โครงการสมเด็จฯ อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล

 โครงการสมเด็จฯ อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล

ด้วยพระวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล และพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ต่อประสกนิกร ชาวไทย และเหล่าสรรพสัตว์น้อยใหญ่ใต้ร่มพระบารมี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงห่วงใยในทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและสัตว์ทะเลของไทยซึ่งนับวันมีแต่ลดลง โดยเฉพาะสัตว์ทะเลหายาก เช่น เต่าทะเล สัตว์น้ำจากยุคโบราณสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลไทยต้องตกอยู่ในสถานการณ์ใกล้สูญพันธุ์ สาเหตุหลักมาจากการล่า เนื้อและไข่ถูกนำไปเป็นอาหาร กระดองนำไปเป็นเครื่องประดับ หนังถูกนำไปเป็นผลิตภัณฑ์จำพวกเครื่องหนังต่างๆ นอกจากนั้นไขมันของเต่าทะเลยังสามารถนำไปสกัดใช้เป็นส่วนผสมของสบู่ หรือ น้ำหอมที่มีราคาอีกด้วย รวมถึงการรุกพื้นที่ชายหาดเพื่อใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้เต่าทะเลไม่มีที่วางไข่ รวมทั้งการทำประมงด้วยอวนที่ทำให้มีเต่าทะเลติดอวนไปด้วยจนจมน้ำตาย จึงมีพระราชดำริให้ดำเนินโครงการอนุรักษ์เต่าทะเลมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มและขยายพันธุ์เต่าทะเลในธรรมชาติ และเป็นศูนย์กลางการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับเต่าทะเล

ธรรมชาติของเต่าทะเลที่มีอุปสรรคมากมายในการแพร่ขยายพันธุ์ เริ่มตั้งแต่ไข่ของเต่าทะเลมักถูกมนุษย์และสัตว์อื่นขุดขึ้นมาเป็นอาหาร ลูกเต่ามักตกเป็นเหยื่อของปลาและสัตว์ขนาดใหญ่ได้ง่าย ประมาณการณ์ได้ว่าจากไข่เต่าจำนวน ๑,๐๐๐ ฟอง จะสามารถฟักออกมาเป็นตัวและเหลือรอดลงทะเลจนกระทั่งสืบพันธุ์และวางไข่ได้เพียง ๑ – ๒ ตัว เท่านั้น

เกาะมันใน จ.ระยอง

 

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถฯ จึงพระราชทานเกาะมันใน จังหวัดระยอง ซึ่งรัฐบาลในยุคนั้นถวายเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ ให้ใช้เป็นสถานที่สำหรับดำเนินงาน พระราชทานชื่อว่า โครงการสมเด็จฯ อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล พร้อมทั้งพระราชทานพันธุ์เต่าทะเล และพ่อแม่พันธุ์เต่าทะเลให้ผู้แทนจาก กรมประมง กรมชลประทาน กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ นำไปปล่อยและแพร่ขยายพันธุ์ เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๒ จึงได้ถือวันอันเป็นมหามงคลยิ่งนี้เป็นวันเริ่มก่อตั้งโครงการฯ

 

ในการนี้กองทัพเรือได้สนองพระราชดำริสนับสนุนโครงการฯ ร่วมกับ สถานีอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล จังหวัดระยอง โดยให้การอบรมเจ้าหน้าที่ของสถานีฯ รวบรวมไข่เต่าและเพาะฟักจนออกเป็นตัวที่เกาะคราม อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ในการควบคุมดูแลของกองทัพเรือ แล้วนำลูกเต่ามาอนุบาลที่เกาะมันในเพื่อเลี้ยงไว้เป็นพ่อแม่พันธุ์ในการแพร่ขยายพันธุ์ใหม่ในบ่อเลี้ยงส่วนหนึ่ง และนำลูกเต่าที่มีความแข็งแรง มีขนาดโตพอที่จะช่วยเหลือตัวเองได้อีกส่วนหนึ่งปล่อยลงทะเลเพื่อแพร่ขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ

แม่เทียนทะเลขึ้นมาวางไข่ทุก 3 ปี
ทหารเรือตรวจสอบหมายเลขพบว่าเป็นแม่เทียนทะเล ที่จะขึ้นมาวางไข่ทุก 3 ปี

ต่อมาแม้ โครงการสมเด็จ ฯ อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล จะสิ้นสุดลงในปี พ.ศ.๒๕๒๘ แต่พระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถฯ ต่อการอนุรักษ์และขยายพันธุ์เต่าทะเล ยังส่งผลให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงประชาชนมีความตระหนักและหวงแหนในทรัพยากรทางทะเลและสัตว์ทะเลของไทยที่หายากใกล้สูญพันธุ์ เพื่อสนองพระราชปณิธานเกี่ยวกับการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล เผยแพร่พระเกียรติคุณ ตลอดจนส่งผลให้ประชาชนชาวไทยมีปณิธานร่วมกันทำความดีถวายเป็นพระราชกุศล หันมาใส่ใจอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามแนวทางพระราชดำริที่พระองค์ทรงวางไว้

เพื่อสนองพระราชปณิธานกองทัพเรือได้ขยายผลการดำเนินงานอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลอย่างต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน  โดยมอบหมายให้หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง เป็นหน่วยหลักในการปฏิบัติ มีการจัดสร้าง ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลกองทัพเรือ (ศอพต.) ที่บริเวณชายหาดหน่วยฯ   สร้างอาคารบรรยาย เพื่อให้ความรู้แก่บุคคลและคณะต่างๆ ที่เข้าเยี่ยมชม ซึ่งปัจจุบันศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลแห่งนี้ กองทัพเรือได้เปิดให้เป็นแหล่งเรียนรู้ในการปฏิบัติงานการอนุรักษ์เต่าทะเลของกองทัพเรือ รวมทั้งวงจรชีวิตของเต่าทะเล เป็นการปลูกฝังประชาชนให้มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมทั้งจัดให้มี “โรงพยาบาลเต่าทะเล” รองรับการรักษาเต่าทะเลและสัตว์ทะเลที่ได้รับบาดเจ็บและเจ็บป่วย ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแห่งที่สองของโลกรองจากประเทศสหรัฐอเมริกา และเป็นแห่งแรกของเอเชียอีกด้วย

พระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการอนุรักษ์และ ขยายพันธุ์เต่าทะเลนี้ ได้ก่อให้เกิดความตื่นตัวในหมู่ประชาชน ในด้านการอนุรักษ์สัตว์น้ำ เพื่อให้ดำรงอยู่คู่ท้องทะเลไทย ซึ่งจะเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลไทย และแสดงให้สังคมโลกประจักษ์ในบทบาทของไทย และความมุ่งมั่นมานะพยายามในการอนุรักษ์ธรรมชาติ สรรพสัตว์ และ ความสามารถในการแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศน์และ สิ่งแวดล้อม พร้อมกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติด้วย

อ้างอิง : บันทึกไว้ในราชนาวี ตอน โครงการสมเด็จฯ อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล. นาวิกศาสตร์. สิงหาคม พ.ศ.2560
.

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *