เรือหลวงพุทธเลิศหล้านภาลัย

เรือหลวงพุทธเลิศหล้านภาลัย ๑๗ ปี แห่งความภาคภูมิใจ

เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๘       กองเรือยุทธการ ได้จัดให้มีพิธีปลดระวางประจำการ เรือหลวงพุทธเลิศหล้านภาลัย ตามคำสั่ง กห.ที่ ๙๔/๒๕๕๘ ลง ๓ ก.พ.๕๘ ณ ท่าเทียบเรือจุกเสม็ดการท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ โดย    พลเรือตรี สานนท์ ผะเอม ผู้บัญชา การ กองเรือฟริเกตที่ ๑ กองเรือยุทธการ เป็นประธานในพิธี เพื่อรำลึกถึงเรือรบที่มีความสำคัญยิ่งต่อกองทัพเรือมาเป็นเวลาถึง ๑๗ ปี ผู้เขียนจึงขอนำเสนอประวัติความเป็นมา เกียรติประวัติ และความภาคภูมิใจของเรือหลวงพุทธเลิศหล้านภาลัย

การปฏิบัติการใต้น้ำของกองกำลังทางเรือในภูมิภาคเอเชีย กรณีพิพาททางทะเลที่เกิดขึ้นเนืองๆ และแนวโน้มของการปฏิบัติการรบบนผิวน้ำในทะเลลึกที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้น ทำให้กองทัพเรือต้องวางแผนระยะยาวเพื่อเตรียมรับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ในช่วงเวลานั้นกองทัพเรือได้เล็งเห็นความสำคัญว่าน่าจะมีเรือที่มีขีดความสามารถสูงไว้ใช้ในราชการเพิ่มจากที่มีอยู่เดิม กล่าวคือต้องเป็นเรือที่มีความคงทนทะเลสูงสามารถปฏิบัติการในทะเลที่มีคลื่นลมแรงได้ดี และต้องมีขีดความสามารถปราบเรือดำน้ำได้

กองทัพเรือจึงได้จัดหาเรือฟริเกตชั้น Knox จำนวนสองลำจากสหรัฐอเมริกา เรือลำที่หนึ่งได้นำกลับประเทศไทยก่อน และได้อัญเชิญพระราชทินนามของปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีมาเป็นชื่อเรือว่า เรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ตามประเพณีการตั้งชื่อเรือพิฆาตซึ่งตั้งชื่อตามพระราชทินนามบุคคลสำคัญของชาติ

ร.ล.พุทธเลิศหล้านภาลัย ฝึก CARAT ร่วมกับ ทร.สหรัฐอเมริกา

ส่วนเรือลำที่สองนำกลับมาถึงประเทศไทยและขึ้นระวางประจำการ เมื่อ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๑
ได้รับพระราชทานนามว่า “เรือหลวงพุทธเลิศล้านภาลัย” ซึ่งคล้องจองกับเรือลำแรกสมเป็นเรือพี่เรือน้อง

เหตุผลที่กองทัพเรือปลดประจำการ ร.ล.พุทธเลิศหล้านภาลัย ก่อน ร.ล.พุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เนื่อง จากอายุการใช้งานตัวเรือโดยรวมที่มากกว่า เพราะเดิมนั้น FF-1077 USS Ouellet นั้นเข้าประจำการในกองทัพเรือสหรัฐฯช่วงปี ๑๙๗๐ – ๑๙๙๓ ซึ่งตัวเรือได้ผ่านการปรับปรุงตัวเรือใหม่มาระยะหนึ่ง ก่อนที่จะส่งมอบให้กองทัพเรือไทยประจำการเป็น ร.ล.พุทธเลิศหล้านภาลัย ขณะที่ FF-1095 USS Truett นั้นเข้าประจำการในกองทัพเรือสหรัฐฯช่วงปี ๑๙๗๔ –๑๙๙๔ และส่งมอบให้กองทัพเรือไทยแบบ Hot Transfer ในปีเดียวกันที่ปลดคือ พ.ศ.๒๕๓๗ ซึ่ง ร.ล.พุทธยอดฟ้าจุฬาโลก นั้นมีกำหนดจะปลดประจำการถัดไปในปี พ.ศ.๒๕๖๐

เรืออูเล็ต USS OUELLET (DE-1077)

เรือหลวงพุทธเลิศหล้านภาลัย มีชื่อเดิมว่า เรืออูเล็ต USS OUELLET (DE-1077) เดิมเป็นเรือพิฆาตที่ออกแบบพิเศษเพื่อใช้ค้นหาและล่าทำลายเรือดำน้ำโดยเฉพาะ

    CDR Jason Starmer นายทหารประสานงาน จัสแม็กไทย ขอเข้าเยี่ยมชม ร.ล. พุทธเลิศหล้านภาลัย เนื่องจากมีความผูกพัน และเคยเป็นประจำเรือลำนี้ มาก่อน

ลักษณะเด่นของเรือคือขับเคลื่อนด้วยกลจักรไอน้ำซึ่งมีความเงียบเป็นเลิศ อาวุธที่สำคัญของเรือประกอบด้วยโซนาร์ SQS-26 CX เป็นโซนาร์ที่มีระยะตรวจจับไกลมาก พร้อมด้วยโซนาร์ลากท้ายแบบ SQR -18 A (V) 2 ท้ายเรือมีตอร์ปิโดแบบธรรมดาและแบบส่งตัวด้วยจรวด (ASROC LAUNCHER) ควบคุมการยิงด้วยระบบควบคุมอาวุธปราบเรือดำน้ำ ทำให้สามารถปราบเรือดำน้ำได้ในระยะที่ไกลกว่าปกติ นอกจากนี้ยังมีปืน ๕ นิ้ว ซึ่งเป็นปืนหลักที่ใช้ต่อต้านภัยผิวน้ำ ต่อสู้อากาศยาน และยิงสนับสนุนเป้าหมายบนฝั่ง ที่สำคัญมีท้องเรือแหลมลึกทำให้ทนต่อคลื่นลมเหมาะแก่การปฏิบัติการในทะเลลึก ต่อมาภายหลังได้ติดตั้งปืนกลป้องกันระยะประชิดฟาลังซ์

กล่าวได้ว่าเรือหลวงพุทธเลิศหล้านภาลัยเป็นเรือล่าทำลายเรือดำน้ำที่มีขีดความสามารถปฏิบัติการรบแบบสามมิติ

คือรบใต้น้ำกับเรือดำน้ำ รบผิวน้ำกับเรือผิวน้ำ และต่อต้านอากาศยาน อีกทั้งกองทัพเรือไทยได้ติดตั้งอาวุธนำวิถีระยะไกลฮาร์พูนอีกด้วย ทำให้เป็นเรือลำนี้มีเขี้ยวเล็บที่มีประสิทธิภาพสูงของกองทัพเรือไทย เป็นความภาคภูมิใจของกองทัพเรือไทยตลอด ๑๗ ปี ที่ผ่านมา

เชิงอรรถ :
* เรืออูเล็ตได้วางกระดูกงูที่อู่ต่อเรืออวอนเดล (Avondale Shipyard) มลรัฐหลุยเซียนาเมื่อ ๑๕ มกราคม ๒๕๑๒ เข้าประจำการครั้งแรกทางฝั่งแปซิฟิคตะวันตก เมื่อ ๒๗ มกราคม ๒๕๑๒ เรืออูเล็ตได้ปฏิบัติหน้าที่สำคัญหลายครั้ง เช่น เคยร่วมรบในสงครามทางฝั่งแปซิฟิกตะวันตก เป็นเรือธงลำแรกของกองเรือที่สาม แห่งกองทัพเรือสหรัฐฯ และหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ได้รับเลือกให้เป็นเรือธงของผู้บัญชาการกองเรือแปซิฟิก ในพิธีฉลองครบรอบ ๒๐๐ ปี ของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา ในปี ๒๕๓๐ เรืออูเล็ตได้เข้าร่วมปฏิบัติการกับกองกำลังเดลต้าที่มหาสมุทรอินเดียและอ่าวโอมานในสงครามกรณีพิพาทที่อิหร่าน ฯลฯ และปลดระวางในปี ๒๕๓๖ โดยเก็บรักษาไว้ที่ฮาวาย ก่อนจะลากจูงมาที่พอร์ตแลนด์เพื่อซ่อมแซมและส่งมอบให้กองทัพเรือไทย

อ้างอิง :
น.อ.วิเลิศ สมาบัติ. เรือหลวงพุทธเลิศหล้านภาลัย. ๒๕๔๒.
น.อ.สมชาติ สะตะ. สัมภาษณ์ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๘.
www.facebook.com/Phutthaloetla

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *