สมเด็จย่าในความทรงจำของทหารเรือ : น้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณ

วันที่ ๑๘ กรกฎาคม เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่าของปวงชนชาวไทย สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงเป็นพระชายาในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นพระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ ๘ และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ และ ทรงเป็นสมเด็จ   พระอัยยิกาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทร เทพยวรางกูร รัชกาลปัจจุบัน

พระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อประชาชนชาวไทยมีมากมายจนหาที่สุดมิได้ นับตั้งแต่ทรงอภิเษกสมรสกับสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงมีพระวิริยะอุสาหะสูงในการทรงงานเพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าตั้งแต่เหนือสุดจรดใต้สุดตลอดพระชนม์ชีพ

ภาคภูมิใจได้รับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท

นอกเหนือพระราชกรณียกิจอันมากมายนั้นก็คือการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรตามถิ่นทุรกันดาร ตามหัวเมืองชายทะเลของประเทศที่ประสบอัคคีภัย ภัยธรรมชาติทั้ง อุทกภัย วาตภัย รวมไปถึงราษฎรที่ยากไร้ เด็กอนาถา และคนชรา ด้วยน้ำพระทัยที่เปี่ยมไปด้วยพระเมตตา ทรงอุทิศพระวรกายโดยไม่ทรงเห็นแก่เหน็ดเหนื่อย

ในการนี้กองทัพเรือได้มีโอกาสรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทในการเสด็จประพาสทางเรือถึง ๖ ครั้ง

 

พระราชกรณียกิจประการหนึ่งของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี คือการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรตามถิ่นทุรกันดาร ตามหัวเมืองชายทะเลของประเทศไทย

การเสด็จฯ ครั้งแรก สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กองทัพเรือจัดเรือหลวงจันทร (จัน-ทะ-ระ) เป็นเรือพระที่นั่ง เพื่อเสด็จประพาสทางทะเลทอดพระเนตรการเปลี่ยนก๊าซกระโจมไฟของกรมอุทกศาสตร์ทหารเรือ รวมทั้งทรงเยี่ยมราษฎรทางฝั่งตะวันตกของอ่าวไทย ระหว่างวันที่ ๑๑ กรกฎาคมถึงวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๐๗ โดย มี นาวาตรี บรรจง ทรัพย์แสนดี เป็นผู้บังคับการเรือ ซึ่ง ครั้งแรกที่เสด็จ ประพาสหัวเมืองชายทะเลนั้น ได้เสด็จฯ โดยใช้เส้นทาง โรงเรียนนายเรือ – ประจวบคีรีขันธ์ – ชุมพร – สุราษฏร์ธานี – นครศรีธรรมราช – สงขลา – ปัตตานี – ฐานทัพเรือสัตหีบ – โรงเรียนนายเรือ

ครั้งที่ ๒ ระหว่างวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๐ เสด็จทอดพระเนตรการสำรวจแผนที่และเปลี่ยนก๊าซกระโจมไฟของกรมอุทกศาสตร์ทหารเรือ รวมทั้งเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นต่างๆ ตามฝั่งทะเลอันดามัน  โดยมีเรือหลวงจันทร เป็นเรือพระที่นั่ง มี เรือเอก สมบูรณ์  โสมาภา เป็นผู้บังคับการเรือ

ครั้งที ๓ ระหว่างวันที่ ๒๐ ตุลาคม ถึงวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๑๔ เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรบริเวณอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ประกอบด้วย จังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด การเสด็จประพาสในครั้งนี้ นับเป็นปีแรกที่หน่วยแพทย์อาสาสมัครสมเด็จพระราชชนีศรีสังวาลย์ (พอ.สว.) ได้ร่วมตามเสด็จฯ ในการเยี่ยมเยียนราษฎรด้วย โดยมีเรือหลวงจันทร เป็นเรือพระที่นั่ง มี พลเรือตรี วิรัตน์  ศรินทุ เป็น ผู้อำนวยการรับเสด็จฯ และ นาวาโท วิพัฒน์  ภูมิสวัสดิ์ เป็นผู้บังคับการเรือ

ครั้งที่ ๔ ระหว่างวันที่ ๑๗ ตุลาคม ถึงวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๑๘ เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรจังหวัดชายทะเลบริเวณอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ประกอบด้วยจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และตราด โดยมีเรือหลวงจันทร เป็นเรือพระที่นั่ง มี นาวาโทเชษฐ กัลยาณมิตร เป็นผู้บังคับหมู่เรือฯ และผู้บังคับการเรือ

ครั้งที่ ๕ ระหว่างวันที่ ๑๙ ตุลาคม ถึงวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๒๒ เสด็จฯ ทรงเยี่ยมราษฎร ทหาร ตำรวจ และหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ พอ.สว. ในจังหวัดภาคตะวันออก โดยมีเรือหลวงจันทร เป็นเรือพระที่นั่ง มีพลเรือโท วิเชียร  สังกรธนกิจ เป็นผู้บังคับหมู่เรือฯ และ นาวาเอก ชะเอิบ สดับบัณฑิต เป็นผู้บังคับการเรือ

ครั้งที่ ๖ ระหว่างวันที่ ๒๐ ตุลาคม ถึงวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๒๖ เสด็จฯพร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเยี่ยมราษฎร ทหาร ตำรวจ และหน่วยแพทย์ พอ.สว. ในจังหวัดภาคตะวันออก โดยมี เรือหลวงศุกร์ เป็นเรือพระที่นั่ง มี พลเรือโท ธวัชชัย  ตรีเพ็ชร์ เจ้ากรมอุทกศาสตร์ เป็นผู้บังคับการหมู่เรือฯ และ เรือเอก นคร ทนุวงษ์ เป็นผู้บังคับการเรือ

ในโอกาสเสด็จประพาสทางทะเล โดยเรือของกองทัพเรือทั้ง ๖ ครั้งนั้น ข้าราชการและกำลังพลของกองทัพเรือทุกนายที่ตามเสด็จ ต่างชื่นชมในพระราชจริยาวัตรอันงดงามของพระองค์ท่าน ที่ทรงห่วงใย ไต่ถามทุกข์สุขของราษฎรที่มาเฝ้ามาเข้าเฝ้าฯ ด้วยพระพักตร์ที่ยิ้มแย้มแจ่มใสไม่ถือพระองค์ ตลอดการปฏิบัติพระราชภารกิจเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรตามหัวเมืองชายทะเล การเสด็จประทับบนเรือพระราชพาหนะ ทรงปฏิบัติพระองค์เรียบง่ายทรงสนพระราชหฤทัยที่จะสอบถามถึงเรื่องที่เกี่ยวกับทหารเรืออยู่เสมอ เช่นการเดินเรือและดาราศาสตร์ รวมทั้งเข้าร่วมในกิจกรรมและประเพณีทหารเรือ ดังจะเห็นได้จากการที่พระองค์ ทรงเป็นประธานในการทำพิธีข้ามเส้นศูนย์สูตร เมื่อครั้งที่เสด็จประพาสทางทะเล ในภาคใต้ด้านฝั่งตะวันตกของประเทศไทย ในปี พ.ศ.๒๕๑๐

ครั้งหนึ่งในชีวิตนักเรียนนายเรือได้กราบพระบาท ณ ต่างแดน

“ขอให้ตั้งใจฝึกหัด ศึกษาให้ดี และผลดีจะตอบสนองเอง” พระราชดำรัสในพระบรมราชชนนี ต่อ นักเรียนนายเรือ ่ขณะทรงเยี่ยมชมเรือหลวงแม่กลอง ขณะจอดทอดสมอ ณ ประเทศสิงคโปร์ เมื่อ ๑๑ มีนาคม๒๕๑๐

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นต่อนักเรียนนายเรือ ที่ได้มีโอกาสรับเสด็จสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชมเรือหลวงแม่กลอง เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๑๐ ครั้งที่จอดทอดสมออยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ ในขณะเยี่ยมชมเรือแม่กลอง พระองค์ท่านทรงมีรับสั่งพระราชทานกำลังใจแก่นักเรียนนายเรือว่า”ขอให้ตั้งใจฝึกหัด ศึกษาให้ดี และผลดีจะตอบสนองเอง” และในการนี้ยังทรงเล่าว่า “สมเด็จพระราชบิดาทรงลำบากมากขณะที่เป็นนักเรียนนายเรือเยอรมัน ต้องทำงานหนัก ต้องขนถ่านหิน และต่อสู้คลื่นลมที่รุนแรงตลอดเวลา” และก่อนเสด็จฯ กลับทรงฉายพระฉายาลักษณ์ร่วมกับนักเรียนนายเรือและทหารประจำเรืออีกด้วย การเสด็จฯ เยี่ยมเรือหลวงแม่กลอง ครั้งนี้ได้ยังความปลาบปลื้ม และซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นแก่นักเรียนนายเรือ และทหารประจำเรือหลวงแม่กลองทุกคน

นอกจากพระราชภารกิจที่ทรงปฏิบัติแล้ว สมเด็จย่ายังทรงพระเมตตา ห่วงใยทุกข์สุข ในเรื่องอาหารการกิน และสภาพความเป็นอยู่ของทหารชั้นผู้น้อยอยู่เสมอ นายทหารประจำเรือหลายนาย เมื่อถึงวาระได้รับการเลื่อนชั้นยศสูงขึ้น พระองค์ก็ทรงรับเป็นประธานพิธีประดับยศให้ สมเด็จย่าได้พระราชทานพระบรมสาทิสลักษณ์ของที่ระลึกที่ทรงประดิษฐ์ด้วยพระองค์เอง และเงินพระราชทานเพื่อใช้เป็นสวัสดิการแก่เรือพระราชพาหนะที่รับเสด็จ ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น และเป็นความปลาบปลื้มแก่ผู้ที่ได้มีโอกาสรับใช้ ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท อย่างมิรู้ลืม

 

 

“เรือหลวงจันทร” เรือลำแรกที่ทันสมัยที่สุดของประเทศ ที่ทหารเรือใช้สำหรับการสำรวจแผนที่ทางทะเลของประเทศไทย ตัวเรือมีความยาวตลอดลำ 69.85 เมตร กินน้ำลึก 3.2 เมตร ระวางขับน้ำ 900 ตัน

***เรือหลวงจันทรนั้น เป็นเรือสำรวจแผนที่ทะเล ที่กองทัพเรือสั่งต่อจากเยอรมนี ตัวเรือมีความยาวตลอดลำ 69.85 เมตร กินน้ำลึก 3.2 เมตร ระวางขับน้ำ 900 ตัน บริเวณพระราชฐานภายในเรือที่จัดแบ่งเป็นห้องประทับ ได้จัดแบ่งพื้นที่ย่อยเป็นห้องทรงพระสำราญ ห้องทรงงาน ห้องบรรทม มีหน้าต่างช่องกระจกรอบห้อง และมีฝาทึบบังแสง เลื่อนปิด – เปิดได้

ขอบคุณข้อมูล/ภาพ จาก กรมอุทกศาสตร์ทหารเรือ

 

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *