/detail/309?content_id=20085

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *