พิธีจำเริญน้ำ ใน พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

พิธีจำเริญน้ำ

เช้าวันนี้ 27 ต.ค.60 เมื่อเวลา 07.00 น. ภายหลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  นายบุญชัย ทองเจริญบวงงาม นักจัดการงานในพระองค์ชำนาญการ กองศิลปกรรม สำนักพระราชวัง พร้อมด้วยช่างศิลปกรรม สำนักพระราชวัง และช่างฝีมือทำเครื่องสดประดับพระจิตกาธานบนพระเมรุมาศร่วมทำ พิธีจำเริญน้ำ ซึ่งเป็นการอัญเชิญเครื่องสดบางส่วนจากการถวายพระเพลิงพระบรมศพไปจำเริญ (ลอย) น้ำ นับเป็นธรรมเนียมพิธีโบราณของเหล่าช่างหลวง และถือเป็นการเสร็จสิ้นในการทำงานเครื่องสดถวาย

ทั้งนี้ช่างราชสำนักได้อัญเชิญเครื่องสดบางส่วนที่หลงเหลือจากงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ที่ทางเจ้าพนักงานสำนักพระราชวังอัญเชิญลงมาเมื่อเวลา 04.00 น. ซึ่งห่อด้วยผ้าขาววางบนพานทอง อาทิ กาบกล้วย ดอกไม้ ม่านตาข่ายดอกไม้สด กรองดอกไม้จากเขตพระราชฐานชั้นใน ภู่กลิ่น พวงแขวนที่ประดับที่มุมของพระจิตกาธาน ลายแทงหยวกประดับชั้นรัดเอว ชั้นรัดเกล้า นำล่องเรือไปบริเวณปากคลองบางกอกใหญ่หน้าป้อมวิชัยประสิทธิ์ ซึ่งเป็นคุ้งน้ำที่มีน้ำผ่านตลอดเวลา โดยที่ผ่านมาได้ทำพิธีที่บริเวณนี้ตั้งแต่สมัยพระราชพิธีพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีพัชรินทร์ทราบรมราชชนนี แต่เป็นการดำเนินเป็นการภายใน

โดยในการนี้กองทัพเรือได้จัดเรือ ขส.ทร. 1214 และ ขส.ทร.1132 เป็นพาหนะ และมี พล.ร.ต.เดชดล ภู่สาระ เจ้ากรมการขนส่งทหารเรือ ร่วมพิธีฯ

พระจิตกาธาน

 

พระจิตธากาน

ด้วยพระจิตกาธานมีความสูงถึง 13.5 เมตร งานเครื่องสดจึงใหญ่ที่สุดตั้งแต่เคยทำมา การออกแบบนอกจากจะยึดลวดลายดั้งเดิมตามจารีตราชสำนักและยังมีการออกแบบลายแทงหยวกขึ้นมาใหม่ที่มีสัญลักษณ์เป็นเลข ๙ สื่อถึงพระองค์ด้วยดอกปาริชาตประดิษฐ์ที่เป็นดอกไม้บนสรวงสวรรค์ หลังกระบวนการจัดทำ เครื่องสด ประดับพระจิตกาธานเสร็จสิ้นจึงจะเริ่มกระบวนการประกอบเครื่องสดบนพระจิตกาธานพระเมรุมาศ เริ่มจากส่วนชั้นรัดเกล้า ไล่ระยะไปจนถึงชั้นเรือนยอดชั้นที่ 9 จึงประกอบม่านดอกไม้สด รัดม่านดอกไม้สด ชั้นรัดเอว และเทวดาประดับฐานเรือนไฟ เมื่อเสร็จสิ้นพระราชพิธีแล้วจะนำของที่เหลือทั้งหมดไปทำพิธีจำเริญน้ำ (ลอยน้ำ) ตามประเพณีต่อไป

พระจิตกาธาน” คือหนึ่งในหัวใจสำคัญประกอบพระเมรุมาศ เพราะใช้สำหรับประดิษฐานหีบพระบรมศพจันทน์และพระบรมโกศ บริเวณโถงกลางพระเมรุมาศบุษบกประธาน โดย “นายก่อเกียรติ ทองผุด” นายช่างศิลปกรรม สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบพระเมรุมาศ

พระจิตกาธาน www.kingrama9.th คือ เชิงตะกอน หรือฐานที่ทำขึ้นสำหรับเผาศพ เป็นคำที่ใช้สำหรับพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์ ประกอบด้วยแท่นฐานสำหรับเผาทรงสี่เหลี่ยม ภายในใส่ดินเสมอปากฐานสำหรับวางฟืน ไม้จันทน์ พระจิตกาธาน มักประดับตกแต่งด้วยกระดาษสีและเครื่องสด เช่นดอกไม้ ใบไม้ ใบตอง หยวกกล้วยและผลไม้บางชนิดเป็นต้น สำหรับเป็นเครื่องกันไฟ ในการถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระจิตกาธานจะตั้งอยู่บนฐานชาลาชั้นบนสุดภายในบุษบกองค์ประธาน

ขอบคุณภาพ/ข้อมูลจาก
ข่าวสารงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  www.kingrama9.th
กองทัพเรือ  นสพ. ประชาชาติธุรกิจ นสพ. ผู้จัดการออนไลน์ และ นสพ.เดลินิวส์

 

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *