เรือหลวงแม่กลอง….ยอดเรือครู

เรือหลวงแม่กลอง

เรือหลวงแม่ กลอง….ยอดเรือครู ที่เรียกเช่นนี้เพราะตั้งแต่ปี พ.ศ. 2480 เป็นต้นมา เรือลำนี้ได้ฝึกนักเรียนนายเรือออกเป็นนายทหารเกือบทั้งราชนาวีผู้บัญชาการ ทหารเรือตอนหลังๆ ทุกท่านก็ฝึกอยู่บนเรือลำนี้มาทั้งนั้น นอกจากนักเรียนนายเรือแล้ว เธอยังฝึกนักเรียนจ่าและพลทหารเรือก่อนออกไปประจำการตามหน่วยต่างๆอีกมากมาย หากจะนับจำนวนคนจนถึงอายุ 60 ปี คงละหลายหมื่นคน ไม่มีเรือลำใดของราชนาวีเทียบเธอได้ ผมยังคิดเอาเองว่ายอดเหลือครูของผมลำนี้เธอน่าจะฝึกทหารมามากกว่าเรือใดๆใน โลก (พลเรือเอกดิลก ภัทรโกศล. ยอดเรือครู. นาวิกศาสตร์. พ.ย. 2539)

เครื่องบินทะเล

**เรือหลวงแม่กลองมีประวัติการใช้ราชการยาวนานเป็นเวลาถึง 60ปี** มีขีดความสามารถในการรบบนผิวน้ำ การปราบเรือดำน้ำและต่อสู้อากาศยาน เป็นเรือครู หรือ เรือฝึกของทหารเรือไทย เป็นเรือธงลำแรกของกองทัพเรือไทยอีกด้วย ทั้งยังเป็นเรือรบลำแรกของกองทัพเรือไทยที่สามารถนำอากาศยาน (เครื่องบินทะเล) ไปกับเรือได้อีกด้วย

 

 

การปฏิบัติหน้าที่ของเรือหลวงแม่กลอง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ และ รัชกาลที่ ๙ ขณะทรงพระเยาว์ ประทับบนเรือหลวงแม่กลอง ระหว่างเสด็จฯ ไปยังเรือซีแลนด์เดีย ที่จอดคอยอยู่ที่เกาะสีชัง เมื่อ 13 ม.ค.2481

ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เรือหลวง    แม่กลอง ได้ออกลาดตระเวนอาณาเขตน่านน้ำไทยเพื่อป้องกันอ่าวไทยจนกระทั่งสงครามยุติ และเคยจัดเป็นเรือพระที่นั่ง ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หลายครั้ง อาทิคราวเสด็จพระราชดำเนิน ไปศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อ 13 มกราคม 2481 หรือเมื่อครั้งเสด็จนิวัติ   พระนครเมื่อ 2 ธันวาคม 2494

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จไปตรวจพลสวนสนามทางเรือของกองทัพเรือ ซึ่งได้จัดให้มีขึ้นที่บางแสน วันกองทัพเรือ 20 พ.ย.2497
ที่มา : นาวิกศาสตร์ ธ.ค.2497

และในการเสด็จพระราชดำเนิน ตรวจพลสวนสนามทางเรือ และทอดพระเนตร การยกพลขึ้นบก ณ หาดบางแสน จังหวัดชลบุรี ใน 20 พฤศจิกายน 2497 นอกจากนี้เคยจัดเป็นเรืออัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่ หัว มายังท่าราชวรดิฐ เมื่อ 20 พฤษภาคม 2492

พิพิธภัณฑ์เรือหลวงแม่กลอง

ในเวลาต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับกองทัพเรือว่า ควรจะอนุรักษ์ เรือรบเก่าๆ ไว้ แล้วจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ทางประวัติศาสตร์การทหาร เพื่อเผยแพร่ความรู้ แก่สาธารณชน ดังนั้นในวโรกาสมหามงคลวโรกาส ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นปีที่ 50 ใน พ.ศ.2539 กองทัพเรือจึงจัดสร้างพิพิธภัณฑ์เรือรบไทย ขึ้นน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย เพื่อเฉลิมพระเกียรติปีกาญจนาภิเษก โดยนำเรือหลวงแม่กลองมาอนุรักษ์และจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์เรือรบ ในโครงการพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งของกองทัพเรือ

เรือหลวงแม่กลอง จัดอยู่ในประเภทเรือสลุป สังกัดกองเรือฟริเกตที่ 1 กองเรือยุทธการ เป็นเรือรบที่มีความเก่าเป็นอันดับ 2 ของโลก (รองจากเรือ GUN SHIP ชื่อ GOANA JUATA ของประเทศเม็กซิโก) กองทัพเรือได้สั่งสร้างในสมัยการพัฒนากองทัพเรือ ขณะที่ พลเรือเอก สินธุ์ กมลนาวิน เป็นผู้บัญชาการทหารเรือสมัยนั้น ในช่วงระยะแรกของการพัฒนากำลังรบทางเรือ ตามโครงการบำรุงกำลังทางเรือ พ.ศ.2478 โดยกองทัพเรือได้ว่าจ้าง บริษัทมิตซุยบุชซันไกชา เป็นผู้สร้าง เพื่อปฏิบัติภารกิจ ตามวัตถุประสงค์อยู่ 2 ประการ คือ “ในยามสงคราม” ปฏิบัติภารกิจในการป้องกันประเทศทางทะเลในหน้าที่เรือสลุป สามารถทำการรบได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นเรือรบลำแรกของกองทัพเรือไทยที่สามารถนำ อากาศยาน (เครื่องบินทะเล) ไปด้วยได้ ซึ่งสร้างความภาคภูมิให้กับกองทัพเรือไทยเป็นอันมาก “ในยามสงบ” ปฏิบัติภารกิจเป็นเรือฝึกนักเรียนทหารและนายทหาร สำหรับฝึกภาคทางทะเลเป็นระยะทางไกล จนถึงเมืองท่าต่างประเทศ เพื่อให้ได้รับความรู้ความชำนาญ ในการเดินเรือ และเป็นการอวดธงราชนาวี ไปในตัวอีกด้วย

พิธีวางกระดูกงูเรือหลวงแม่กลอง ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2479 เวลา 1045 ณ อู่สร้างเรืออูรางา เมืองโยโกสุกะ ประเทศญี่ปุ่น

คุณลักษณะเฉพาะของเรือ คือ ระวางขับน้ำ 1,400 ตัน มีความยาว 85 เมตร กว้าง 10.5 เมตร กินน้ำลึก 3.7 เมตร ใช้เครื่องจักรใหญ่ชนิดเครื่องจักรไอน้ำแบบข้อเสือข้อต่อร่วมกับเครื่อง กังหันไอน้ำ จำนวน 2 เครื่อง มีกำลัง 2,500 แรงม้า ทำความเร็วสูงสุดได้ 17 นอต(ไมล์ทะเล/ชั่วโมง) สามารถปฏิบัติการได้ไกล 5,700 ไมล์ แต่ถ้าใช้ความเร็วมัธยัสต์ 10 นอต จะสามารถปฏิบัติการได้ไกล 16,000 ไมล์

อาวุธประจำเรือ ในครั้งแรก มีปืนขนาด 120 มม.จำนวน 4 กระบอก(หัวเรือ 2 กระบอก ท้ายเรือ 2 กระบอก) ปืนกล 20 มม. 2 กระบอก ตอร์ปิโด 45 ซม. 2 แท่น ๆ ละ2 ท่อ เครื่องบินทะเล จำนวน 1 เครื่อง (เป็นเรือรบลำที่ 2 ที่มีเครื่องบินไว้ประจำการในเรือ) ส่วนปืนกล40/60 มม. 3 กระบอก ปืนกล 20 มม. อีก 1 กระบอก แท่นปล่อยระเบิดลึก 6 แท่น ติดตั้งในภายหลังเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2497 ทหารประจำเรือรวม 173 คน(นายทหาร 13 พันจ่า 9 จ่า 85 พลทหาร 66)

เรือหลวงแม่กลองได้มีพิธีรับมอบวันที่ 10 มิถุนายน 2480 และเดินทางกลับประเทศไทย ถึงท่าราชวรดิฐในวันที่ 26 กันยายน 2480 กระทรวงกลาโหมได้จัดพิธีต้อนรับเจิมเรือ และขึ้นระวางประจำการเรือในวันที่เรือเดินทางมาถึงประเทศไทย ในพิธีดังกล่าว ประธานคณะผู้สำเร็จราชการ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 เสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธี ณ พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย

เรือหลวงแม่กลองขึ้นระวางประจำการเมื่อ พ.ศ. 2480 รับราชการเป็นเรือฝึกนักเรียนนายเรือจนอายุ 60 ปี นับว่าเป็นเรือรบที่ประจำการยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์กองทัพเรือไทย และนานเป็นอันดับสองของโลก

 

อ้างอิง  1. นาวิกศาสตร์. กรกฎาคม. 2545  2. โครงการอนุรักษ์เรือหลวงแม่กลอง. http://www.navy.mi.th/royal/kanchana/proj31t.htm  3. พลเรือเอกดิลก ภัทรโกศล. ยอดเรือครู. นาวิกศาสตร์. พ.ย. 2539

ถ่ายภาพโดย Navy24 เมื่อ 13 ก.ค.58

#เรือหลวงแม่กลอง #พิพิธภัณฑ์เรือหลวงแม่กลอง #พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง #ป้อมพระจุลจอมเกล้า #เครื่องบินทะเล #พิพิธภัณฑ์_เรือรบไทย #พิพิธภัณฑ์เรือรบไทย #อุทยานประวัติศาสตร์_กองทัพเรือ #สมุทรปราการ #แหลมฟ้าผ่า #อุทยานประวัติศาสตร์ #Maeklong_HTMS #Maeklong_warship #sloop #Maeklong

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *