เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เขี้ยวเล็บใหม่ของกองทัพเรือไทย

—————

เรือฟริเกตสมรรถนะสูง ลำล่าสุด

เรียบเรียงโดย Navy24

เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช

 

เรือฟริเกตเทคโนโลยีล่องหน รบได้ ๓ มิติ ลำล่าสุดของไทย

กองทัพเรือได้รับพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานชื่อเรือลำนี้ว่า เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช อันเป็นพระนามของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งความหมายของ ภูมิพล หมายถึง “พลังแห่งแผ่นดิน” อดุลยเดช หมายถึง “อำนาจที่ไม่อาจเทียบได้” ครั้งนี้ นับเป็นสิริมงคลและยังความปลาบปลื้มมาสู่กองทัพเรือและกำลังพลทุกคน อย่างหาที่สุดมิได้ โดยเรือฟริเกตลำนี้ เป็นเรือฟริเกตสมรรถนะสูง เทียบเท่าชั้นเรือพิฆาต ที่ได้มีการออกแบบให้ตรงกับความต้องการของกองทัพเรือตามแนวทางการจัดหายุทโธปกรณ์หลัก ภายใต้ยุทธศาสตร์กองทัพเรือ พุทธศักราช ๒๕๕๑ – ๒๕๖๐ แบบของเรือจึงได้รับการพัฒนามาจากแบบเรือพิฆาต ชั้น Kwanggaeto Class Destroyer (KDX-I) และสร้างโดยใช้มาตรฐานทางทหารของสหรัฐฯ และกองทัพเรือเกาหลีใต้ จึงถือได้ว่าเป็นเรือฟริเกตที่มีความทันสมัยและเป็นเรือที่มีคุณค่าทางยุทธการสูงซึ่งจะเป็นกำลังรบทางเรือที่สำคัญตามยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือต่อไป
ในการนี้ เมื่อ วันที่ ๗ ม.ค.๒๕๖๒ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานพิธีต้อนรับเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เรือฟริเกตสมรรถนะสูงที่ต่อจากสาธารณรัฐเกาหลี เดินทางกลับมายังประเทศไทย โดยได้แล่นเข้าเทียบท่าประเทศไทยครั้งแรก ณ ท่าเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี พร้อมกับคล้องพวงมาลัย ให้กับนาวาเอกสมิทนัท คุณวัฒน์ ผู้บังคับการเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช คนแรก ที่นำเรือหลวงและกำลังประจำเรือจำนวน ๑๔๑ นาย กลับมายังประเทศไทยโดยปลอดภัย

เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๖ กองทัพเรือได้ลงนามกับบริษัท Daewoo Shipbuilding & Marine Engineering CO., LTD. (DSME) จำกัด สาธารณรัฐเกาหลี สร้างเรือฟริเกตที่มีโครงสร้างเรือแข็งแรง มีโอกาสอยู่รอดสูงในสภาพแวดล้อมของการสู้รบและการปนเปื้อนทางนิวเคลียร์ เคมี ชีวะ ทนทะเลได้ถึงสภาวะทะเลระดับ ๖ ขึ้นไป พร้อมระบบ อุปกรณ์ การถ่ายทอดเทคโนโลยี และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีระวางขับน้ำสูงสุด ๓๗๐๐ ตัน ความเร็วสูงสุดต่อเนื่อง ๓๐ น็อต ระยะปฏิบัติการประมาณ ๔,๐๐๐ ไมล์ทะเล กำลังพล ๑๔๑ นาย  กำหนดส่งมอบเรือใน ๑,๙๖๓ วัน หรือภายใน ๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๑

ต่อมาในวันศุกร์ที่ ๑๔ ธ.ค.๒๕๖๑ พลเรือเอก พูลศักดิ์ อุบลเทพชัย ประธานที่ปรึกษา ทร. เป็นผู้แทน ผบ.ทร. ทำพิธีรับมอบเรือ ณ อู่  Daewoo Shipbuilding & Marine Engineering (DSME) เกาหลีใต้ กำหนดเรือถึงไทย ๗ ม.ค.๒๕๖๒ และจะเข้าประจำการในกองเรือฟริเกตที่๑ กองเรือยุทธการ

ตามแผนยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือในยุคปัจจุบัน มีความต้องการ เรือฟริเกต๒ ลำ เพื่อทแทนเรือฟริเกตชุด เรือหลวงพุทธยอดฟ้า และ เรือหลวงพุทธเลิศหล้า ที่ปลดประจำการไปแล้ว และกำลังจะปลดประจำการตามลำดับ และเพื่อความมั่นคงของประเทศ  

รงการจัดหา เรือฟริเกตสมรรถนะสูงชุดดังกล่าว กองทัพเรือได้กำหนดสเปกต่างๆ พร้อมเปิดให้บริษัทอู่ต่อเรือจากต่างประเทศเข้ายื่นเสนอแบบเรือให้ทางคณะกรรมการคัดเลือกของกองทัพเรือพิจารณา โดยมี ๑๓ บริษัทอู่ต่อเรือจากประเทศในยุโรป อาทิ เยอรมนี สเปน อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา และจากเอเชีย อาทิ จีน เกาหลีใต้ เสนอตัวเข้ามาแข่งขันให้พิจารณาตั้งแต่ปลายปี ๒๕๕๕ หลังจากคณะกรรมการฯ ได้ตรวจสอบรายละเอียดคุณสมบัติแต่ละบริษัทแล้วตัดออกจนเหลือเพียง ๕ บริษัทอู่ต่อเรือ ที่ผ่านการคัดเลือกในรอบสุดท้าย คือ จีน อิตาลี สเปน และแดวู กับฮุนได ของเกาหลีใต้ และมีการพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งมีเพียง บริษัท ที่ผ่านคุณสมบัติ คือ บริษัทจากประเทศสเปน และ บริษัทแดวู จากประเทศเกาหลีใต้

จนกระทั่งเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๖ คณะกรรมการฯ ได้ตัดสินใจเลือกบริษัทแดวู ของเกาหลีใต้ เป็นผู้ต่อเรือให้กองทัพเรือไทยในราคา ๑.๔๖ หมื่นล้านบาท เนื่องจากบริษัทแดวู มีขีดความสามารถในการสร้างเรือที่มีประสิทธิผลทางยุทธการในการปราบเรือดำน้ำ ภายใต้งบประมาณของกองทัพเรือที่มีอยู่กำจัด

ทั้งนี้เรือฟริเกตสมรรถนะสูงลำที่สอง มีแผนจะต่อภายในประเทศไทยตามการถ่ายทอด Technology จากประเทศสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งในวันที่  ๓๐ กันยายน ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา ณ ห้องรับรองกองบัญชาการกองทัพเรือ พระราชวังเดิม บริษัท DSME. จำกัด และ บริษัท ไฮเทค เอเจ โฮลดิ้ง จำกัด (บริษัทผู้แทนในประเทศไทยของบริษัท DSME จำกัด) ได้ทำบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) กับกองทัพเรือ และบริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด บริษัท ในด้านความร่วมมือการพัฒนาขีดความสามารถในการซ่อม สร้าง และดัดแปลงเรือ ของกรมอู่ทหารเรือให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

เรือฟริเกตสมรรถนะสูงลำนี้ ต่อโดยบริษัท DSME (DAEWOO Shipbuilding & Marine Engineering CO., LTD.) ของประเทศสาธารณรัฐเกาหลี โดยการสร้างเรือดำเนินการ ณ อู่ต่อเรือของบริษัท DSME สาธารณรัฐเกาหลี ในระหว่างปี ๒๕๕๖ ๒๕๖๑ ซึ่งเป็นแบบที่พัฒนามาจากเรือพิฆาตชั้น Kwanggaeto Class Destroyer (KDX-I)

เรือฟริเกตลำนี้ออกแบบและสร้างเรือ โดยใช้มาตรฐานทางทหารของสหรัฐอเมริกา และกองทัพเรือสาธารณรัฐเกาหลี เป็นแบบที่ได้รับการรับรองจากสถาบันจัดชั้นเรือซึ่งเป็นสมาชิกของ IACS (International Association of Classifications Society) โดยแบบเรือดังกล่าว มีระวางขับน้ำสูงสุด ๓,๗๐๐ ตัน ความเร็วสูงสุดต่อเนื่อง ๓๐ นอต ระยะปฏิบัติการประมาณ ๔,๐๐๐ ไมล์ทะเล กำลังพล ๑๓๖ นาย

เรือลำนี้ออกแบบโดยใช้ Stealth Technology และลดการแพร่คลื่นแม่เหล็กตัวเรือ รวมทั้งลดการแพร่เสียงใต้น้ำ ติดตั้งระบบอำนวยการรบและระบบอาวุธจากยุโรปและอเมริกา ซึ่งสามารถปฏิบัติการรบได้ทั้ง ๓ มิติ มีขีดความสามารถในการปฏิบัติการรบร่วมกับอากาศยานของกองทัพอากาศได้อย่างสมบูรณ์ และสอดคล้องกับความต้องการของกองทัพเรือ

เรือฟริเกตสมรรถนะสูงลำนี้มีขีดความสามารถในการปฏิบัติการรบได้ ๓ มิติ คือ การปฏิบัติการสงครามใต้น้ำ การปฏิบัติการสงครามต่อต้านภัยทางอากาศ และการปฏิบัติสงครามผิวน้ำ โดยสามารถปฏิบัติงานร่วมกับ เฮลิคอปเตอร์กองทัพเรือ ในการรับ-ส่ง เฮลิคอปเตอร์ และนำ เฮลิคอปเตอร์เข้าเก็บในโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ได้

นอกจากนั้น ยังได้เพิ่มขีดความสามารถของระบบตรวจการณ์ และระบบอาวุธในการปฏิบัติการสงครามใต้น้ำ และการป้องกันภัยทางอากาศให้มีประสิทธิภาพสูง อีกทั้งระบบอาวุธและระบบอำนวยการรบยังได้ออกแบบให้มีขีดความสามารถในการเชื่อมต่อข้อมูลทางยุทธวิธี ที่สามารถใช้งานร่วมกับระบบการรบของเรือฟริเกต ชุด เรือหลวงนเรศวร และ เรือหลวงจักรีนฤเบศร ได้ เป็นผลทำให้การปฏิบัติการรบร่วมในลักษณะกองเรือ (Battle Group) รวมทั้งการปฏิบัติการรบร่วมกับอากาศยานของกองทัพอากาศ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถปฏิบัติการรบได้ทั้ง ๓ มิติ รวมทั้งป้องกันตัวเองในระยะประชิด ตามมาตรฐานยุโรป สหรัฐฯ และกองทัพเรือที่มีใช้งานและกำลังจัดหา

ส่วนของ platform system มีดาดฟ้าเฮลิคอปเตอร์ (Flight Deck) และโรงเก็บอากาศยาน สามารถใช้งานกับเฮลิคอปเตอร์ขนาด ๑๐ ตัน ได้ เช่น S 70B Sea Hawk, MH –60S Knight Hawk มีอุปกรณ์ช่วยการลงจอด (landing aids แบบ harpoon grid) มีระบบและอุปกรณ์การลงจอด ยึดตรึง เคลื่อนย้าย เฮลิคอปเตอร์ และมีสิ่งอำนวยความสะดวกระดับ level 2 class A ตามมาตรฐาน US Navy Standard NATO

ระบบอำนวยการรบ (combat system) และระบบย่อยของระบบการควบคุมบังคับบัญชาและตรวจการณ์ (command and surveillance) และระบบอาวุธ (armament) ส่วนอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่อากาศ ทั้ง Evolved Sea Sparrow Missile-ESSM มีระบบตอร์ปีโด ปราบเรือดำน้ำ ที่สามารถปรับปรุงให้ใช้งานกับ อาวุธปล่อยนำวิถี พื้นสู่ อากาศ SM2 รวมทั้งมีระบบอาวุธปล่อยนำวิถี พื้นสู่พื้น (Advanced Harpoon Weapon Control System- AHWCS)และอาวุธป้องกันตนเองระยะประชิด Raytheon

ระบบอำนวยการรบ (combat system) ประกอบด้วยมีระบบการควบคุมบังคับบัญชาและตรวจการณ์(command and surveillance) และระบบอาวุธ (armament) มีระบบปืนซึ่งประกอบด้วย อาวุธปืนหลัก ปืน ๗๖/๖๒ มม. Oto-Melara พร้อม Stealth Shield และ อาวุธปืนรอง ปืนกล ๓๐ มม. และปืนกล ๕๐ นิ้ว ระบบเป้าลวง (decoy system) โดยมีแท่น TERMA หรือ รุ่นที่ดีกว่า พร้อมระบบและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง และทำการลวง (Break Lock) เรดาร์ควบคุมการยิงของเรือ, อากาศยาน และอาวุธปล่อยนำวิถีได้ รวมทั้งสามารถรองรับการใช้งานเป้าลวงตอร์ปีโด (torpedo decoy)”

ระบบตรวจการณ์ เรดาร์ตรวจการณ์อากาศระยะไกล แบบ ๓ มิติ ของ SABB อุปกรณ์หมายรู้และพิสูจน์ฝ่าย IFF ระบบโซนาร์ รวมทั้งมีระบบโทรศัพท์เสียงใต้น้ำ ระบบเดินเรือที่เชื่อมต่อกับระบบเดินเรือและระบบอำนวยการรบได้

ทั้งนี้กองทัพเรือได้จัดพิธีปล่อยเรือลงน้ำ ในวันจันทร์ ที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๖๐ ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี โดยมี พลเรือเอก ณะอารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีฯ พร้อมด้วยนางปรานีอารีนิจ ภริยา เป็นสุภาพสตรีผู้ประกอบพิธีปล่อยเรือลงน้ำ เพื่อติดตั้งระบบไฟฟ้า และอาวุธ 

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก สำนักงานเลขานุการ กองทัพเรือ /บันทึกไว้ในราชนาวี. นาวิกศาสตร์. มีนาคม ๒๕๖๐ /

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *