นาวิกนคร 4.0 โมเดล

 

นาวิกนคร 4.0 โมเดล
ศูนย์การเรียนรู้การบำบัดและการใช้ประโยชน์จากขยะของหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน

 

ปัญหาขยะเป็นปัญหาสำคัญระดับประเทศที่ก่อให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้างในด้านต่าง ๆ เช่น มลพิษทางอากาศ จากการเผาขยะกลางแจ้งทำให้เกิดควัน และสารพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ ที่เกิดจากการกองขยะบนพื้น เมื่อฝนตกลงมาบนกองขยะสารพิษจะไหลลงสู่แหล่งน้ำจะทำให้เกิดน้ำเสีย และเป็นแหล่งพาหนะนำโรค ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอนามัยของประชาชน จึงต้องมีการบริหาร จัดการอย่างถูกวิธี และเร่งด่วน เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2559 รัฐบาลจึงได้ประกาศให้ การแก้ไขปัญหาขยะเป็นวาระแห่งชาติ

 

 

จากนโยบายของรัฐบาล และแนวทางของกองทัพเรือ ซึ่งมุ่งเน้นสร้างการรับรู้และปลูกจิตสำนึกในการรักษา         สิ่งแวดล้อมให้กับกำลังพลและครอบครัว ตลอดจนเยาวชนและบุคคลทั่วไปที่เข้ามาทำกิจกรรมในพื้นที่ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน จึงได้จัดทำโครงการแก้ไขปัญหาขยะโดยใช้ชื่อว่า “นาวิกนคร 4.0 โมเดล” โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการ คือ แก้ไขปัญหาขยะตามหลักวิชาการที่ถูกต้องอย่างบูรณาการและยั่งยืนเพื่อให้มีผลลัพธ์ที่ต้องการคือขยะเป็นศูนย์ (Zero Waste) และสามารถเป็นต้นแบบให้กับหน่วยงานอื่นของกองทัพเรือ และหน่วยงานอื่นๆ ในพื้นที่ ซึ่งเริ่มดำเนินการอย่างจริงจัง เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ ที่ผ่านมาด้วยความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะแก้ปัญหาขยะที่สะสมให้หมดไปจากพื้นที่ค่ายกรมหลวงชุมพร

 

โดยมีหลักการบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหาขยะอย่าง บูรณาการและยั่งยืน ประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอน (3R) คือ

1. ลดการเกิดขยะ (Reduce)  

2. การนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse)

3. การหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle)

 

ในขั้นตอนการหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ใช้ นวัตกรรมการบำบัดขยะด้วยวิธีธรรมชาติ (Natural Biological Treatment) NBT ซึ่งเป็นวิธีการบำบัดขยะแบบใหม่ สามารถจัดการกับขยะได้จนเหลือศูนย์ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถคืนความสมดุลสู่ระบบนิเวศ และคืนความสุขให้กับกำลังพลและครอบครัวตลอดจนประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงได้ โดยการดำเนิน การแก้ไขปัญหาขยะเริ่มต้นด้วย การลดการเกิดขยะ (Reduce) คัดแยกขยะเพื่อนำมาใช้ใหม่ (Reuse) และการปลูกจิตสำนึก สร้างการรับรู้เรื่องการบริหารจัดการขยะ

ให้กับกำลังพล และครอบครัว ตลอดจนเยาวชน และบุคคลทั่วไปที่มาร่วมเข้าค่ายฝึกอบรมต่างๆ ภายในหน่วย รณรงค์ และออกมาตรการให้กำลังพลและครอบครัวคัดแยกขยะตั้งแต่ครัวเรือน จัดตั้งศูนย์รับซื้อขยะรีไซเคิลเพื่อรับซื้อขยะจากกำลังพลและครอบครัว ส่งเสริมโครงการสำนักงานไร้ขยะ จัดตั้งธนาคารขยะในโรงเรียนนาวิกโยธินบูรณะ ประกวดสิ่งประดิษฐ์จากขยะ และกิจกรรมขยะของหนูแลกของที่อยากได้รวมถึงการนำขยะบางส่วนที่ยังใช้ได้ นำกลับไปใช้ใหม่

สำหรับระบบการบำบัดขยะด้วยวิธีธรรมชาติ NBT นั้น ถือว่าเป็นนวัตกรรมการกำจัดขยะวิธีใหม่ที่เป็นมิตรต่อ         สิ่งแวดล้อม ใช้ต้นทุนต่ำ โดยหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินได้ทำความร่วมมือกับ บริษัท สมาร์ต แกรนด์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด ในการเข้ามาดำเนินการและแก้ไขปัญหาขยะเก่า จำนวนมากกว่า 2 แสนตัน

      

 

 

 

กรรมวิธีหลักของการบำบัดขยะวิธี NBT อยู่ที่การบำบัดขยะแบบชีวภาพขั้นต้น ซึ่งไม่ได้จำกัดกระบวนการไว้เพียงแค่วิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่สามารถเปลี่ยนแปลงได้หลากหลายขึ้นอยู่กับอุปกรณ์และรูปแบบของการบำบัด โดยมีหลักการสำคัญ คือ การย่อยสลายอินทรียวัตถุที่อยู่ในขยะให้ได้มากที่สุด ส่วนขยะที่เหลือจำนวนน้อยจากการย่อยสลายก็จะนำไปฝังกลบ คัดแยกขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่และขยะรีไซเคิลออก เพื่อลดปริมาณขยะก่อนนำไปบำบัด ซึ่งขยะจำนวนนี้คิดเป็น 5 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณขยะทั้งหมด

ขยะที่เหลือจากการคัดแยกอีก 95 เปอร์เซ็นต์ จะเข้าสู่กระบวนการบำบัดด้วยหลักการย่อยสลายอินทรียวัตถุ  โดยจะทำกองขยะเป็นแปลงสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวประมาณ 25 – 30 เมตร สูง 1.8 เมตร และพลิกกลับเป็นระยะๆ เพื่อให้เกิดการถ่ายเทกาซมีเทน และเติมอากาศจากภายนอกเข้าไปในกองขยะ หลังจากนั้นจะมีการนำขยะไปร่อนเพื่อคัดแยกเอาขยะที่สามารถเผาไฟได้ไปอัดแท่งทำเป็นเชื้อเพลิงพลังงาน (Refuse Derived Fuel) RDF เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน

ศูนย์รับซื้อขยะรีไซเคิลค่ากรมหลวงชุมพร

การหมุนเวียนนำขยะกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) เพื่อต้องการกำจัดขยะเก่าที่ตกค้างในพื้นที่ค่ายกรมหลวงชุมพร ที่มีจำนวนมากกว่า 2 แสนตันให้หมดไป โดยสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนที่เป็นมืออาชีพและมีประสบการณ์มาดำเนินการแก้ไข โดยแปรรูปขยะที่ตกค้างให้เป็นขยะเชื้อเพลิง (Refuse Derived Fuel) RDF และใช้เป็นพลังงานทดแทน มีการจัดตั้งชุมชนต้นแบบในการแก้ไขปัญหาขยะและพัฒนาไปสู่ชุมชนเชิงนิเวศ การนำขยะไปทำเป็นปุ๋ยหมักให้สอดคล้องกับชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง จัดตั้งศูนย์รับซื้อขยะรีไซเคิล พร้อมกับคัดแยกขยะ จัดทำองค์ความรู้ (KM) วิธีการปฏิบัติที่เป็นเลิศ ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนในพื้นที่ใกล้เคียง และพัฒนาต่อยอดขยายผลการดำเนินงานตามโครงการไปยังภาคส่วนต่างๆของสังคม

จากผลการปฏิบัติพบว่าปัญหาขยะที่กองสะสมกว่า 2 แสนตันหมดไปภายใน 1 ปี โดยที่ไม่มีมลพิษทางกลิ่น ทางอากาศ และยังสามารถนำขยะไปรีไซเคิล หรือทำเชื้อเพลิงแบบ RDF  และคืนพื้นที่บ่อขยะได้มากกว่า 10 ไร่

นับได้ว่าการแก้ไขปัญหาขยะตามโครงการ “นาวิกนคร 4.0 โมเดล” ในพื้นที่ค่ายกรมหลวงชุมพร หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน นี้ถือว่าเป็นการดำเนินการแบบบูรณาการที่ได้รับความร่วมมือทั้งจากกำลังพลและครอบครัว หน่วยงานภาครัฐ และรวมถึงหน่วยงานของภาคเอกชน เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาขยะอย่างยั่งยืน โดยใช้วิธีธรรมชาติเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถคืนความสมดุลสู่ระบบนิเวศและคืนความสุขให้กับกำลังพลและคนในชุมชนพื้นที่ใกล้เคียงได้ ด้วยความตั้งใจที่แน่วแน่ที่ต้องการให้ความเจริญในด้านต่างๆ ดำเนินควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่การพัฒนาสังคมที่ยั่งยืนสืบไป

 

หมายเหตุ
ในอดีตหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินได้แก้ไขปัญหาขยะในพื้นที่ค่ายกรมหลวงชุมพร โดยเมื่อ พ.ศ.2542 ได้จัดสร้างเตาเผาขยะแบบ “อัตตาหิ” ขึ้นมา เพื่อจัดการกับขยะภายในพื้นที่ค่ายฯ โดยวิธีการเผา และต่อมาพ.ศ.2554 ได้สร้างเตาเผาขยะแบบใหม่เพิ่มเติมอีก จำนวน 6 เตา สามารถเผาขยะได้วันละ 5 ตัน แต่เนื่องจากปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้วิธีการเผาขยะด้วยเตา “อัตตาหิ” ไม่สามารถแก้ปัญหาขยะที่เกิดขึ้นได้ ตลอดจนมีผลเสียต่อการเกิดมลพิษทางอากาศจึงได้ยกเลิกวิธีการนี้ และเปลี่ยนมาเป็นการคัดแยกขยะเฉพาะที่นำไปรีไซเคิลได้ ส่วนขยะประเภทอื่นยังไม่มีวิธีการจัดการ และยังคงทิ้งสะสมไว้ในบ่อพักขยะทำให้ปริมาณขยะเพิ่มมากยิ่งขึ้น

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *