พ.ร.บ. ศรชล (สอน -ชน) คืออะไร

พ.ร.บ. ศรชล (สอน -ชน) หรือ พระราชบัญญัติการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ซึ่งเมื่อบ่ายวันนี้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติในวาระที่ ๓ เห็นสมควรให้ประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พ.ศ. …. เป็นกฎหมาย มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการรักษาอธิปไตยทางทะเล ๔ ประการ คือ มูลค่าทางด้านเศรษฐกิจ ภัยคุกคามรูปแบบใหม่ การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ที่จะส่งผลให้เปิดเสรีทางการค้า และการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องกฎหมายทางทะเลในปี ค.ศ. ๑๙๘๒  ตลอดจนการเข้าร่วมเป็นเจ้าของในช่องแคบมะละกาที่จะส่งผลให้ไทยมีบทบาทในประชาคมระหว่างประเทศมากขึ้น นอกจากนี้ กฎหมายดังกล่าวยังรองรับการทำประมงผิดกฎหมาย หรือ iuu กรณีโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ รวมถึงแก้ปัญหากรณีโรฮีนจา ซึ่งจะช่วยให้กองทัพเรือได้วางรากฐานในการดูแลความมั่นคงทางทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ร่างพระราชบัญญัติ ศรชล. ฉบับนี้จำเป็นต้องร่างขึ้น เพื่อให้มีหน่วยปฏิบัติงานหลักในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลอย่างมีเอกภาพ และมีหน่วยงานประสานการปฏิบัติงานในเขตทะเลอย่างมีประสิทธิภาพ หลังจากที่กฎหมายปัจจุบันไม่สามารถบังคับใช้ในเขตทางทะเลที่อยู่นอกประเทศ และไม่ครอบคลุมถึงการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล โดยร่างฯ มีทั้งสิ้น ๔๑ มาตรา

สาระสำคัญคือ บัญญัติให้มีคณะกรรมการนโยบายการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (นปท.) โดยมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการฯ พร้อมกรรมการอีก ๒๗ คน เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล และมาตรการรักษาประโยชน์ของชาติทางทะเลให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและแผนยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี

นอกจากนี้ กำหนดให้มีศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล หรือ “ศรชล” โดยให้อยู่ใต้การบังคับบัญชาและขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี พร้อมให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ โดยศูนย์ฯ มีหน้าที่วางแผนและสนับสนุนการปฏิบัติงานหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พร้อมประเมินสถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อประโยชน์ของชาติทางทะเล เป็นต้น

ทั้งนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่มี พล.ร.อ.วัลลภ เกิดผล เป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งเป็นผู้ปรับแก้และเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ได้กล่าวขอบคุณสมาชิกที่ลงมติผ่านร่างฯ พร้อมมั่นใจว่า การมี “ศรชล” จะช่วยให้ประเทศรักษาผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลได้อย่างมั่นคง โดยกองทัพเรือจะเป็นหน่วยงานหลักในการร่วมรับผิดชอบนี้

ข้อมูล  สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ /ผู้จัดการออนไลน์ ๑๕ พย๖๑

 

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *