เรือหลวงแหลมสิงห์ เรือพร้อมรบสูงสุดสาขาการรบผิวน้ำ

  เรือหลวงแหลมสิงห์ เรือตรวจการณ์ปืน ลำใหม่ ที่กองทัพเรือต่อเองตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่9 และในปี 2560 นี้ เรือหลวงแหลมสิงห์ได้รับ รางวัลเรือพร้อมรบสูงสุด* สาขาการรบผิวน้ำ และสาขาป้องกันความเสียหาย จากกองเรือยุทธการ

เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ.2560 กองเรือยุทธการจัดพิธีมอบรางวัล เรือพร้อมรบสูงสุดประจำปี 2560 โดยมีพลเรือเอก สุชีพ หวังไมตรี ผู้บัญชาการ กองเรือยุทธการ เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล เรือพร้อมรบสูงสุดประจำปี 2560 ณ ห้องประชุม กองบัญชาการกองเรือยุทธการ 1 กองบัญชาการกองเรือยุทธการ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยการแข่งขัน มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเตรียมความพร้อมให้กับเรือตามประเภท และส่งเสริมให้เกิดความภาคภูมิใจในการได้รับรางวัลเรือพร้อมรบสูงสุดขงวกองเรือยุทธการให้มีความพร้อมในการปฏิบัติราชการ ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายนั้น

ในปีนี้กองเรือต่างๆ ได้จัดส่งเรือเข้าร่วมการแข่งขันจำนวนทั้งสิ้น 13 ลำ โดยมีคณะกรรมการจัดการแข่งขันเรือพร้อมรบสูงสุดประจำปี ดำเนินการตรวจสอบและประเมินผล ในด้านองค์บุคล องค์วัตถุ การปฏิบัติ และองค์ยุทธวิธี มีเรือที่ได้รับรางวัลเรือพร้อมรบสูงสุด และเรือพร้อมรบสูงสุดในสาขาต่างๆ จำนวน 9 ลำ ซึ่ง เรือหลวงแหลมสิงห์ ได้รับรางวัลเรือพร้อมรบสูงสุดสาขารบผิวน้ำ และสาขาการป้องกันความเสียหาย

We are LAEM SING, our flag hold high.
We shall sail to show our pride.
There float enemies, we’ll sink them all.
Make our NAVY proud and tall.

We are LAEM SING, we sail the sea.
Protect our waters, we shall be.
With our lives, we sacrifice.
Tell our moms, it’s all we might.

เราเรือแหลมสิงห์ เราไม่เคยวิ่งหนี
ศัตรูกล้าราวี เรานี้จะประจญ
เข้าประจัญบาน ภัยพาลทุกแห่งหน
หากชีพยังคง เราสู้มิรู้ถอย

แม้นชีวาวาย ไม่เสียดายสักน้อย
บอกคนเฝ้าคอย ขอจงภูมิใจ
รักษาปฐพี เพื่อนาวีไซร้
ข้าศึกรานไทย จมมันลงบาดาล

เพลงประจำเรือ ร.ล.แหลมสิงห์
ประพันธ์โดย น.อ.ชฎิล นิสสัยพันธุ์

กองทัพเรือ จัดหาเรือตรวจการณ์ปืนลำใหม่เข้าประจำการ กองเรือตรวจอ่าว กองเรือยุทธการ เพื่อทดแทนเรือตรวจการณ์ระยะปานกลาง ตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือ พ.ศ.2551 – 2560 ซึ่งได้ทยอยปลดประจำการ และใช้ปฏิบัติงานร่วมกับเรือ อากาศนาวี หน่วยกำลังต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง หน่วยกำลังนาวิกโยธิน และหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ ตั้งแต่ในภาวะปกติโดยมีขีดความสามารถปฏิบัติการรบ 2 มิติ ได้แก่ การปฏิบัติการสงครามผิวน้ำ และการต่อสู้ภัยคุกคามทางอากาศ โดยกองทัพเรือ ได้จัดซื้อแบบแปลนรายละเอียด และพัสดุ

สำหรับการสร้างเรือตรวจการณ์ปืน จากบริษัท มาร์ซัน จำกัด ในลักษณะ Package Deal โดยใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 699,459,000 บาท

ทั้งนี้ กองทัพเรือได้มอบหมายให้ กรมอู่ทหารเรือ เป็นหน่วยรับผิดชอบ ในการสร้างเรือ โดยใช้พื้นที่ของอู่ทหารเรือธนบุรีเป็นสถานที่ต่อเรือ เพื่อเป็นการดำเนินการตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและการพึ่งพาตนเองกับเป็นการพัฒนาขีดความสามารถของกรมอู่ทหารเรือ ในการต่อเรือตรวจการณ์ปืน

หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการต่อเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.991 และนำไปสู่การปรับปรุงเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.994 ที่ได้มีการขยายแบบเรือ และรูปทรง ตามพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และล่าสุด คือ เรือหลวงกระบี่ ซึ่งเป็นเรือประเภทเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งที่มีขนาดใหญ่และสมรรถนะสูง

ในขั้นตอนของการสร้างเรือตรวจการณ์ปืนลำใหม่นี้ กรมอู่ทหารเรือได้ดำเนินการต่อเอง โดยแบ่งการสร้างเรือออกเป็น 2 ระยะ ระยะแรกทำการต่อเฉพาะตัวเรือ รวมถึงระบบเครื่องจักร ณ อู่แห้งหมายเลข 1 อู่ทหารเรือธนบุรี มีระยะเวลาในการดำเนินการประมาณ 13 เดือน

และหลังจากที่ได้ปล่อยเรือลงน้ำแล้ว ได้นำตัวเรือไปทำการประกอบในส่วน superstructure (หอบังคับการเรือ เสาสื่อสาร) รวมถึงระบบอาวุธ ณ อู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ

โดยในระยะที่ 2 นี้ มีระยะเวลาในการดำเนินการประมาณ 10 เดือน จึงอาจกล่าวได้ว่า กองทัพเรือได้ใช้ศักยภาพและความรู้ความสามารถของกำลังพลกองทัพเรือ ในการดำเนินการติดตั้ง ทดสอบได้อย่างเต็มภาคภูมิ แม้ว่าจะใช้แบบเรือของบริษัทเอกชน แต่ถือเป็นการดำเนินการในการสร้างเรือขนาดใหญ่อีกลำด้วยการพึ่งพาตนเอง

คุณลักษณะทั่วไป มีดังนี้
– ความยาวตลอดลำ 58 เมตร – ความกว้างกลางลำ 9.3 เมตร
– ความลึกกลางลำ 5.1 เมตร – กินน้ำลึกเต็มที่ 2.9 เมตร
– ระวางขับน้ำสูงสุด 520 ตัน
ขีดความสามารถของเรือตรวจการณ์ปืน
– ความเร็วสูงสุดที่ระวางขับน้ำสูงสุด 23 นอต
– ระยะปฏิบัติการไม่น้อยกว่า 2,500 ไมล์ทะเล
– ความคงทนทะเลจนถึงสภาวะระดับ 4 (Sea State 4)
– มีสถานที่จัดเก็บเสบียงอาหาร และระบบน้ำจืด เพียงพอสำหรับการปฏิบัติงานในทะเลต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 7 วัน โดยไม่ต้องรับการส่งกำลังบำรุง
– มีห้องและที่พักอาศัยเพียงพอสำหรับกำลังพลประจำเรือตามอัตรา 53 นาย

ขีดความสามารถในการปฏิบัติการ (Operation Capabilities)
– ต่อต้านภัยผิวน้ำ ด้วยการซ่อนพราง การใช้อาวุธปืนหลัก/ปืนรองของเรือ และการชี้เป้าให้กับเรือผิวน้ำและอากาศนาวี
– การโจมตีที่หมายบนฝั่ง ด้วยอาวุธปืนหลัก/ปืนรองของเรือ
– การป้องกันฝั่ง การสกัดกั้น และการตรวจค้นด้วยระบบตรวจการณ์ และเรือยางท้องแข็งไฟเบอร์กลาสความเร็วสูง (RIB)
– การป้องกันภัยทางอากาศในลักษณะการป้องกันตนเอง ด้วยระบบควบคุมการยิง และการใช้อาวุธปืนหลัก/ปืนรองของเรือ
– การค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเลตามแนวชายฝั่ง
– การสนับสนุนการป้องกันและต่อต้านการก่อการร้ายในทะเลและท่าเรือ
– การสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรืออื่น ๆ

อาวุธประจำเรือ
– ปืนขนาด 76/62 มิลลิเมตร OTO Melara (Refurbished) จำนวน 1 กระบอก
– ปืนกลขนาด 30 มิลลิเมตร MIS จำนวน 1 กระบอก
– ปืนกลขนาด .50 นิ้ว จำนวน 2 กระบอก

**การแข่งขันเรือพร้อมรบสูงสุด (Combat Readiness) กองเรือยุทธการ จัดการแข่งขันเรือพร้อมรบสูงสุดประจำปี 60 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้กำลังพลประจำเรือได้มีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง และสามารถดึงศักยภาพอย่างสูงสุดของเรือออกมาสู่การปฏิบัติการในเรือได้อย่างมีประสิทธิผล โดยการตรวจเรือพร้อมรบสูงสุดในปีนี้ ได้มีการสมมุติสถานการณ์ตามพื้นที่ที่เรือรับตรวจปฏิบัติงาน โดยหน่วยเรือจะต้องนำข้อมูลต่างๆ มาวางแผนเพื่อรองรับยุทธวิธีที่จะทำให้เรือมีความพร้อมที่จะดำเนินการทางยุทธวิธีได้อย่างสูงสุด

โดยมีการตรวจตามสาขาได้แก่ กองเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ สาขา การควบคุมบังคับบัญชา
กองเรือฟริเกตที่ 1 สาขา การปราบเรือดำน้ำ
กองเรือฟริเกตที่ 2 สาขา การป้องกันภัยทางอากาศ
กองเรือตรวจอ่าว สาขา การรบผิวน้ำ
กองเรือยามฝั่ง สาขา การปฏิบัติการยามฝั่ง
กองเรือทุ่นระเบิด สาขา การต่อต้านทุ่นระเบิด
กองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ สาขา การปฏิบัติการยกพลขึ้นบก และ การยุทธบริการ

โดยทุกกองเรือ จะต้องตรวจในหัวข้อที่เรือมีขีดความสามารถได้ทั้งหมด ได้แก่ การเรือ การเดินเรือ ศูนย์ยุทธการและสื่อสาร สงครามอิเล็กทรอนิกส์ การตรวจค้น การช่างกล และการป้องกันความเสียหาย ด้วยเพื่อนำมาประเมินคะแนนในภาพรวม

นอกจากการปฏิบัติการทางเรือ ในปีนี้ มีการนำผลการประเมินการใช้เรือจากหน่วยกำลัง เช่น ทัพเรือภาค หรือ หน่วยเฉพาะกิจต่างๆ มาเป็นน้ำหนักคะแนน และยังนำผลการทดสอบสมรรถภาพร่างกาย และ สุขภาพกำลังพล (ค่าเฉลี่ยดัชนีมวลกาย) เพื่อนำมาคำนวณคะแนนร่วมด้วย

โดยเรือที่ได้รางวัล จะต้องมีคะแนนรวมเกินกว่า 80% และมีคะแนนในสาขาที่รับการประเมินสูงสุด

ขอบคุณภาพจากเฟสบุค เรือหลวงแหลมสิงห์

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *