อนุสรณ์เรือหลวงประแส

อนุสรณ์เรือหลวงประแส

เรือหลวงประแส กับเกียรติภูมิในอดีต เรียบเรียงโดย Navy24

อนุสรณ์เรือหลวงประแสลำปัจจุบันที่เห็นนั้น เป็นเรือหลวงประแสลำที่ 2 เพราะในช่วงระหว่างสงครามเกาหลี ประเทศไทยได้ส่งกองกำลังไปช่วยรบในนาม กองกำลังสหประชาติ  เรียกว่า หมู่เรือปฏิบัติการร่วมกับสหประชาชาติ (มส.) แต่เรือหลวงประแสลำแรกได้ประสบเคราะห์กรรมเกยตื้นที่ชายฝั่งประเทศเกาหลีเหนือ

เรือหลวงประแส ลำที่2

หลังจากกองทัพเรือไทยสูญเสียเรือหลวงประแสไปเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2494 ทำให้ มส. เหลือเรือรบ ที่เข้าปฏิบัติการยุทธร่วมกับกองเรือสหประชาชาติอยู่เพียงลำเดียวคือเรือหลวงบางปะกง รัฐบาลไทยในขณะนั้นจึงให้กระทรวงการต่างประเทศติดต่อกับรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อเจรจาขอซื้อเรือฟริเกต ซึ่งทางรัฐบาลสหรัฐฯ ยินดีขายให้โดยมีเงื่อนไขให้ใช้เรือดังกล่าวในการปฏิบัติการรบร่วมกับสหประชาชาติในสงครามเกาหลี และให้ทัพเรือสหรัฐฯ ภาคแปซิฟิค (U.S.Pacific Fleet) จัดเรือฟริเกตประจำการ 2 ลำ คือเรือ USS Glendale (PF 36) กับเรือ USS Gallup (PF 47) ขายให้ไทย ในราคา 861,946 เหรียญสหรัฐฯ เรือทั้งสองลำนี้ได้รับพระราชทานชื่อว่า เรือหลวงท่าจีน และเรือหลวงประแส ตามลำดับ

ใน 20 ตุลาคม 2494 ได้มีพิธีส่งและรับมอบเรือทั้งสองลำที่ท่า

USS_Glendalend และ USS_Gallup

เรือหมายเลข 12 ณ ฐานทัพเรือโยโกสุกะ โดยมีผู้บัญชาการฐานทัพเรือสหรัฐฯ ประจำญี่ปุ่น และเกาหลี ในฐานะผู้แทนรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นผู้ส่งมอบให้กับหัวหน้าคณะทูตไทย ณ ประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้รับมอบในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทย ต่อมาเรือฟริเกตทั้งสองลำได้ขึ้นระวางประจำการในกองทัพเรือไทยใน 29 ตุลาคม 2494

 

ภารกิจแรกของหลวงประแส ลำที่2 หลังจากเข้าประจำการในกองทัพเรือ เริ่มตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2495 คือออกลาดตระเวนปิดอ่าวคุ้มกันเรือลำเลียง เรือบรรทุกน้ำมัน เรือกวาดทุ่นระเบิด ระดมยิงฝั่งเป็นครั้งคราว โดยมียุทธบริเวณตั้งแต่ท่าเรือ     ปูซานฝั่งตะวันออก เรื่อยไปจนถึงวอนซานในเกาหลี ตลอดระยะเวลาประมาณ ๒ ปีเศษ เรือหลวงประแส ได้ออกปฏิบัติการตามภารกิจทางยุทธการรวม 32 ครั้ง ระยะเวลาประมาณ 300 วัน หลังจากที่ได้มีการเซ็นสัญญาสงบศึกสงครามเกาหลีเหนือ กับเกาหลีใต้ ในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2497 แล้ว เรือหลวงประแสยังคงวางกำลังอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นต่อมาอีกระยะเวลาหนึ่ง จนกระทั่งในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2498 กระทรวงกลาโหม ได้มีคำสั่ง (เฉพาะ) ที่ 2/257 ให้ถอนทหารบางส่วนกลับประเทศไทย สำหรับกำลังทางเรือ กำหนดให้ถอนกำลัง พร้อมด้วยเรือหลวงท่าจีน และ เรือหลวงประแส กลับและให้เรือทั้ง 2 ลำ ทำหน้าที่คุ้มกันเรือลำเลียงทหารบก ในระหว่างการเดินทางกลับด้วย

เรือหลวงประแส ลำที่ 2

ก่อนหมู่เรือ มส. จะเดินทางกลับประเทศไทยได้เข้าซ่อมทำที่อู่โยโกสุกะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ.2497 เนื่องจากเรือชำรุดทรุดโทรมในขณะออกปฏิบัติภารกิจ ในขณะที่เรือทั้ง ๒ ลำ กำลังเข้าซ่อมใหญ่ที่อู่ในฐานทัพเรือโยโกสุกะอยู่นั้น วันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2498 เวลา 10.30 น. พันเอก ชัยรัตน์ อินทุภูมิ หัวหน้านายทหารติดต่อประจำกองบัญชาการกองกำลังสหประชาชาติ ได้นำ พันโท อำนวย โสมนัส ผู้บังคับกองพันทหารไทย ผลัดที่ ๖ และ นาวาโท สงัด ชลออยู่ ผู้บังคับ มส. เข้าเยี่ยมคำนับและอำลา พลเอก ฮัล ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กองกำลังสหประชาชาติ ในโอกาสที่หน่วยทหารไทย ทั้งทหารบกและทหารเรือจะถอนกำลังกลับ พลเอก ฮัล ได้กล่าวบอกแก่ผู้บังคับหน่วยทหารไทยด้วยว่า ทหารไทย มีศักยภาพทางด้านการรบเป็นอย่างมาก  พร้อมชมเชยความสามารถพร้อมกับมอบเกียรติบัตรชมเชยหน่วยทหารไทยและหนังสือ ชมเชย ซึ่งถือได้ว่า เรือหลวงประแสได้สร้างชื่อเสียงและศักยภาพ ทางด้านทหารของไทยมาแล้ว ในอดีต*

ปี พ.ศ.2537 กองทัพเรือได้ปลดประจำการเรือหลวงประแสเนื่องจากตัวเรือมีสภาพเก่าทรุดโทรมไม่คุ้มกับการซ่อมทำ ด้วยผ่านการใช้งานมาอย่างยาวนาน ให้นำไปใช้ในการฝึกภาคทางเรือของนักเรียนนายเรือแทน หลังจากนั้นไม่นาน เทศบาลตำบลปากน้ำประแสได้เสนอโครงการก่อสร้างอนุสรณ์เรือหลวงประแส เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้ระลึกถึงเกียรติประวัติของราชนาวีไทยในสมรภูมิ และเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ นับแต่นั้นมาเรือประแสจึงถูกเคลื่อนย้ายมาตั้งอยู่ในบริเวณปากน้ำประแสจนถึงปัจจุบัน

อนุสรณ์เรือหลวงประแส ณ เมืองแกลง จ.ระยอง
เรือหลวงประแส ณ ชายหาดประแส อ.แกลง จ.ระยอง

 

เรือหลวงประแส ลำที่ 1

มกราคม 2494 เรือหลวงประแสเกยตื้น ในเขตข้าศึกบริเวณแหลม คิซามุน เหนือเส้นขนานที่ 38 ขึ้นไปประมาณ 16 กิโลเมตร

ในครั้งนั้น กองเรือราชนาวีไทย (ประกอบด้วยเรือหลวงประแส เรือหลวงบางปะกง เรือหลวงสีชัง และ เรือสินค้าเฮอร์ตาเมอร์สค์) ได้เดินทางจากกรุงเทพฯ ไปปูซาน เพื่อเข้าร่วมรบกับ กองเรือสหประชาชาติ ขณะเดินทางต้องเผชิญกับคลื่นลมแรง ต้องแล่นหลบพายุและไต้ฝุ่นเกือบตลอดเวลา ทั้งยังต้องเดินทางผ่านสนามทุ่นระเบิด เพื่อเข้ายังที่หมายคืออ่าวปูซานได้เมื่อ 7 พฤศจิกายน 2493 หลังจากพักซ่อมแซมเรือที่เสียหายจากการเดินทางไกลนายทหารฝ่ายเสนาธิการของกองเรือเฉพาะกิจได้มาตรวจสอบสภาพตัวเรือ ทั้งภายนอกและภายในตลอดลำเรือเพื่อดูว่ามีเครื่องอุปกรณ์และอาวุธเหมาะแก่การสู้รบอย่างไร ลงความเห็นว่าเรือหลวงประแส และเรือหลวงบางปะกง จำเป็นต้องเปลี่ยนปืนประจำเรือจากแบบเก่าของราชนาวีอังกฤษ ซึ่งทางกองเรือสหประชาชาติไม่มีกระสุนจ่ายให้ จึงขอให้เปลี่ยนเป็นปืนขนาด 76 มิลลิเมตร ของสหรัฐอเมริกา

เรือประแส ลำที่ 1

ก่อนที่ มส. จะเปลี่ยนอาวุธปืน ทหารเรือไทยไดขอออกไปปฏิบัติการครั้งหนึ่งก่อนเพื่อใช้กระสุนปืนให้หมดไปอย่างคุ้มค่าโดยเข้าระดมยิงชายฝั่งด้านตะวันออกของเกาหลีเหนือ หลังจากเสร็จภารกิจแล้ว

สภาพคลื่นลมในทะเลขณะปฎิบัติการ

ระหว่างที่เรือทั้งสองลำเดินทางกลับได้ประสบกับพายุหิมะอย่างหนักตลอดคืน กำลังแรงของพายุทำให้เรือหลวงประแสแล่นเซผิดทิศผิดทางไปมาก ประกอบกับเรดาร์ประจำเรือใช้การไม่ได้ ไม่สามารถหาตำบลที่ตั้งขณะที่เรือกำลังเคลื่อนที่ได้ จึงไม่ทราบว่าเรือแล่นเข้าใกล้ชายฝั่งมากจนเกินไป เช้าวันรุ่งขึ้นเรือหลวงประแสได้แล่นไปเกยตื้นในเขตข้าศึกบริเวณแหลมคิซามุน เหนือเส้นขนานที่ 38 ขึ้นไปประมาณ 16 กิโลเมตร เรือลากจูงของสหรัฐอเมริกา พยายามที่จะลากจูงเรือประแสออกมาหลายวันแต่ไม่สำเร็จ ดังนั้นในวันที่ 13 มกราคม 2494 จึงได้รับคำสั่งจากกองทัพเรือให้สละเรือ และอนุมัติให้ทำลายเรือได้ เรือพิฆาตสหรัฐอเมริกา จึงได้ระดมยิงเรือหลวงประแส ประมาณ 50 นัด จนกระทั่งกลายสภาพเป็นเศษเหล็ก 

ในวันที่ 13 มกราคม 2494 กองบัญชาการกองกำลังสหประชาชาติที่กรุงโตเกียวสั่งการให้ผู้การเรือหลวงประแสสละเรือ และให้กองเรือเฉพาะกิจทำลายเรือหลวงประแสไม่ให้ข้าศึกนำไปใช้งานได้อีก   Credit: United States Navy.
Harry S. Truman Library & Museum.

เรือหลวงประแส ลำที่2

เรือหลวงประแส (ลำที่2) หมายเลขประจำเรือ 412

การเดินทางกลับประเทศไทย ของเรือหลวงประแส (ลำที่2)

ในวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2495 กองทัพเรือมีคำสั่งให้ยุบ หมู่เรือฟริเกต (มฟ.) และให้นายทหารประจำเรือหมู่เรือเดินทางกลับ พร้อมเปลี่ยนกำลังพลเรือทั้งสองลำ โดยสหประชาชาติอนุมัติให้เรือหลวงประแส เดินทางมาเปลี่ยนกำลังพลครั้งแรก ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2496 ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมเรือหลวงประแส ในเดือนธันวาคม 2496 จากนั้น เรือเดินทางกลับถึงซาเซโบ ในวันที่ 3 มกราคม 2497 เปลี่ยนกำลังพลครั้งที่ 2 ออกจากโยโกสุกะ ในวันที่ 29 มิถุนายน 2497 และเดินทางกลับถึงซาเซโบ ใน 29 กรกฎาคม 2497 หลังจากที่สงครามเกาหลีใต้ได้ยุติลง ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2497 สถานการณ์อินโดจีนกำลังรุนแรง รัฐบาลไทยจึงมีนโยบายถอนกำลังทหารกลับประเทศไทย ในวันที่ 6 มกราคม 2498 มีคำสั่งกลาโหมให้ถอนกำลัง มส. พร้อมทั้งเรือหลวงประแส และเรือหลวงท่าจีน เดินทางคุ้มกันลำเลียงทหารบกกลับสู่ประเทศไทย*

 เรือหลวงประแส (ลำที่ 2) เมื่อเข้าประจำการในกองทัพเรือ ได้ปฏิบัติหน้าที่ในหลากหลายรูปแบบ เช่น การปฏิบัติการรบในคราบสมุทรเกาหลีต่อจากเรือหลวงประแสลำที่หนึ่ง ปฏิบัติการทางทะเลที่ญี่ปุ่น ปฏิบัติการคุ้มกันเรือบรรทุกน้ำมัน และรักษาอาณาเขต ดินแดนอธิปไตยของประเทศ ด้วยการแล่นลาดตระเวนไปทั่วอ่าวไทย จนกระทั้งในปี พ.ศ.2537 เรือหลวงประแสที่ผ่านการใช้งานมาอย่างยาวนาน ทำให้ตัวเรือมีสภาพเก่าทรุดโทรมไม่คุ้มกับการซ่อมทำ กองทัพเรือจึงได้ปลดประจำการ และนำมาใช้ในการฝึกภาคทางเรือของนักเรียนนายเรือแทน หลังจากนั้นไม่นาน เทศบาลตำบลปากน้ำประแสได้เสนอโครงการก่อสร้างอนุสรณ์เรือหลวงประแส ขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานให้ผู้คนทั่วไปได้ชื่นชมกับความยิ่งใหญ่ในอดีต และเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดระยอง นับแต่นั้นมาเรือหลวงประแสดังกล่าวจึงถูกเคลื่อนย้ายมาตั้งอยู่ในบริเวณปากน้ำประแส จนถึงปัจจุบัน

เรือหลวงประแส ลำที่2 เป็นเรือ ประเภท เรือฟริเกต ชื่อเดิม USS.GALLUP (PF-47) INTERNATIONAL CALLSING  “HSXX” เป็นเรือในชั้น Tacoma CLASS สร้างที่บริษัท CONSOLIDATEC STELL CORPORATION ในอู่ต่อเรือที่เมืองวิลมิงตัน มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา วางกระดูกงูเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2486 ปล่อยลงน้ำเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2486 สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2487 เริ่มประจำการใน ทร.สหรัฐอเมริกา ช่วง พ.ศ. 2487-2488 และ พ.ศ. 2493-2494  ราชนาวีไทยขอซื้อด้วยการช่วยเหลือทางทหารจากสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2494 ที่อู่โยโกสุกะ ประเทศญี่ปุ่น และกลับมาประจำการในสังกัด กองเรือปราบเรือดำน้ำ กองเรือยุทธการ (กปด.กร. ปัจจุบันคือ กองเรือฟริเกต ที่1) เมื่อ พ.ศ. 2498

การปฏิบัติการของเรือหลวงประแส ลำที่ 2

การปฏิบัติการ ครั้งที่ 1 – 6 (11 มกราคม – 31 พฤษภาคม 2495)
ปฏิบัติการคุ้มกันขบวนเรือลำเลียงที่เดินทางไปยังอ่าววอนชาน และซองจิน

การต้อนรับทหารเรือไทย ณ ฐานทัพเรือซาเซโบ sourc fb Prawit Boonmee Bibithkosolvongse

การผลัดเปลี่ยนกำลังพล
ทหารประจำเรือรุ่นที่ 4 ชุดที่ 1 จำนวน 163 คน เดินทางมาถึงฐานทัพเรือซาเซโบ เมื่อ 30 พฤษภาคม 2495 หลังจากที่ได้ดำเนินกรรมวิธีต่าง ๆ แล้วได้ลงประจำเรือ เมื่อ 15 มิถุนายน 2495ทหารประจำเรือรุ่นที่ 4 ชุดที่ 1 จำนวน 163 คน เดินทางมาถึง

การปฏิบัติการ ครั้งที่ 7 – 8 (5 มิถุนายน – 1 กรกฎาคม 2495)
ปฏิบัติการคุ้มกันขบวนเรือลำเลียงที่บริเวณเกาะอูลลัง อ่าววอนชาน และซองจิน

การผลัดเปลี่ยนกำลังพล
กำลังพลรุ่นที่ 2 ชุดที่ 2 จำนวน 70 คน โดยสารรถไฟจากเมืองโยโกฮามา

การปฏิบัติการ ครั้งที่ 9 – 12 (14 พฤษภาคม – 8 พฤศจิกายน 2495)
ปฏิบัติการคุ้มกันเรือลำเลียงเดินทางไปอ่าววอนชาน และซองจิน ระดมยิงฝั่งที่หมายรถไฟ ลาดตระเวณ รักษาการณ์ในอ่าววอนชานเหนือเกาะชิน ด้านใต้บริเวณตะวันออกของแหลมกัลมากัก ลาดตระเวณเหนือเกาะอัง เกาะโย เมืองฮุงนำ คุ้มกันเรือลำเลียงอมภัณฑ์

การเข้าอู่ซ่อมที่ฐานทัพเรือโยโกสุกะ
ใช้เวลาซ่อม 10 สัปดาห์ ค่าซ่อม 40,000 เหรียญสหรัฐฯ

การปฏิบัติการ ครั้งที่ 13 – 14 (27 กุมภาพันธ์ – 8 มีนาคม 2496)
การปฏิบัติการคุ้มกันขบวนเรือลำเลียงไปยังอ่าววอนชาน และคุ้มกันเรือบรรทุกน้ำมัน

การผลัดเปลี่ยนกำลังพล
ผู้บังคับการเรือหลวงประแสคนใหม่ พร้อมด้วยกำลังพล รุ่นที่ 5 ชุดที่ 1 จำนวน 205 คน เดินทางมาผลัดเปลี่ยน แล้วลงประจำเรือ เมื่อ 14 มีนาคม 2496 และรุ่นที่ 5 ชุดที่ 2 จำนวน 214 คน เดินทางมาถึง เมื่อ 20 เมษายน 2496

การปฏิบัติการ ครั้งที่ 15 – 22 (27 มีนาคม – 9 พฤศจิกายน 2496)
ปฏิบัติการคุ้มกันเรือลำเลียงไปส่งยุทธสัมภาระให้กับเรือรบในพื้นที่ปฏิบัติการ ทางฝั่งทะเลด้านตะวันออกของเกาหลีเหนือ คุ้มกันเรือบรรทุกน้ำมันเดินทางไปส่งน้ำมันเชื้อเพลิงให้ หมู่เรือพิฆาต และเรือลาดตระเวณที่กำลังปฏิบัติการอยู่ทางฝั่งตะวันออกของเกาหลีเหนือ คุ้มกันขบวนเรือลำเลียงไปส่งน้ำมันเชื้อเพลิง สรรพาวุธ และพัสดุให้กับกองเรือเฉพาะกิจที่ 77 คุ้มกันเรือบรรทุกน้ำมันไปยังพื้นที่ปฏิบัติการ

การเดินทางกลับมาผลัดเปลี่ยนกำลังพลในไทยครั้งแรก
30 พฤศจิกายน 2496 เรือหลวงประแสออกเดินทางจากฐานทัพเรือซาเซโบ ถึงกรุงเทพฯ เมื่อ 9 ธันวาคม 2496 หลังจากผลัดเปลี่ยนกำลังพลประจำเรือส่วนหนึ่งแล้วก็เดินทางกลับไปเกาหลี ถึงฐานทัพเรือซาเซโบเมื่อ 3 มกราคม 2497

การปฏบัติการ ครั้งที่ 23 – 29 (9 มกราคม – 20 เมษายน 2497)
การปฏิบัติการคุ้มกันเรือบรรทุกน้ำมัน และเรือลำเลียงไปปฏิบัติการในน่านน้ำเกาหลีเหนือ คุ้มกันเรือบรรทุกน้ำมันไปส่งน้ำมันเชื้อเพลิงให้กองเรือเฉพาะกิจที่ 77 คุ้มกันเรือบรรทุกน้ำมันไปส่งน้ำมันเชื้อเพลิงให้เรือรบในพื้นที่ปฏิบัติการ

การเดินทางกลับมาผลัดเปลี่ยนกำลังพลในประเทศไทยครั้งที่ 2

เรือหลวงประแสออกเดินทาง เมื่อ 23 มิถุนายน 2497 ถึงกรุงเทพฯ เมื่อ 5 กรกฎาคม 2497 ผู้บังคับการเรือคนใหม่เข้ารับหน้าที่ ทหารประจำเรือรุ่นที่ 6 ชุดที่ 2 ผลัดเปลี่ยนรับ – ส่งหน้าที่ 20 กรกฎาคม 2497 ออกเดินทางจากประเทศไทย ถึงฐานทัพเรือซาเซโบ เมื่อ 28 กรกฎาคม 2497

การปฏิบัติการ ครั้งที่ 30 – 32 (7 สิงหาคม – 30 กันยายน 2497)
ปฏิบัติการคุ้มกันเรือบรรทุกน้ำมันไปส่งน้ำมันเชื้อเพลิง ให้แก่เรือในพื้นที่ปฏิบัติการ คุ้มกันเรือบรรทุกน้ำมันไปส่งน้ำมันเชื้อเพลิงให้เรือพิฆาตสหรัฐฯ ในน่านน้ำเกาหลีเหนือ

การเดินทางกลับประเทศไทย
เนื่องจากการเจรจาสงบศึกเป็นที่ตกลงกันได้แล้ว และได้มีการลงนามร่วมกันในความตกลงสงบศึก เมื่อ 27 กรกฎาคม 2497 สถานการณ์รบในเกาหลีสงบลงมากแล้ว ชาติพันธมิตรหลายชาติที่ไปร่วมรบในสงครามเกาหลี เริ่มถอนกำลังกลับ ประกอบกับในปลายปี พ.ศ. 2497 สถานการณ์ในอินโดจีนฝรั่งเศสตึงเครียดหนัก มีการสู้รบระหว่างฝรั่งเศสกับเวียดมินห์ และมีทีท่าว่าภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ อาจลุกลามถึงประเทศไทยได้ รัฐบาลไทยจึงมีนโยบายถอนกำลังทหารกลับ โดยได้ปรึกษาหารือกับกองบัญชาการสหประชาชาติ เมื่อได้รับคำยืนยันว่าไม่ขัดข้องแล้ว กระทรวงกลาโหมจึงได้มีคำสั่ง เมื่อ 6 มกราคม 2498 ให้ถอนทหารบางส่วนกลับประเทศไทย

สำหรับกำลังทางเรือกำหนดให้ ถอนกำลัง มส.พร้อมด้วยเรือหลวงท่าจีน เรือหลวงประแส และให้เรือหลวงทั้งสองลำ ทำหน้าที่คุ้มกันเรือลำเลียงทหารบกในระหว่างเดินทางกลับด้วย

วันที่ 21 มกราคม 2498 เรือหลวงทั้งสองลำได้อำลากองเรือสหประชาชาติ ออกเดินทางจากฐานทัพเรือซาเซโบ ไปยังเมืองท่าปูซานเพื่อรับเรือสินค้าอิโกะ ซึ่งลำเลียงกำลังพลทหารไทยผลัดที่ 6 (หย่อน 1 กองร้อย) แล้วทำการคุ้มกันระหว่างเดินทางกลับประเทศไทย ถึงท่าราชวรดิฐเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2498 จากนั้นกำลังพลได้เดินทางไปร่วมพิธีสวนสนาม ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า โดย จอมพล ป.พิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธานในพิธี

หมู่เรือปฏิบัติการร่วมกับสหประชาชาติ (มส.) สิ้นสุดภารกิจ รวมระยะเวลาที่ไปปฏิบัติการ 4 ปี 3 เดือน 18 วัน

คุณลักษณะตัวเรือ
ระวางขับน้ำปกติ 1,430 ตัน เต็มที่ 2,277 ตัน
ความยาวตลอดลำ 306.24 ฟุต หรือ 92.8 เมตร
ความยาวที่แนวน้ำ 288.09 ฟุต หรือ 87.3 เมตร
ความกว้างมากที่สุด 37.64 ฟุต หรือ11.4 เมตร
ความกว้างที่แนวน้ำ 37.29 ฟุต หรือ11.3 เมตร
กินน้ำลึกปกติหัว 9.04 ฟุต หรือ 2.74 เมตร
กินน้ำลึกปกติท้าย 10.06 ฟุต หรือ 3.05 เมตร
กินน้ำลึกเต็มที่หัว 10.56 ฟุต หรือ 3.20 เมตร
กินน้ำลึกเต็มที่หัว 14.52 ฟุต หรือ 4.40 เมตร
กินน้ำลึกที่แนวโดมโซนาร์หัว 16.50 ฟุต หรือ 5.00 เมตร
ความสูงเสา 86.00 ฟุต หรือ 26.06 เมตร
ความสูงปล่อง 34.00 ฟุต หรือ 10.30 เมตร
สมอหัวชนิด จำนวน 2 ตัว หนักตัวละ 2,000 ปอนด์
โซ่สมอแบบมีชื่อ ขนาด 6 นิ้ว ยาว 250 เมตร 10 ท่อน (SCALE) ท่อนละ 25 เมตร (ขวา)
โซ่สมอแบบมีชื่อ ขนาด 6 นิ้ว ยาว 200 เมตร 8 ท่อน (SCALE) ท่อนละ 25 เมตร (ซ้าย)
กว้านสมอไอน้ำแบบกว้านนอนชนิด 2 สูบ,ความเร็ว 30 ฟุต/นาที
รัศมีทำการเมื่อความเร็วสูงสุดต่อเนื่อง 2,704 ไมล์ หรือ 159.09 ซม. เมื่อ 17 น๊อต
ตัวเรือสร้างด้วย MILD STEEL
กงเรือมีทั้งหมด 131 กง
ใบจักรสูงกว่ากระดูกงูเรือ 5 ฟุต

เครื่องมือเดินเรือ
เข็มทิศเรือนเอกแม่เหล็ก KFO TYPE JAPAN เข็มทิศกลางลำเอกแม่เหล็ก THE A.LIETZ CO.,USA. เข็มทิศถือท้ายแม่เหล็ก THE A.LIETZ CO.,USA.เข็มทิศไยโรแบบ SPERRY MK 14 MOD.1 A,1แบบ MK 27,1แบบ C.PLATH,1 REPEATER GYRO MK 15 MOD.O,7 สะพานเดินเรือ 3 เรือนห้องถือท้าย 1 เรือนห้อง SONAR CONTROL1 เรือนห้อง CIC1 เรือนห้องหางเสือ1 เรือนเครื่องถือท้ายแบบ STEERING ที่ห้องถือท้าย 1 เครื่องแบบ STCAM JYDRAURUC ที่ห้องหางเสืออะไหล่ 1 เครื่องเครื่องหาที่เรือดาวเทียม MAXNOVUX 5102 พร้อม PRINTER 1 ชุด ที่ห้องแผนที่ MONITOR 1 เครื่องที่ห้อง

อาวุธประจำเรือ
ปืน 76/50 จำนวน 3 กระบอก ความเร็วในการยิง 15-30 นัด/นาที ระยะยิงไกลสุด 13,350 เมตร หรือ 7.4 ไมล์ หวังผล 6,300 เมตร
ปืน 40/60 จำนวน 2 กระบอก ความเร็วในการยิง 120-150 นัด/นาที ระยะยิงไกลสุด 9,600 เมตร หรือ 5.3 ไมล์ หวังผล 2,000 เมตร
ปืน 20 มม. จำนวน 9 กระบอก ความเร็วในการยิง 450 นัด/นาที ระยะยิงไกลสุด 4,400 เมตร หรือ 2.4 ไมล์ หวังผล 1,000 เมตร
เครื่องควบคุมการยิงของปืน 20 มม. มาศูนย์โยโรแบบ MK-14 MOD 6 , MK6 MOD.0 จำนวน 2 รางปล่อย
แท่นยิงระเบิดลึกแบบ MK.6 MOD – 1 จำนวน 8
แท่นท่อยิงโฮมมิ่งตอร์ปิโด SURFACE LIESSEL MK.32 MOD.0 จำนวน 2 ห่อ
เครื่องยิงอาวุธทางหัว (เฮจฮอก) แบบ MK 11 MOD
เครื่องทำเสียง NIOSE MAKER S MARK 6

เครื่องจักรและหม้อน้ำ
เครื่องจักรไอน้ำแบบข้อเสือข้อต่อ ชนิด ไอ ตัว 3 ครั้ง 4 สูบ สร้างโดย JOSHUA HENDY IRON WORKS จำนวน 2 เครื่อง 2 เพลาใบจักร กำลังสูงสุด 5,500 แรงม้า เมื่อหมุน 180 รอบ/นาทีหม้อน้ำ BABCOCK & WILLCOCK จำนวน 2 หม้อ แบบ THREE DRUM EXPRESS ชนิดน้ำเดินในหลอดน้ำเลี้ยงระดับ ติดไฟใช้ 5.31 ตัน เต็มหม้อ 6.31 ตัน กำลังดันไอสูงสุด 220 ปอนด์/ตร.นิ้ว ใช้การ 200 ปอนด์/ตร.นิ้วที่ยกหรือเปิดลิ้นกันอันตรายอยู่ที่หลังหม้อพักไอ จุดสั่นเมื่อ 110 รอบ/นาที ระยะเลื่อนของลูกสูบ 30 นิ้วใบจักรขนาด 9 ฟุต , PITCH ใบจักร 13 ฟุต 1/6 นิ้ว

เครื่องกำเนิดไฟฟ้า
ชนิดกังหันไอน้ำ ของ WISTING HOUSE 2 เครื่อง ให้กำลังไฟ AC. เครื่องละ 60 KW , 440 V. 3 PHASE, 60 CYCLES , 96 A. DC. เครื่องละ 25 KW , 125 V. ,220 A.ชนิดเครื่องยนต์ดีเซล 4 จังหวะ ของ DETROIT แบบ 8 V.71 2 เครื่อง ให้กำลังไฟเครื่องละ 165 KW. 440 V.AC.,3 PHASE, 60 CYCLES, 258 A. และมี HECTIFIER 115 V.DC. ขนาด 40 KW. จำนวน 2 เครื่อง

เครื่องจักรอื่น ๆ
เครื่องถือท้ายชนิด กำลังดันไฮโดรลิก ขับด้วยไอน้ำ แบบข้อเสือข้อต่อของ WEBSTER BRINKLY ใช้กำลังดัน 200 ปอนด์/ตารางนิ้ว หมุนหันสูงสุด 32 องศาเครื่องอัดลม อัดอากาศได้กำลังดัน 60 ปอนด์/ตารางนิ้วเครื่องกลั่นน้ำ แบบกำลังดันสูง 1 เครื่อง กำลังดันไอน้ำเข้าขดไส้ไก่ 60 ปอนด์/ตารางนิ้ว สร้างโดย HEST TRSNSFER PRODUCT กลั่นได้ ชม. ละ 0.7 ตันเครื่องทำความเย็นในห้องเย็น ขนาด 1 ตัน ความจุห้องเนื้อ 320 ลบ.ฟ ห้องผัก 124 ลบ.ฟ มอเตอร์ระบายอากาศ มีทั้งหมด 34 ตัวเครื่องสูบน้ำดับเพลิงประจำที่ใช้ไอน้ำ จำนวน 4 เครื่อง ใช้มอเตอร์ จำนวน 3 เครื่องเครื่องสูบน้ำดับเพลิงเคลื่อนที่ 2 เครื่อง

น้ำมันเชื้อเพลิง-หล่อลื่น
น้ำมันเตา 10 ถังความจุทั้งหมด 715.894 แกลลอน
น้ำมันดีเซล 3 ถังความจุทั้งหมด 55.290 แกลลอน
น้ำมันแดง 2 ถังความจุทั้งหมด 15,934.00 แกลลอน
น้ำมันดำ 200.00 ลิตร
น้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์ดีเซล (SAE 40)1,000.00 ลิตร
น้ำมันหล่อลื่นเครื่องกังหัน 2,372.00 ลิตร

ขอบคุณข้อมูล และภาพ

  1. กองประวัติศาสตร์ กองทัพเรือ
  2. fb Prawit Boonmee Bibithkosolvongse 
  3. www.thairath.co.th/content/462463

 

 

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *