ท่าราชวรดิฐ หรือ ท่านิเวศน์วรดิฐ

ท่าราชวรดิฐ

ท่าราชวรดิฐ

คนส่วนใหญ่มักสับสนในการเรียกชื่อท่าน้ำทางทิศตะวันตกของพระบรมมหาราชวัง ระหว่างชื่อ ท่าราชวรดิฐ กับ ท่านิเวศน์วรดิฐ ผู้เขียนจึงได้ค้นคว้าหาข้อมูลด้วยสงสัยเช่นเดียวกันว่าที่ถูกคือชื่อใด ซึ่งได้ความว่า ท่าราชวรดิฐ กับ ท่านิเวศน์วรดิฐ เป็นท่าน้ำสองท่าที่อยู่ในบริเวณใกล้กัน

ท่าราชวรดิฐ เป็นท่าเทียบเรือเฉพาะเรือพระที่นั่งของพระมหากษัตริย์ มีมาตั้งแต่สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เดิมเรียกกันว่า พระฉนวนน้ำ โดยมีกำแพงฉนวนกั้นมาจากประตูพระบรมมหาราชวังฝ่ายในจนถึงบริเวณริมน้ำ ที่ท่าทำเป็นศาลาใหญ่มุงกระเบื้องมีช่อฟ้าใบระกา 1 หลัง ด้านหน้าศาลามีมุขลดเล็กๆ เป็นซุ้มประตูไม้ตรงต้นสะพาน เป็นที่เสด็จประทับเมื่อมีพระราชพิธีลอยพระประทีปในเดือนสิบเอ็ด สิบสอง และเป็นที่พาดบันไดประทับเรือพระที่นั่ง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2327 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้สร้างพระตำหนักแพลอยขนาด 5 ห้อง จอดไว้ทางเหนือ ภายหลังโปรดให้รื้อพระตำหนักแพลอยน้ำในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แล้วโปรดให้สร้างพระที่นั่งสามหลังที่ริมน้ำตรงพระฉนวนน้ำเดิม มีลักษณะเป็นเรือนไม้มีฝากระดานรอบสามด้าน ด้านหน้าเป็นกรงตั้งอยู่บนคานปลายเสาตอม่อคล้ายเรือนแพ หลังคามุงกระเบื้องมีช่อฟ้าใบระกา มุขด้านหน้าริมน้ำเป็นมุขลดสองชั้น หน้าบันประเจิด เสร็จสมบูรณ์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียกว่า พระตำหนักน้ำ เป็นตำหนักเล็กๆ ยื่นลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา

แพพระมณฑป ในพระราชพิธีลงสรง ปี พ.ศ.2429
แพพระมณฑป พระราชพิธีลงสรง บริเวณท่าราชวรดิฐ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

เหนือพระตำหนักขึ้นไปเป็นท่าจอดเรือพระที่นั่ง และเรือข้าราชการผู้ใหญ่เรียกกันว่า “ท่าขุนนาง” กระทั่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะใหม่ โดยโปรดให้ถมที่ออกไปเสมอกัน สร้างพระที่นั่งหมู่ 4 องค์ และโปรดพระราชทานนามว่า “ท่าราชวรดิฐ” ดังพระราชนิพนธ์ว่า      “แต่ท่านขุนนางนั้นเห็นว่าเป็นท่าอันควรที่จะมีชื่อ จึงให้ตั้งชื่อของท่านั้นว่า ท่าราชวรดิฐ ราชะ แปลว่า พระยามหากษัตริย์ วระ แปลว่า ประเสริฐ ดิฐ แปลว่า ท่าน้ำหรือฝั่งตลิ่ง ก็ได้ รวมสามคำว่า ราชวรดิฐ นั้น แปลรวมๆ รวบๆ ว่าท่าอันประเสริฐแห่งราชการดังนี้” (พระราชนิพนธ์ตอนหนึ่งเรื่องตำหนักแพในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ; รัชกาลที่๔)

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้รื้อตำหนักเดิมแล้วลงเขื่อนถมที่ขึ้นเสมอพื้นแผ่นดิน สร้างพระที่นั่งขึ้นหมู่หนึ่งเป็นพลับพลาสูงตรงกลางหนึ่งองค์ พระราชทานพระนามว่า พระที่นั่งชลังคพิมาน ต่อจากพลับพลาสูงเข้าไปทางด้านตะวันออก มีพระที่นั่งสูงเป็นที่ประทับองค์หนึ่งพระราชทานนามว่าพระที่นั่งทิพยสถานเทพสถิตย์ ด้านเหนือลดพื้นต่ำลงมาเป็นท้องพระโรงผ่านหน้าองค์หนึ่งพระราชทานนามว่า พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย และด้านใต้เป็นพระที่นั่งเหมือนกับพระที่นั่งด้านเหนือ เป็นที่พักผ่อนฝ่ายในอีกพระองค์หนึ่ง พระราชทานนามว่า พระที่นั่งอนงค์ในสราญรมย์

 

ตรงหน้าพระที่นั่งชลังคพิมานใต้ท่าเสด็จลงเรือ ก่อเขื่อนทำสระเป็นที่สรงสระหนึ่ง ก่อกำแพงเป็นบริเวณข้างในทั้ง 3 ด้าน มีป้อมริมน้ำปลายกำแพงด้านเหนือ (ในภาพเป็นป้อมกำแพงสีขาว)  พระราชทานชื่อว่า ป้อมพรหมอำนวยศิลป์ ป้อมข้างใต้ตรงกันชื่อว่า ป้อมอินทร์อำนวยศร

พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย

พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย (ปี 2493)
พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย (ปี 2560)

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระที่นั่งในท่าราชวรดิฐชำรุดทรุดโทรมลงมากจึงโปรดให้รื้อออก เหลือไว้เพียง พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย เพียงองค์เดียว นอกนั้นปรับพื้นที่ทำเป็นสนามหญ้าดังที่เห็นกันในปัจจุบัน ส่วนนาม “ท่าขุนนาง” ถูกนำไปใช้เรียกเป็นชื่อถนนสายสั้นๆ ที่แยกจากถนนมหาราชเข้าไปในบริเวณท่าราชวรดิฐว่า “ถนนท่าขุนนาง”

ท่านิเวศน์วรดิฐ

ท่านิเวศน์วรดิฐ เป็นท่าเทียบเรืออยู่ทางด้านทิศเหนือของท่าราชวรดิฐ ด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างท่าสำหรับเรือข้าราชการอีกท่าหนึ่ง จึงเรียกว่า ท่านิเวศน์วรดิฐ

ท่านิเวศน์วรดิฐ

ปัจจุบันเป็นท่าเรือรับส่งข้าราชการทหารเรือเพื่อข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยาจากฝั่งพระนครไปยังฝั่งธนบุรี โดยขึ้นตรงท่าน้ำราชนาวิกสภา

บรรณานุกรม
กรมศิลปากร. กองจดหมายเหตุแห่งชาติ. จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2525.
กรมศิลปากร. กองโบราณคดี. รายงานการสำรวจโบราณสถานในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม 4. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2548.
ศูนย์ข้อมูลเกาะรัตนโกสินทร์ http://www.lib.su.ac.th/rattanakosin                                                                          ภาพพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย ยุคปัจจุบัน จาก เฟสบุค B Sek Sek

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *