วันปิยมหาราช : พระมหากรุณาธิคุณต่อกองทัพเรือ

วันปิยมหาราช

(English: Chulalongkorn Day) ตรงกับวันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณต่อปวงชนชาวไทย รัฐบาลจึงได้ประกาศให้วันที่ 23 ตุลาคม เป็น “วันปิยมหาราช” ซึ่งประชาชนคนไทยทั้งชาติค่ะถือเป็นวันแห่งการน้อมรำลึกถึงพระองค์อย่างไม่มีเสื่อมคลาย

พระมหากรุณาธิคุณต่อชาวไทย  

ในห้วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ประเทศมหาอำนาจทางตะวันตกเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเต็มรูปแบบ  มีความต้องการแรงงานและทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมหาศาล ประเทศมหาอำนาจทางตะวันตกจึงแสวงหาอาณานิคมมาทางเอเชียด้วยเห็นว่ามีแรงงานที่อ่อนแอและง่ายต่อการปกครอง ทั้งยังมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์

ด้วยพระวิจารณญาณและพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเจริญพระราชไมตรีกับนานาประเทศ  ทรงส่งราชทูตไปประจำประเทศต่างๆ อีกทั้งยังเสด็จประพาสประเทศต่างๆ ในยุโรปเพื่อเจริญสัมพันธ์ไมตรีด้วยพระองค์เอง และโปรดเกล้าฯให้พระราชโอรสหลายพระองค์ไปศึกษาในยุโรป ซึ่งได้ทั้งวิชาความรู้และเป็นการเจริญวิเทโศบายเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศมหาอำนาจส่งผลให้ประเทศสยามในเวลานั้นรอดพ้นจากลัทธิล่าอาณานิคม

พระมหากรุณาธิคุณต่อกิจการทหารเรือ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเป็นพระราชบิดาของพระบุพการีของกองทัพเรือ

ด้วยในสมัยโบราณยังมิได้มีการแบ่งแยกกำลังรบทางเรือออกจากทางบก จวบจนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเริ่มมีการแบ่งแยกกำลังรบทางเรือออกจากทางบก

เมื่อครั้งเริ่มแรกตั้งกรมทหารเรือนั้น กิจการทหารเรือบางประเภทยังขาดบุคคลที่มีความรู้ความชำนาญ จำเป็นต้องจ้างชาวต่างประเทศเข้ามารับราชการตามตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ อาทิผู้บังคับการเรือ และผู้บัญชาการป้อมต่างๆ

ต่อมาภายหลังเหตุการณ์ ร.ศ.112 (พ.ศ.2436) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริว่า กิจการของทหารเรือเท่าที่อาศัยชาวต่างประเทศเข้ามาประจำตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ นั้น ไม่อาจที่จะหวังในด้านการรักษาอธิปไตยของชาติได้ดีเท่ากับคนไทยเอง พระองค์มีพระราชประสงค์ให้จัดการศึกษาแก่ทหารเรือไทย ให้มีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะรับตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ ในเรือแทนชาวต่างชาติที่จ้างไว้ต่อไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระราชโอรสสองพระองค์ไปทรงศึกษาวิชาการทหารเรือยังต่างประเทศ คือ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ให้ไปทรงศึกษาวิชาการทหารเรือ ณ ประเทศอังกฤษ และ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ ให้ไปทรงศึกษาวิชาการทหารเรือ ณ ประเทศเยอรมันนี ( พ.ศ.2454-2456)  

ในกาลต่อมา พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ได้ทรงริเริ่มวางรากฐานกิจการทหารเรือ ทรงจัดทำแผนการทหารเรือ แผนการทัพเรือ ทรงประสิทธิ์ประสาทวิชาการทหารเรือ ทรงจัดการศึกษาทางยุทธศาสตร์ยุทธวิถีและกระบวนรบทำให้กองทัพเรือมีความเข้มแข็ง มั่นคง มีประสิทธิภาพ และเจริญก้าวหน้าเป็นที่ประจักษ์ จวบจนทุกวันนี้ ทหารเรือตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันต่างสำนึกในพระเมตตาจึงพร้อมใจกันถวายสมัญญานาม ว่า “องค์บิดาของทหารเรือไทย”

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (องค์พระบิดาของทหารเรือไทย) และ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศ อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (กรมขุนสงขลานครินทร์ : เจ้าฟ้าทหารเรือ)

พระราชโอรสที่ทรงวางพระทัยให้ไปศึกษาวิชาด้านการทหารเรืออีกหนึ่งพระองค์ คือสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงเป็นนักเรียนนายเรือเยอรมัน รุ่น 2455 แม้ว่าจะทรงรับราชการในกองทัพเรือเป็นระยะเวลาอันสั้น แต่ทรงมีคุณูปการแก่กองทัพเรืออย่างใหญ่หลวง จึงทรงได้รับการยกย่องว่าเป็น ”เจ้าฟ้าทหารเรือ”  และด้วยทรงมีความเชี่ยวชาญทางเรือดำน้ำ และเรือตอร์ปิโดรักษาฝั่ง ซึ่งทรงศึกษาจากประเทศเยอรมันนี จึงทรงถวายบันทึกรายงานความเห็นโครงการเกี่ยวกับเรือดำน้ำไว้  เรื่อง “ เรือ ส.” ซึ่งแม้ไม่ได้ใช้ในขณะนั้นแต่ก็มีผลให้อีกยี่สิบปีต่อมากองทัพเรือได้จัดหาเรือดำน้ำมาประจำการถึง 4 ลำ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเห็นความสำคัญของการให้คนไทยทำหน้าที่แทนชาวต่างประเทศในตำแหน่งสำคัญทางทหาร จึงได้มีการจัดส่งนายทหารไปรับการศึกษาจากต่างประเทศอีก มีการพัฒนาทั้งองค์บุคคลและองค์วัตถุควบคู่กันไป ปรับปรุงกำลังรบทางเรือให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังทรงจัดการการศึกษาแก่ทหารเรือไทย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมทหารเรือ จัดการฝึกสอนวิชาการทหารเรือขึ้น โดยเริ่มตั้งโรงเรียนขึ้นครั้งแรกที่บริเวณอู่หลวงใต้วัดระฆัง ตรงข้ามท่าราชวรดิฐ สำหรับอบรมนายทหารชั้นประทวน หรือฝ่ายช่างกลและเดินเรือ ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนนายสิบ นายร้อยทหารเรือฝ่ายบกขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2438 ภายหลังเหตุการณ์ ร.ศ.112 เพียง 2 ปี (โรงเรียนนายสิบทหารเรือเป็นต้นกำเนิดโรงเรียนชุมพลทหารเรือ)

และในปี พ.ศ.2440 ได้จัดตั้งโรงเรียนนายร้อยทหารเรือขึ้นอีกโรงเรียนหนึ่ง จนถึงปี พ.ศ.2442 ได้จัดตั้งโรงเรียนนายเรือ ขึ้นที่ วังนันทอุทยาน (สวนอนันต์) มีนายนาวาโท ไซเดอลิน (Seidelin) เป็นผู้บังคับการโรงเรียนนายเรือคนแรก

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ พระราชโอรส

ทั้งนี้ในปี พ.ศ.2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แยกกรมทหารเรือออกจาก กระทรวงยุทธนาธิการ เป็นกรมอิสระ เพื่อจัดหน้าที่การงานเฉพาะส่วนของกรมทหารเรือได้โดยสิทธิ์ขาด ตั้งแต่นั้นมากิจการของกรมทหารเรือก็ได้รับการพัฒนาให้เป็นไปตามแบบอารยประเทศทางยุโรป

 

ในปี พ.ศ.2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทาน พระราชวังเดิม ให้เป็นที่ตั้งโรงเรียนนายเรือ

ในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2449 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ได้เสด็จฯ มาเปิด โรงเรียนนายเรือ ซึ่งต่อมา ทางราชการทหารเรือได้ถือเอาวันที่ 20 พฤศจิกายน นี้ เป็นวันกองทัพเรือ

การที่กองทัพเรือได้เจริญก้าวหน้ามาถึงปัจจุบันก็ด้วยพระวิจารณญาณและพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ โดยแท้

พระราชประวัติโดยย่อ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนามเดิมว่า ” เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ” ทรงเป็นรัชกาลที่ 5 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแต่กรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 รวมพระชนมายุได้ 58 พรรษา ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ต่อปวงชนชาวไทย รัฐบาลจึงได้จัดให้วันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันปิยมหาราช และเป็นวันหยุดราชการ

พระองค์ทรงปกครองอาณาประชาราษฎร ให้ร่มเย็นเป็นสุข ทรงโปรดการเสด็จประพาสต้น เพื่อให้ได้ทรงทราบถึงความเป็นอยู่ที่แท้จริงของราษฎร ทรงสนพระทัยในวิชาความรู้ และวิทยาการแขนงต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง และนำมาใช้บริหารประเทศให้ เจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว พระองค์จึงได้รับถวายพระราชสมัญญานามว่า สมเด็จพระปิยมหาราช และมีความหมายว่า พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน

พระราชกรณียกิจที่สำคัญ

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีเลิกทาส การป้องกันราชอาณาจักรมิให้ต้องตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส และจักรวรรดิอังกฤษ ได้มีการประกาศออกมาให้มีการนับถือศาสนาโดยอิสระในประเทศ โดยบุคคลศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลามสามารถปฏิบัติการในศาสนาได้อย่างอิสระ นอกจากนี้ได้มีมีการนำระบบจากทางยุโรปมาใช้ในประเทศไทย ได้แก่ระบบการใช้ธนบัตรและเหรียญบาท ใช้ระบบเขตการปกครองใหม่ เช่น มณฑลเทศาภิบาล จังหวัดและอำเภอ และได้มีการสร้างรถไฟ สายแรก คือ กรุงเทพฯ ถึง เมืองนครราชสีมา ลงวันที่ 1 มีนาคม ร.ศ.109 ซึ่งตรงกับ พุทธศักราช 2433

ภาพจาก Le Petit Parisien ทรงฉายพระรูปร่วมกับสมเด็จพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่2 แห่งรัสเซีย

 

พระปรีชาญาณด้านพระราชวิเทโศบาย

นอกจากพระราชกรณียกิจภายในประเทศ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ ทั้งใกล้และไกล อาทิ ประเทศสิงคโปร์ ชวา อินเดีย และพม่า ทรงเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปไกลถึงทวีปยุโรปเพื่อทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศมหาอำนาจ อาทิ รัสเซีย เครือจักรภพอังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน  ออสเตรเลีย และเยอรมัน ซึ่งได้มีการตีพิมพ์เผยแพร่ข่าวการเสด็จประพาสลงในหนังสือพิมพ์ของยุโรป โดยเฉพาะภาพที่ทรงฉายร่วมกับสมเด็จพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่2 แห่งรัสเซีย มีนัยสำคัญช่วยให้ประเทศสยามในเวลานั้นรอดพ้นจากลัทธิล่าอาณานิคม

มิตรไมตรีกับนานาชาติในต่างแดนที่ทรงผูกสัมพันธ์ไว้ จวบจนวันนี้กลายเป็นประวัติศาสตร์สำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นสายใยล้ำค่าสืบต่อมาจนปัจจุบัน ซึ่งนับเป็นพระปรีชาสามารถในการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่สำคัญทำให้ไม่มีชาติใดมารุกรานไทยเช่นที่ผ่านมาอีก

อ้างอิง
นาวิกศาสตร์. ตุลาคม 2512
เจ้าฟ้าทหารเรือ. นาวิกศาสตร์ กันยายน 2545