สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้ากับกองทัพเรือ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๒๓ ได้รับพระราชทานพระนามว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ  ในปี พ.ศ. ๒๔๓๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น กรมขุนเทพทวาราวดี เสด็จเสวยราชสมบัติเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๓ ตุลาคม ปีจอ พุทธศักราช ๒๔๕๓ และเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ รวมพระชนมพรรษา ๔๕ พรรษา เสด็จดำรงราชสมบัติรวม ๑๕ ปี

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (Photo by W. & D. Downey/Getty Images)

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีความสนพระราชหฤทัยในกิจการทหารเรือเป็นอย่างมาก เมื่อเริ่มแรกเสด็จเสวยราชย์ พ.ศ. ๒๔๕๔ ก็เสด็จประพาสชายทะเลฝั่งตะวันออกไปจนถึงสงขลา แล้วย้อนกลับมารับเสบียงที่ชุมพร ก่อนจะโปรดเกล้าฯ ให้แล่นเรือตัดปากอ่าวไปเกาะกูดซึ่งเป็นชายแดนด้านตะวันออก ก่อนจะเสด็จเลียบชายฝั่งทะเลมณฑลจันทบุรีกลับกรุงเทพฯ จากนั้นก็เสด็จประพาสชายฝั่งทะเลตะวันออก (อ่าวไทย) อีกหลายครั้ง ครั้งสำคัญคือ พ.ศ. ๒๔๕๗ โปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศสงวนพื้นที่ชายฝั่งสัตหีบไว้กว่า ๒๐,๐๐๐ ไร่ ทรงห้ามชาวต่างชาติเข้าจับจองเด็ดขาด ต่อมา พ.ศ. ๒๔๖๓ กระทรวงทหารเรือจัดการสำรวจทำแผนที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก แล้วพบว่าพื้นที่ที่โปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศสงวนไว้ทำวังเหมาะจะใช้เป็นที่ตั้งฐานทัพเรือ กรมหลวงชุมพรฯ จึงกราบบังคมทูลขอพระราชทาน ก็มีพระราชกระแสตอบกลับว่า เห็นแล้วว่าเหมาะที่จะฐานทัพเรือจึงให้สงวนไว้ รอจนกระทรวงทหารเรือเห็นประโยชน์ก็ยินดีพระราชทานให้

พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่๖ ณ อ.สัตหีบ จว.ชลบุรี

พระมหากรุณาธิคุณต่อกองทัพเรือ

๑. เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๕๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนฐานะ กรมทหารเรือ เป็น กระทรวงการทหารเรือ

๒. ทรงเห็นความสำคัญของการมีเรือรบที่ทันสมัยเพื่อป้องกันราชอาณาจักรทางทะเล แต่งบประมาณแผ่นดินไม่อำนวย เมื่อมีข้าราชการกลุ่มหนึ่งทั้งใน และนอกพระราชสำนัก ร่วมกับประชาชนผู้มีความจงรักภักดี ในเบื้องพระยุคลบาทรวมตัวกันจัดตั้งสมาคม เพื่อจัดการเรี่ยไรเงินเพื่อซื้อหรือสร้างเรือรบถวายไว้ใช้ในราชการกองทัพเรือ ในพ.ศ. ๒๔๕๗ จึงพระราชทานนามสมาคมนั้นว่า “ราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยาม THE ROYAL NAVY LEAGUE OF SIAM” พร้อมกับทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และโปรดพระราชทานนามเรือที่จะซื้อนั้นว่า “พระร่วง” ตามพระนามของวีรกษัตริย์อันเป็นที่นิยมนับถือของชาวไทย พร้อมกันนั้นได้โปรดพระราชทานเงินทุนส่วนพระองค์จำนวน ๘๐,๐๐๐ บาท เป็นทุนประเดิม นอกจากนั้นยังได้ทรงจัดการแสดงละครพระราชนิพนธ์ การแสดงภาพเขียน ฯลฯ เพื่อจัดหารายได้โดยไม่หักค่าใช้จ่ายพระราชทานไปสมทบในการจัดซื้อเรือหลวงพระร่วงอีกหลายครา

วารสารของราชนาวีสมาคม
เข็มเครื่องหมายราชนาวีสมาคม

และโปรดพระราชทานนามเรือที่จะซื้อนั้นว่า “พระร่วง” ตามพระนามของวีรกษัตริย์อันเป็นที่นิยมนับถือของชาวไทย พร้อมกันนั้นได้โปรดพระราชทานเงินทุนส่วนพระองค์จำนวน ๘๐,๐๐๐ บาท เป็นทุนประเดิม นอกจากนั้นยังได้ทรงจัดการแสดงละครพระราชนิพนธ์ การแสดงภาพเขียน ฯลฯ เพื่อจัดหารายได้โดยไม่หักค่าใช้จ่ายพระราชทานไปสมทบในการจัดซื้อเรือหลวงพระร่วงอีกหลายครา

เรือหลวงพระร่วง

๓. เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง ราชนาวิกสภา สำหรับสำหรับนายทหารได้ศึกษาวิชาเพิ่มพูนต่อไปและเพื่อให้นายทหารได้พบปะสนทนาปราศัยแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน

อาคารราชนาวิกสภา (ก่อนการก่อสร้างส่วนต่อเติม : ห้องชมวัง)

และเพื่อให้มีสิ่งพิมพ์เพื่อเผยแพร่วิทยาการความรู้ ราชนาวิกสภา จึงได้ตั้งชื่อสิ่งพิมพ์นั้นว่า นาวิกศาสตร์ โดยจัดทำขึ้นเป็นฉบับแรกเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๖๐ ซึ่งเป็นวันมหามงคลสมัย คล้ายวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ราชนาวี (นาวิกศาสตร์, ๒๔๖๐)

นาวิกศาสตร์

๔. เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๕ ทรงพระราชทานที่ดินทรงสงวนบริเวณอำเภอสัตหีบ ให้ใช้เป็นที่ตั้งฐานทัพเรือ ตามที่นายพลเรือเอก พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ เสนาธิการทหารเรือ ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพื้นที่อ่าวสัตหีบ ซึ่งโปรดให้สงวนไว้เพื่อใช้ราชการเป็นฐานทัพเรือ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้นี้ จึงทำให้เรามีฐานทัพเรือเป็นฐานส่งกำลังบำรุง และที่จอดเรือรบ รวมทั้งเป็นที่ตั้งหน่วยงานสำคัญตราบจนทุกวันนี้

ลายพระหัตถ์รัชกาลที่๖ พระราชทานที่ทรงสงวนให้เป็นที่ตั้งฐานทัพเรือสัตหีบ
พระราชานุสาวรีย์รัชกาลที่6 ณ พื้นที่อ.สัตหีบ จว.ชลบุรี

๕. ทรงวางรากฐานการศึกษาเกี่ยวกับสงครามใต้น้ำให้กับกองทัพเรือ ซึ่งพลเรือเอกศุภกร บูรณดิลก และอาจารย์วรชาติ มีชูบท ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ในรัชสมัยพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ระบุว่าในครั้งแรกทรงมีพระราชดำริที่จะส่งทหารเรือไทยไปฝึกการปฏิบัติงานในเรือดำน้ำในราชนาวีเดนมาร์ค แต่ถูกปฏิเสธ จึงทรงให้กระทรวงการต่างประเทศประสานรัฐบาลอังกฤษ (โดยทรงใช้ความสัมพันธ์ส่วนพระองค์กับประเทศอังกฤษ) ส่งนายนาวาตรีหลวงหาญกลางสมุทร (ยศในขณะนั้น) ไปศึกษาเรื่องเรือดำน้ำ ณ ประเทศอังกฤษ โดยทุนการศึกษาส่วนพระองค์ ซึ่งนับเป็นกำลังพลเรือดำน้ำคนแรกของประเทศไทย และต่อมาท่านผู้นี้ได้มีส่วนในการช่วยบุกเบิกการก่อตั้งกองเรือดำน้ำของไทยได้สำเร็จ

พลเรือตรี พระยาหาญกลางสมุทร (บุญมี พันธุมนาวิน)

๖. ทรงให้ความรู้เกี่ยวกับทหารเรือและการทำงานในเรือดำน้ำแก่ประชาชนทั่วไปผ่านบทความต่างๆ โดยทรงใช้พระนามแฝงว่า “พันแหลม” สำหรับเรื่องเกี่ยวกับทหารเรือ และ “สุครีพ” ทรงใช้สำหรับนิทานเบ็ดเตล็ดเกี่ยวกับทหารเรือ ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ดุสิตสมิต และหนังสือพิมพ์ไท เรื่องเกี่ยวกับเรือดำน้ำ ตีพิมพ์ในนิตยสารสมุทสาร อาทิ
พระราชนิพนธ์บทละคร เรื่อง “ร.ต.ล. นนทรี” (ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารสมุทสาร) กล่าวถึงการปฏิบัติงานในเรือหลวงใต้น้ำนนทรี ซึ่งเป็นเรือสมมุติ ซึ่งกล่าวได้ว่า“ร.ต.ล. นนทรี” เป็นหนังสือที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการทำงานในเรือดำน้ำแก่ประชาชนทั่วไป เล่มแรกๆในรูปแบบของบันเทิงคดี ตัวอย่างเช่น คำกล่าวของนายเรือเอกเดช วรนาวิน ผู้บังคับการเรือดำน้ำ เกี่ยวกับวิธีการหลบหนีออกจากเรือดำน้ำที่ประสบภัยพิบัติจมลงใต้น้ำ ในหน้าที่ ๔๘ – ๔๙ ว่า “เมื่อไขน้ำเฃ้าถังอับเฉากับท้องเรือ เราได้อัดอากาศในเรือนี้เฃ้าได้เป็นสองเท่าตัว, คือเราได้แก้ไขให้พอสู้กับความบีบของน้ำฃ้างนอกได้ — กล่าวโดยย่อ, การที่เราได้ทำเช่นนี้ เป็นผลให้เราสามารถเปิดฝาปล่องหอบังคับเรือได้. ข้อนี้เป็นสำคัญ, เพราะมีทางจะออกจากเรือนี้ได้ทางปล่องนั้น” และสะท้อนให้เห็นถึงความอดทนกล้าหาญเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของนักเรือดำน้ำไทย ดังเช่น คำกล่าวของผู้บังคับการเรือ ในหน้าที่ ๔๖ ว่า “การที่จะร้องไห้ไม่เห็นเปนประโยชน์อะไร ! ต้องแสดงตัวเป็นลูกผู้ชาย, เปนคนไทย. เราเปนลูกหลานนักรบ จะกลัวตายมีอย่างหรือ?”
– และพระราชนิพนธ์บทละคร เรื่อง มหาตมะ มีเนื้อหากระตุ้นในชาวไทยเกิดความรักชาติและเห็นในความสำคัญของการมีเรือรบเพื่อรักษาอธิปไตยของชาติ กล่าวถึงนายสน ซึ่งมีทรัพย์สินมาก แต่ไม่เห็นด้วยกับการจัดซื้อเรือรบประจำการในราชนาวีไทย โดยเห็นว่าเป็นเรื่องไกลตัวสิ้นเปลืองไร้ประโยชน์ และเขียนบทความต่อต้านการเรี่ยไรเงินเพื่อจัดซื้อเรือรบของทางการ โดยใช้นามแฝงว่า “ทุ่นดำ” ต่อมานายสนได้พบกับมหาตมะ บุคคลลึกลับที่ไม่มีใครเห็นตัวนอกจากนายสน นำเขาไปสู่ความฝันประหลาด กองกำลังต่างชาติบุกเข้ามาในประเทศได้ ทำให้นายสนต้องสูญเสียอิสรภาพ เสียที่ดินและทรัพย์สินทั้งหมด แม้แต่ชีวิตเกือบจะรักษาไว้ไม่ได้ ทำให้เขากลับใจ และตระหนักถึงความสำคัญของกองทัพเรือ ที่จะต้องมีเรือรบที่ทันสมัยเพื่อป้องกันอธิปไตยของชาติ

อ้างอิง
ส.จ. ราชนาวีสมาคมกับราชนาวิกสภา. นาวิกศาสตร์. เล่มที่๖. พ.ศ.๒๔๙๒
พลเรือโท ทวีวุฒิ พงศ์พิพัฒน์. ที่ดินทรงสงวนแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทย. นาวิกศาสตร์. กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๔
ภิยะพรรณี วัฒนายากร. ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับความคุ้มค่าในการประจำการเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทย. นาวิกศาสตร์ ตุลาคม ๒๕๖๐

หมายเหตุ

๑.แม้ในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ของทุกปี ทางราชการจะกำหนดให้มีการถวายบังคมพระบรมราชานุสรณ์ ณ สวนลุมพินี อันเป็นรัฐพิธี เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวาระวันคล้ายวันสวรรคต

แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว พระองค์ท่านเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๖๘ เวลา ๑ นาฬิกา ๔๕ นาที ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง  แต่ประเพณีไทยถือว่ายังเป็นวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน จึงจัดงานวันคล้ายวันสวรรคตในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ของทุกปี https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_4420

 

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๒ คณะรัฐมนตรี ซึ่งมีจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ลงมติให้วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน เป็นวันที่ระลึกคล้ายวันสวรรคตในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และกำหนดให้มีรัฐพิธีถวายบังคมพระบรมราชานุสรณ์ ณ สวนลุมพินี เป็นประจำทุกปีนับแต่นั้นมา https://www.facebook.com/roybilan/posts/997668533631441

๒. พระราชสมัญญานาม สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าอยู่หัวมีพระอัจฉริยภาพในด้านอักษรศาสตร์  ได้ทรงสร้างสรรค์มรดกทางวรรณกรรมเป็นจำนวนมากให้ประชาชนชาวไทยได้อ่าน  และชื่นชมสืบทอดกันมา อีกทั้งทรงประกอบพระราชกรณียกิจอื่นๆ  อันเป็นคุณประโยชน์แก่ประชาชนและชาติไทยนานัปการ  จึงทรงได้รับการยกย่องเทิดพระเกียรติคุณด้วยพระราชสมัญญานามว่า “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า”   ซึ่งหมายถึงมหาราชผู้เป็นจอมปราชญ์

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *