วันอาภากร : ๑๙ พฤษภาคม

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ ๒๘ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าจอมมารดาโหมด (ธิดาของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์) ประสูติเมื่อ วันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๒๓ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๔๖๖ ขณะทรงมีพระชนมายุ ๔๓ พรรษา

ด้วยพระกรณียะกิจตลอดระยะเวลาที่ทรงรับราชการทหารเรือส่งผลให้กิจการทหารเรือมีความเจริญก้าวหน้า สามารถทำหน้าที่รั้วของชาติทางทะเลได้อย่างเข้มแข็งสืบต่อมาจนปัจจุบัน ซึ่งนับเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอเนกอนันต์ยิ่ง กองทัพเรือจึงได้ประกาศถวายสมัญญานามพระองค์ ว่า  “องค์บิดาของทหารเรือไทย” และได้กำหนดให้                      วันที่ ๑๙ พฤษภาคมของทุกปี เป็น “วันอาภากร”

ทรงเครื่องแบบนักเรียนนายเรือไทย ทรงฉายประมาณ กันยายน ๒๔๔๐

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงมีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ทรงมีพระขนิษฐา และพระอนุชาร่วมพระมารดาเดียวกันสอง พระองค์ คือ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงอรองค์อรรคยุพา และพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าสุริยงประยุรพันธุ์ กรมหมื่นไชยาศรีสุริโยภาส ทรงเสกสมรสกับหม่อมเจ้าหญิงทิพย์สัมพันธ์ (หม่อมเจ้าหญิงทิพย์สัมพันธวงษ์)     พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช

เจ้าจอมมารดาโหมดและพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์

เมื่อครั้งทรงเยาว์วัย พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ทรงรับการศึกษาเบื้องต้นในพระบรมมหาราชวังโดยมีพระศรีสุนทรโวหาร พระยาอิศรพันธ์ โสภณ (หม่อมราชวงศ์หนู อิศรางกูร) เป็นพระอาจารย์ และนายโรเบิร์ด โมแรนท์ เป็นพระอาจารย์สอนภาษาอังกฤษ ต่อมาภายหลังทรงเข้าศึกษา ณ โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ

พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๕ ขณะทรงศึกษาในต่างประเทศ ๑. พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร ๒. พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ ๓. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ๔. พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ๕. สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ ๖. สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงศภูวนาถ

 

ปีมะเส็งพุทธศักราช ๒๔๓๖ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์พระชนม์มายุย่าง ๑๓ พรรษา เป็นช่วงเวลาที่ประเทศสยามต้องเผชิญกับวิกฤตเหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒ ( Franco-Siamese War หรือสงครามฝรั่งเศส-สยาม) จากเหตุการณ์ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกระแสว่ากิจการของทหารเรือที่อาศัยชาวต่างชาติ

รศ.๑๑๒ เรือรบฝรั่งเศสบุกเข้าถึงพระนคร

เข้ามาประจำตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ นั้น ไม่อาจที่จะหวังในด้านการรักษาอธิปไตยของชาติได้ดีเท่ากับคนไทยเอง จึงทรงให้จัดการศึกษาแก่ทหารเรือไทยให้มีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะรับตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ ในเรือแทนชาวต่างชาติที่จ้างไว้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระราชโอรส หลายพระองค์ไปศึกษาวิชาการทหารยังประเทศมหาอำนาจทางตะวันตก โดยพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ได้ไปทรงศึกษาวิชาการทหารเรือ ณ ประเทศอังกฤษ พร้อมกับ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นทรงพระยศเป็น สมเด็จเจ้าฟ้าชายมหาวชิราวุธ ทั้งสองพระองค์ได้ศึกษาวิชาการเบื้องต้นร่วมกันจนถึงสมัยเมื่อจะทรงศึกษาวิชาการเฉพาะพระองค์ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์จึงได้ทรงแยกไปศึกษาวิชาการทหารเรือ จึงนับว่่าพระองค์เป็นพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์แรกที่ได้ทรงศึกษาวิชาการทหารเรือ ณ ต่างประเทศ

ตลอดระยะเวลาที่พระองค์ทรงศึกษาอยู่นั้น ได้มีพระวิริยะอุตสาหะจนผลการศึกษาปรากฏอยู่ในขั้นดีเยี่ยม และมีพระจริยวัตรที่งดงามเป็นที่รักใคร่ของ ครู อาจารย์ เป็นที่ยอมรับนับถือของชาวอังกฤษที่ได้ศึกษาอยู่ในคราวเดียวกัน

พระองค์เจ้าอาภากรฯ (ประทับพื้น) กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และนายทหารเรืออังกฤษ

เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปเป็นครั้งแรกในพ.ศ. ๒๔๔๐ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ยังทรงเป็นนักเรียนนายเรืออยู่ที่ประเทศอังกฤษ ได้ทรงแสดงความสามารถในการเดินเรือ โดยขออนุญาตออกมารับเสด็จพระบรมชนกนาถ โดยได้ทรงเข้าร่วมกระบวนเสด็จที่เกาะลังกา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการตำแหน่งนักเรียนนายเรือ ในเรือพระที่นั่งมหาจักรี ภายในการบังคับบัญชาของกัปตันเรือพระที่นั่ง ในครั้งนั้นพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ถือท้ายเรือพระที่นั่งมหาจักรีด้วยพระองค์เอง แสดงความสามารถให้ปรากฏแก่พระเนตรพระกรรณ พระบรมราชชนกจึงโปรดเกล้าฯ ให้ทรงศึกษาวิชาการทหารเรือโรงเรียนนายเรืออังกฤษต่อไป ทรงเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนนายเรือแห่งอังกฤษ ต่อจากนั้นทรงศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยทหารเรือ โรงเรียนปืนใหญ่ โรงเรียนตอร์ปิโด และทรงสอบผ่านหลักสูตรชั้นสูงสุดของโรงเรียนนายเรืออังกฤษ นับเวลาที่ทรงศึกษาอยู่ในราชนาวีอังกฤษ ๖ ปีเศษจึงได้เสด็จกลับประเทศไทยโดยทางเรือ

ต่อมาพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ได้เสด็จลงเรือเมล์เยอรมันที่เมืองเยนัว วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๔๔๓ เสด็จพักแรมที่สิงค์โปร์หนึ่งคืนแล้วจึงเสด็จออกสิงคโปร์โดยเรือเมล์เช่นเดียวกันถึงปากน้ำเจ้าพระยาจังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา ออกไปคอยรับเสด็จที่สมุทรปราการแล้วประทับรถไฟสายปากน้ำจากสมุทรปราการเข้ามายังพระนคร

 

เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาเป็นนายทหารสัญญาบัตรในราชนาวีอังกฤษแล้วได้เสด็จกลับเข้ารับราชการ ในกระทรวงทหารเรือ ในปีพุทธศักราช ๒๔๔๓ รับพระราชทานยศเป็น “นายเรือโทผู้บังคับการ” ในตำแหน่ง นายธงผู้บัญชาการกรมทหารเรือ

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงฉายในปี พ.ศ. ๒๔๕๐

ในปี พ.ศ. ๒๔๔๗ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม “กรมหมื่นชุมพรเขตร์อุดมศักดิ์” ดำรงตำแหน่ง รองผู้บัญชาการกรมทหารเรือ และทรงดำรงตำแหน่ง เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ พระองค์ได้ทรงแก้ไขและปรับปรุงระเบียบของโรงเรียนนายเรือ และทรงริเริ่มการใช้ ระบบการปกครองบังคับบัญชา ตามระเบียบการปกครองในเรือรบ คือการแบ่งให้นักเรียนชั้นสูง บังคับบัญชารองลงมา ทรงเป็นพระอาจารย์ของนักเรียนนายเรือ ทรงจัดเพิ่มเติมวิชาสำคัญสำหรับทหารเรือ เพื่อให้เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว สามารถเดินเรือทางไกลในทะเลน้ำลึกได้ คือวิชา ดาราศาสตร์ ตรีโกณมิติ พีชคณิต การเดินเรือเรขาคณิต และ อุทกศาสตร์ ทรงปรับปรุงการศึกษาของโรงเรียนนายเรือให้เจริญก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้ทหารเรือไทยมีความรู้ ความชำนาญ สามารถเป็นครู และเป็นผู้บังคับบัญชาได้โดยไม่ต้องพึ่งพาชาวต่างประเทศ

ปีพุทธศักราช ๒๔๔๘ ทรงดำรงตำแหน่ง เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ ได้ทรงปรับปรุงการศึกษาของโรงเรียนนายเรือให้เจริญก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้ทหารเรือไทยมีความรู้ ความชำนาญ สามารถเป็นครู และเป็นผู้บังคับบัญชาได้โดยไม่ต้องพึ่งพาชาวต่างประเทศ ในปีต่อมาทรงมีพระดำริ ในการจัดตั้งโรงเรียนนายช่างกล เพื่อรับผิดชอบเครื่องจักรในเรือ และในโรงงานบนบกแทนชาวต่างประเทศที่จ้างไว้

ทรงพัฒนากิจการทหารเรือเจริญรุดหน้าเป็นอย่างมาก จนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นความสำคัญและโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชวังเดิมให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๙ ทำให้กิจการทหารเรือมีรากฐานมั่นคงสืบมาจนปัจจุบัน

ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๔๕๐ ทรงเป็นผู้บังคับการเรือหลวงมกุฎราชกุมารนำนักเรียนนายเรือ และนักเรียนนายช่างกล ไปฝึกภาคต่างประเทศ ได้ทรงนำเรือแวะที่สิงคโปร์และเปลี่ยนสีเรือมกุฎราชกุมารจากสีขาวเป็นสีหมอกให้เหมือนกับเรือรบต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความกลมกลืนกับลักษณะของสีน้ำทะเล และภูมิประเทศ ซึ่งกองทัพเรือได้นำสีดังกล่าวมาใช้เป็นสีเรือทุกลำของกองทัพเรือตราบจนปัจจุบัน

ในปีพุทธศักราช ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเห็นความสำคัญของกิจการทหารเรือ จึงได้ทรงยกฐานะกรมทหารเรือเป็นกระทรวงทหารเรือ  และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จในกรมฯ ทรงดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ และในปีต่อมาทรงออกจากประจำการชั่วระยะเวลาหนึ่ง ทรงใช้เวลาศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณอย่างจริงจัง

ด้านการแพทย์แผนโบราณของไทย พระองค์ทรงศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง ทรงเขียนตำรายาแผนโบราณลงในสมุดข่อยด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เองโดยทรงตั้ง ชื่อตำรายาเล่มนี้ว่า “พระคัมภีร์อติสาระวรรคโบราณะกรรมและปัจจุบันนะกรรม” นอกจากนั้นยังได้ทรงรักษาโรคภัยไข้เจ็บแก่คนทั่วไปโดยไม่เลือกคนจนหรือคนมี และมิได้คิดค่ารักษาหรือค่ายาแต่อย่างใด จนเป็นที่นับถือของบุคคลทั่วไป และถวายพระนามพระองค์ท่านว่า “หมอพร”

หมอพร

ครั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ สยามเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นชุมพรเขตร์อุดมศักดิ์ เสด็จกลับเข้ารับราชการในตำแหน่ง เจ้ากรมจเรทหารเรือ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือ ในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ต่อ พ.ศ. ๒๔๖๒ ทรงได้รับแต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงพิเศษออกไปจัดหาซื้อเรือในภาคพื้นยุโรป โดยเรือที่จะจัดซื้อนี้ได้รับพระราชทานนามว่า “เรือหลวงพระร่วง*” ทรงเป็นผู้บังคับการเรือ นำเรือหลวงพระร่วงแล่นข้ามทวีปจากประเทศอังกฤษเข้ามายังกรุงเทพมหานครด้วยพระองค์เอง ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่นายทหารเรือไทยเดินเรือได้ไกลข้ามทวีป  ทรงกำหนดเส้นทาง และทรงนำเรือกลับโดยพระองค์เอง โดยออกเดินทางจากประเทศอังกฤษในวันที่ ๒๐ กรกาคม ๒๔๖๓ ถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยาในวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๔๖๓ รวมเวลาประมาณ ๙๐ วัน ซึ่งในเวลานั้นเทคโนโลยีที่จะช่วยในการเดินเรือ มีเพียงเรดาร์ และเครื่องวิทยุสำหรับติดต่อราชการ การนำเรือหลวงกลับด้วยพระองค์เป็นพระอัจฉริยภาพโดยแท้จริง

ทรงฉายเมื่อครั้งเสด็จไปรับเรือหลวงพระร่วง

 

นอกจากนี้ยังทรงจัดตั้งกองการบินทหารเรือ ทรงเปลี่ยนสีเรือรบของทหารเรือจากสีขาวเป็นสีหมอกให้เหมือนกับเรือรบต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความกลมกลืนกับลักษณะของสีน้ำทะเลและภูมิประเทศ ซึ่งกองทัพเรือได้นำสีดังกล่าวมาใช้เป็นสีเรือทุกลำของกองทัพเรือตราบจนปัจจุบัน

เรือหลวงพระร่วง ลำที่๑

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๓ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระอิสริยศพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตร์อุดมศักดิ์ ขึ้นเป็นกรมหลวงมีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ สิงหนาม

ด้วยทรงเป็นนักยุทธศาสตร์ที่เล็งเห็นการณ์ไกล ในเวลาต่อมาจึงทูลเกล้าพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่๖ ขอพระราชทานที่ดินบริเวณอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานที่ดินที่สัตหีบให้แก่กองทัพเรือเมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ.๒๔๖๕ เพื่อใช้เป็นที่ตั้งฐานทัพเรือ และหน่วยกำลังรบต่าง ๆ ของกองทัพเรือ ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งมาจนถึงปัจจุบัน

พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่๖ ณ อ.สัตหีบ จว.ชลบุรี

เมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๖ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง พลเรือเอก เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ ก่อนจะกราบบังคมทูลออกจากราชการ เสด็จไปประทับที่ชายทะเลหาดทรายรี ทางใต้ของปากน้ำเมืองชุมพร และสิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคไข้หวัดใหญ่เนื่องจากถูกฝน ที่ ต.หาดทรายรี อ.เมือง จ.ชุมพร เมื่อ ๑๙ พฤษภาคม ๒๔๖๖ สิริพระชนมายุ ๔๓ พรรษา

ด้วยพระกรณียะกิจตลอดระยะเวลาที่ทรงรับราชการทหารเรือ ส่งผลให้กิจการทหารเรือ มีความเจริญก้าวหน้า สามารถทำหน้าที่รั้วของชาติทางทะเลได้อย่างเข้มแข็งสืบต่อมา ซึ่งนับเป็นสิ่งที่มีคุณค่ายิ่ง กองทัพเรือจึงได้ประกาศขนานพระนามเป็น “องค์บิดาของทหารเรือไทย” และได้กำหนดให้วันที่ ๑๙ พฤษภาคมของทุกปี เป็น “วันอาภากร”

พระกรณียะกิจด้านทหารเรือโดยสรุป

ในปี พ.ศ. ๒๔๔๓

  •  ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการทหารเรือจากประเทศอังกฤษ
  •  ทรงดำรงพระอิสริยศนายเรือโทผู้บังคับการ ตำแหน่งนายธงของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์   ศิลปาคม (ผู้บัญชาการกรมทหารเรือ)
  •  ทรงริเริ่มกำหนดแบบสัญญาณสองมือและโคมไฟ การฝึกพลอาณัติสัญญาณ  (ทัศน สัญญาณ)

พ.ศ.๒๔๔๕

  •  ทรงจัดตั้งหน่วยฝึกพลทหารที่บางพระ จังหวัดชลบุรี
  •  ทรงจัดระเบียบราชการกรมทหารเรือ

พ.ศ. ๒๔๔๘

  •  ทรงริเริ่มจัดทำโครงการป้องกันประเทศทางทะเล และทรงปรับปรุงกิจการทหารเรือ    สยามให้อยู่ในระดับมาตรฐานสากล
  •  ทรงขอพระราชทานที่ดินเพื่อการจัดตั้งโรงเรียนนายเรือที่พระราชวังเดิม ฝั่งธนบุรี ทรงฝึกสอนทหารเรือด้วยพระองค์เองและทรงปรับปรุงหลักสูตรโรงเรียนนายเรือ

พ.ศ. ๒๔๔๙

  •  ทรงนำนักเรียนนายเรือทั้งหมดไปฝึกหัดทางทะเล บริเวณภาคตะวันออกของอ่าวไทยจนถึงจังหวัดจันทบุรีพ.ศ. ๒๔๕๐
  •  ทรงนำนักเรียนนายเรือและนักเรียนนายช่างกลไปฝึกทางทะเล นำเรือไทยบังคับการโดยคนไทยไปถึงต่างแดน เช่น สิงคโปร์ ปัตตาเวีย ชวา และเกาะบิลลิตัน (ประเทศฟิลิปปินส์) ได้สำเร็จเป็นครั้งแรก

พ.ศ. ๒๔๖๐

  •   ทรงดำรงตำแหน่งนายพลเรือโท เสนาธิการทหารเรือ

พ.ศ. ๒๔๖๑

  •   ทรงดำรงตำแหน่งเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ
  •   ประเทศไทยเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ ๑
  •   ทรงดำริให้มีการสร้างฐานทัพเรือที่สัตหีบ จังหวัดชลบุรี การจัดตั้งกองกำลังอากาศนาวี ซึ่งชาวนักบินนาวีถือว่า ทรงเป็นพระบิดาแห่งการบินนาวี
  •   ทรงทำหน้าที่ข้าหลวงพิเศษดำเนินการสรรหาซื้อเรือรบ ณ ประเทศอังกฤษ ทรงนำเรือรบที่จัดซื้อนั้นเดินทางกลับถึงประเทศ และเข้าประจำการในกองทัพเรือชื่อ เรือหลวงพระร่วง เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๓

พ.ศ.๒๔๖๓

  •  ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหลวงและทรงได้รับพระราชทานยศพลเรือเอก

พ.ศ.๒๔๖๖

  •  ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ
  •  ทรงลาออกจากราชการเสด็จไปประทับ ณ ชายทะเลหาดทรายรี จังหวัดชุมพร จนถึงช่วงปลายแห่งพระชนม์ชีพ

งานอดิเรก

ทรงสนพระทัยใน กีฬามวยและ กระบี่กระบอง กีฬาแล่นใบในทะเล ก็นับว่าทรงโปรดมากที่สุด

ในด้านการดนตรี ก็ทรงมีความสามารถชำนาญทาง ดนตรีดีดสีตีเป่า ทั้งดนตรีไทยและดนตรีสากล การขับร้อง เพลงไทย ทั้งยังทรงนิพนธ์บทเพลงเองก็มี โดยเฉพาะบทเพลงที่ทรงนิพนธ์เกี่ยวกับวิชาทหารเรือนั้น มีสาระสำคัญในการปลุกใจให้เข้มแข็ง ส่งเสริมกำลังใจให้มีความรักชาติ รักหน้าที่ รักเกียรติ รักวินัย รักหมู่คณะ และให้เกิดความมุมานะ กล้าตายไม่เสียดายชีวิตในยามศึก บทเพลงชองพระองค์ท่านนั้นเป็นที่จับใจของผู้ฟัง โดยเฉพาะผู้ที่เป็นทหารเรือ แม้ปัจจุบันจะมีเพลงที่แต่งขึ้นใหม่ อีกหลายเพลงใน ทำนองเดียว กันนี้ แต่หาได้เป็นที่ซาบซึ้งในอย่างเพลงของพระองค์ท่านไม่ ฉะนั้น จึงได้จดจำ และร้องต่อ ๆ กันมาจนกลายเป็นเพลงประจำของทหารเรือและบรรดาทหารเรือทั้งหลายก็รับไว้เป็น อนุสรณ์แห่งพระองค์ท่านโดยเฉพาะ ” เพลงดอกประดู่ ” และเพลง ” เกิดมาทั้งที

 

*เรือหลวงพระร่วง เป็น เรือพิฆาตตอร์ปิโด้ จากสหราชอาณาจักร มีชื่อเดิมว่า เรเดียนท์ เป็นเรือของอังกฤษ เคยใช้รบในสงครามโลกครั้งที่ ๑ สร้างที่ บริษัท ทอร์นิครอฟท์ เมืองเซาธัมพ์ตัน สหราชอาณาจักร เมื่อกุมภาพันธ์ ๒๔๖๐ มีระวางขับน้ำ ๑๐๔๖ ตัน, ความเร็ว ๓๕ นอต, อาวุธประจําเรือ ได้แก่ ปืนใหญ่ขนาด ๑๐๒ มิลลิเมตร จํานวน ๓ กระบอก ปืนใหญ่ขนาด ๗๖ มิลลิเมตร จํานวน ๑ กระบอก ปืนขนาด ๔๐ มิลลิเมตร จํานวน ๒ กระบอก ปืนขนาด ๒๐ มิลลิเมตร จํานวน ๒ กระบอก ตอร์ปิโด ๒๑ นิ้ว จํานวน ๔ ท่อ รางปล่อยระเบิดลึกและแท่นยิงระเบิดลึก จํานวน ๒ แท่น และกําลังพลประจําเรือ ๑๓๕ นาย ถือว่าเป็นเรือรบที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในสมัยนั้น (ที่มา : ๗ ต.ค.๒๔๖๓ เรือหลวงพระร่วง เรือรบลำแรกของไทยมาถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_39883)

 

อ้างอิง http://bus.rmutp.ac.th/

 

 

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *