วันมหิดล : เจ้าฟ้าทหารเรือ

วันมหิดล ตรงกับวันที่ 24 กันยายนของทุกปี เป็นวันคล้ายวันทิวงคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระราชโอรสองค์ที่ 69 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และองค์ที่ 7 ใน สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และทรงเป็นพระอนุชาในพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

ขอบคุณภาพจากเพจ ฉายานิทรรศ์

 

 

 

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงเป็น พระบรมราชชนกในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรและพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และทรงเป็นต้นราชสกุล “มหิดล”

 

 

ประชาชนโดยทั่วไปมักคุ้นเคยกับพระนามว่า “กรมหลวงสงขลานครินทร์” หรือ “พระราชบิดา” และบางครั้งก็ปรากฏพระนามว่า “เจ้าฟ้าทหารเรือ” และ “พระประทีปแห่งการอนุรักษ์สัตว์น้ำของไทย” ส่วนชาวต่างประเทศขานพระนามว่า “เจ้าฟ้ามหิดล

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงมีคุณูปการแก่กิจการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของประเทศไทยเป็นอย่างมาก หลังจากทรงกราบถวายบังคมลาพระเชษฐา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่6 ออกจากทหารเรือ  ตั้งแต่วันที่  20 มกราคม  2458

ในปี พ.ศ. 2460 สมเด็จพระบรมราชชนกได้เสด็จเข้าศึกษาวิชาสาธารณสุขที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่นั้น พระองค์ทรงได้พระราชทานทุนให้แก่นักเรียนแพทย์ ไปศึกษาที่สหรัฐอเมริกาจำนวน 2 ทุน ซึ่งทางโรงเรียนแพทย์ได้คัดเลือกออกมา ปรากฏว่าได้นักเรียนพยาบาลมา 2 คน คือ นางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ (ต่อมาคือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) และนางอุบล ปาลกะวงษ์ ณ อยุธยา (ลิปิธรรม ศรีพยัฆต์) สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงดูแลเอาใจใส่นักเรียนทั้ง สองของพระองค์อย่างดี ทั้งทรงแนะนำวิธีการดำเนินชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีของต่างประเทศ และมีรับสั่งเตือนสติเสมอว่า

“เงินที่ฉันได้ใช้ออกมาเรียน หรือให้พวกเธอออกมาเรียนนี้ไม่ใช่เงินของฉัน แต่เป็นเงินของราษฏรเขาจ้างให้ออกมาเรียน ฉะนั้นเธอต้องตั้งใจเรียนให้ดี ให้สำเร็จเพื่อจะได้กลับไปทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ และขอให้ประหยัดใช้เงิน เพื่อฉันจะได้มีเงินเหลือไว้ช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป”

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงสำเร็จการศึกษาได้ปริญญาแพทยศาสตร์ เกียรตินิยมระดับ Cum Laude เมื่อปี พ.ศ. 2471 ได้รับการถวายพระสมัญญาภิไธยจากแพทย์และประชาชนทั่วไปว่า “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย” เมื่อเสด็จกลับมาเมืองไทยก็พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อทรงทำนุบำรุงโรงเรียนราชแพทยาลัย โรงพยาบาลศิริราชให้ทันสมัยทัดเทียมกับอารยประเทศ โดยส่งแพทย์ พยาบาล ไปศึกษาต่อต่างประเทศ ในสาขาที่เกี่ยวกับการแพทย์ พระองค์ได้ทรงพระราชทาน สร้างอาคารเรียนกับหอพักผู้ป่วยบริเวณโรงพยาบาลศริราช ทรงเป็นผู้แทนรัฐบาลไทยในการเจรจากับมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ให้มาช่วยเหลือการแพทย์ของไทยเป็นการวางรากฐานให้การแพทย์ของไทยเจริญรุ่งเรืองทัดเทียมอารยประเทศในปัจจุบัน มาทรงเปลี่ยนพระราชหฤทัยจากจะทรงทำงานในโรงพยาบาลศิริราช มาเป็นเสด็จไปทรงงานที่โรงพยาบาลแมคคอร์มิค จังหวัดเชียงใหม่ พระองค์มีความเอาใจใส่ในการรักษาประชาชนอย่างมาก ชาวเมืองเชียงใหม่จึงขนานพระนามของพระองค์ว่า “หมอเจ้าฟ้า

นอกเหนือจากพระราชกรณียกิจที่ได้ทรงบำเพ็ญแก่วงการแพทย์ และการสาธารณสุขแล้ว พระองค์ยังทรงมีคุณูปการแก่กองทัพเรืออย่างใหญ่หลวง ถึงแม้พระองค์ทรงเข้ารับราชการในกองทัพเรือเป็นระยะเวลาไม่นานนัก แต่ทรงเป็นนายทหารเชี่ยวชาญทางเรือดำน้ำ และเรือตอร์ปิโดรักษาฝั่งซึ่งทรงศึกษามาจากประเทศเยอรมัน และทรงสนพระทัยอย่างยิ่ง ที่พระตำหนักเต็มไปด้วยแบบจำลองเรือรบแบบต่างๆ ที่ทำด้วยไม้

ด้วยสายพระเนตรอันกว้างไกลและความที่ทรงเชี่ยวชาญทางเรือดำน้ำและเรือตอร์ปิโดรักษาฝั่ง จึงทรงจัดทำโครงการเกี่ยวกับเรือดำน้ำไว้  ถึงแม้จะไม่ได้ดังพระประสงค์ในช่วงเวลานั้น แต่อีก 20 ปีต่อมา กองทัพเรือก็ได้สั่งต่อเรือดำน้ำจำนวน 4 ลำ คือ เรือหลวงมัจฉาณุ เรือหลวงวิรุณ เรือหลวงสินสมุทร และเรือหลวงพลายชุมพล นอกจากเรื่องเรือดำน้ำ พระองค์ยังได้ทรงร่างโครงการสร้างกำลังทางเรือทั้งกองทัพไว้อีกด้วย จึงทำให้เกิดการสร้างกำลังรบทางเรือไว้ป้องกันประเทศชาติในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งการมีเรือดำน้ำและเรือรบประเภทต่าง ๆนั้นทำให้ประเทศไทยสามารถป้องกันและรักษา ผลประโยชน์ของชาติทางทะเลได้อย่างมีศักยภาพ และรักษาสันติสุขของชาติไว้ได้อย่างมั่นคง ดั่งที่ทหารเรือทั่วโลกในเวลานี้ต่างก็เล็งเห็นถึงความสำคัญ

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ต่อกิจการทหารเรือ จึงถือว่าใน “วันมหิดล” เป็นวันที่กองทัพเรือจะร่วมรำลึกถึง จอมพลเรือ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นประจำทุกปี

**กำเนิดเจ้าฟ้าทหารเรือ ในช่วง ร.ศ.112 ลัทธิล่าอาณานิคมของชาวตะวันตกเริ่มแผ่ขยายมายังสยาม ทำให้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องพัฒนากิจการทหารเรืออย่างเร่งด่วน ต้องรีบการสร้างคนไทยให้มีความรู้ความสามารถเข้าแทนที่ชาวตะวันตกในกองทัพเรือ เพื่อการนี้พระองค์ได้ทรงส่งพระราชโอรสหลายพระองค์ให้ศึกษาต่อยังประเทศตะวันตกเพื่อให้รู้เท่าทัน

 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงส่งสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ ให้ทรงเข้ารับศึกษาวิชาการทหารเรือที่เยอรมัน โดยเริ่มแรกทรงเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยพิเศษที่โรงเรียนนายร้อยพิเศษทหารบก แต่ต่อมาพระองค์ได้เปลี่ยนไปศึกษาวิชาทหารเรือแทนวิชาทหารบกที่ได้ศึกษามาก่อนหน้านี้ เนื่องจากกองทัพสยามในสมัยนั้นยังขาดแคลนนายทหารเรือที่มีความรู้ความสามารถจำนวนมาก พระองค์เข้าศึกษาวิชาทหารเรือ ณ โรงเรียนนายเรือเฟลนส์บูร์ก มุรวิก (Marineschule Flensburg Mürwik) โดยเป็นนักเรียนนายเรือเยอรมันรุ่น 2455 (CREW 1912) และสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรด้วยผลการศึกษาขั้นดีเยี่ยมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ต่อมาเมื่อทรงสำเร็จวิชาการทหารเรือ ทรงสอบได้เป็นที่1 และในปีสุดท้ายของการศึกษาทรงชนะการประกวด การออกแบบเรือดำน้ำ ทรงได้รับพระราชทานยศนายเรือตรีแห่งราชนาวีสยามจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และยศนายเรือตรีแห่งจักรวรรดินาวีเยอรมันจากสมเด็จพระจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 แห่งเยอรมนี

ระหว่างเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้ทรงปฏิบัติการรบร่วมกับกองทัพเรือเยอรมันตามข้อบังคับของเยอรมันชาวต่างชาติที่ศึกษาวิชาทหารประเทศเยอรมันหากเกิดสงครามจะต้องเข้าร่วมรบเว้นแต่สงครามนั้นได้กระทำต่อประเทศของนักศึกษาต่างชาตินั้น ต่อมาเสด็จกลับประเทศไทยทรงรับราชการในกระทรวงทหารเรือเป็นนายเรือโท ตั้งแต่เดือนเมษายน จนถึงเดือนมกราคม พ.ศ.๒๔๕๘ เป็นเวลาทั้งสิ้น ๙ เดือนครึ่ง ถึงแม้พระองค์ทรงเข้ารับราชการในกองทัพเรือเป็นระยะเวลาไม่นานนัก แต่ทรงเชี่ยวชาญทางเรือดำน้ำและเรือตอร์ปิโดรักษาฝั่ง และด้วยสายพระเนตรอันกว้างไกลพระองค์ได้ทรงเสนอ แนวคิด และโครงการสร้างกองเรือรบที่กองทัพเรือไทย ควรจะมีไว้ประจำการต่อเสนาธิการทหารเรือ จึงทำให้เกิดการสร้างกำลังรบทางเรือไว้ป้องกันประเทศชาติในเวลาต่อมา จนถึงปัจจุบัน ซึ่งการมีเรือดำน้ำและเรือรบประเภทต่าง ๆ นั้นทำให้ประเทศไทยสามารถป้องกันและรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลได้อย่างมีศักยภาพ และรักษาสันติสุขของชาติไว้ได้อย่างมั่นคง ดั่งที่ทหารเรือทั่วโลกในเวลานี้ต่างก็เล็งเห็นถึงความสำคัญ

ข้อมูล

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์. เกิดวังปรารุสก์. กรุงเทพ,2531

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. จดหมายเหตุพระราชประวัติ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม บรมราชชนก (เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์).

 

 

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *