ธงชัยเฉลิมพล

ธงชัยเฉลิมพล ถือกำเนิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยหน่วยทหารหน่วยแรกที่ได้รับพระราชทานธงชัยเฉลิมพลคือกรมทหารรักษาพระบรมมหาราชวัง (ราชกิจจานุเบกษา, 2427, น. 111) ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เริ่มต้นจัดพิธีสวนสนาม ของทหารหน่วยต่างๆ ที่ได้รับพระราชทานธงชัยเฉลิมพลควบคู่ไปกับการถวายสัตย์ปฏิญาณ โดยพิธีสวนสนามครั้งแรกจัดขึ้น ณ ลานพระราชวังดุสิต ในวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ.2470 (ราชกิจจานุเบกษา, 2470, น. 2129)

ธงชัยเฉลิมพล หมายถึง ธงซึ่งเป็นเครื่องหมายแห่งชัยชนะประจำหน่วยทหาร เป็นสิ่งชักนำความองอาจแห่งหมู่ทหารทั้งปวงให้มีชัยชนะต่อข้าศึกด้วยความ กล้าหาญ นอกจากนี้แล้ว ธงชัยเฉลิมพลยังประกอบด้วยสิ่งที่แสดงออกถึง ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดย ธง หมายถึง ชาติ บนยอดธงบรรจุพระพุทธรูป หมายถึง ศาสนา และ เส้นพระเจ้า (เส้นพระเกศา) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หมายถึง พระมหากษัตริย์ พิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล หรือที่เรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า พิธีสาบานธง

พิธีสาบานธง เป็นพิธีการทางทหาร ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีใน วันกองทัพไทย และวันสำคัญของแต่ละเหล่าทัพ ผู้ที่เป็นทหารทุกคนจะต้องผ่านการเข้าร่วมพิธีดังกล่าว เพื่อแสดงถึงความเป็นทหารอย่างสมบูรณ์ ในพิธีสาบานธงจะประกอบด้วย พิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนฯ เดิมกระทำในวันที่ 25 มกราคม ของทุกปี เนื่องจากวันดังกล่าวเป็นวันกองทัพไทย และในวันดังกล่าวทหารใหม่ได้ฝึกเสร็จสิ้นแล้วตามหลักสูตร และพร้อมที่จะทำการรบได้ นอกจากนี้วันดังกล่าวยังเป็นวันระลึกถึงวีรกรรมที่ยิ่งใหญ่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำยุทธหัตถีได้รับชัยชนะต่อข้าศึก ต่อมาเมื่อนักประวัติศาสตร์ได้ตรวจสอบวันกระทำยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวร มหาราชใหม่จึงพบว่า วันกระทำยุทธหัตถีที่ถูกต้องนั้น ตรงกับวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2135 กองบัญชาการทหารสูงสุดจึงมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง “วันกองทัพไทยมาเป็นวันที่ 18 มกราคม ของทุกปี” พิธีสาบานธงจึงได้เปลี่ยนมาจัดขึ้นในวันที่ 18 มกราคม ของทุกปีแทนวันที่ 25 มกราคม โดยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา

อ้างอิง

พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒสัตยา และพระราชทานธงชัยเฉลิมพลแก่กรมทหารรักษาพระบรมมหาราชวัง, (1 พฤษภาคม 2427). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 1 ตอนที่ 13, เล่ม 1, 111 – 112.
พิธีกระทำสัตย์สาบานต่อธงชัยเฉลิมพล ของทหารที่กรุงเทพ ฯ ซึ่งได้กระทำหน้าพระที่นั่ง พ.ศ.2470, (16 ตุลาคม 2470). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 44, ตอนที่ ง, 2129 – 2134.

ขอบคุณภาพจาก กองทัพเรือ /internet

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *