
ดังนั้น จึงได้มีการเชิญสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ขึ้นทรงราชสมบัติที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล มีพระราชพิธีบวรราชาภิเษกเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2394 และทรงรับพระบวรราชโองการให้พระเกียรติยศเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่ 2 โดยได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า
“พระบาทสมเด็จพระปวเรนทราเมศร์มหิศเรศรังสรรค์ มหันตรวรเดชโชไชย มโหฬารคุณอดุลย สรรพเทเวศรานุรักษ บวรจุลจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสังสุทธเคราะหณี จักรีบรมนาถ อิศวรราชรามวรังกูร บรมมงกุฎนเรนทร สูรยโสทรานุชาธิบดินทร เสนางคนิกรินทร บวราธิเบศร พลพยุหเนตรนเรศวร มหิทธิวรนายก สยามาทิโลกดิลกมหาบุรุษรัตนไพบูลยพิพัฒนสรรพศิลปาคม สุนทรโรดมกิจโกศล สัตปดลเสวตรฉัตร ศิริรัตนบวรมหาราชาภิเศกาภิสิต สรรพทศทิศพิชิตไชยอุดมมไหสวริยมหาสวามินทร สเมกธรณินทรานุราช บวรนารถชาติอาชาวศรัย ศรีรัตนไตรสรณารักษ์ อุกฤษฐศักดิสรรพรัษฎาธิเบนทร ปวเรนทรธรรมมิกราชบพิตร พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว”
พระราชกิจจานุกิจด้านการทหารเรือ
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือเป็นพระองค์แรก หลังจาก ได้รับพระราชทานบวรราชาภิเษก และทรงดำรงตำแหน่งนี้อยู่จนตลอดพระชนชีพ นับได้ว่าพระองค์เป็นผู้ทรง วางรากฐานการจัดกิจการทหารเรือให้เข้าสู่ระบบสากลตามแบบอย่างอารยะประเทศ
พระราชกรณียกิจด้านทหารเรือนี้เริ่มเป็นที่ประจักษ์ตั้งแต่ช่วงต้นของปี พ.ศ.2384 ซึ่งในขณะนั้นประเทศไทยได้ทำสงครามติดพันกับญวน ติดต่อกันมาหลายปี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์) เป็นแม่ทัพใหญ่คุมกองทัพเรือยกทัพไปตีเมืองบันทายมาศ เพื่อทำให้ญวนเกิดความระส่ำระสายและถ่วงเวลาให้ กองทัพบกของไทยทำการถมคลองตัดเส้นทางส่งเสบียงตลอดจนเส้นทางคมนาคมเพื่อป้องกันไม่ให้กองทัพญวนมาตั้ง ในเขมรได้ แต่การศึกครั้งนั้นฝ่ายไทยต้องยกทัพกลับเพราะกองทัพของญวนได้ทำการสู้รบอย่างเข้มแข็ง
หลังพระราชพิธีบวรราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงจัดตั้งกรมทหารเรือวังหน้าขึ้น พระองค์ทรงทำนุบำรุงด้านกำลังทหารเรืออย่างต่อเนื่อง ทรงสร้างโรงทหารเรือขึ้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศใต้ของตำหนักแพ (บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปัจจุบัน) นอกจากนั้นยังได้ทรงดัดแปลงกำปั่นไทยให้เป็นเรือรบ 2 ลำ โดยพระราชทานนามว่า “อาสาวดีรส” และ “ยงยศอโยชฌิยา”
ต่อมาในปีพ.ศ.2375 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์สร้าง “ป้อมพิฆาตข้าศึก” ขึ้นเพื่อรักษาปากน้ำแม่กลองที่สมุทรสงครามนับเป็น พระราชกรณียกิจแรกที่เกี่ยวกับราชการบ้านเมืองซึ่งได้มีการบันทึกไว้ในพระ ราชพงศาวดาร
กองอาสาญวนและกองทหารต่างด้าว
ในรัชสมัยสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพวกญวนอพยพเข้ามา 3 ครั้งด้วยกัน ในครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2377 ได้มีพวกญวนที่นับถือศาสนาคริสต์อพยพเข้ามาด้วย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้แยกจากพวกนับถือศาสนาพุทธ มาตั้งบ้านเรือนบริเวณสามเสน โดยให้ขึ้นกับสมเด็จเจ้าฟ้า กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ และฝึกหัดให้เป็นทหารปืนใหญ่ ในการอพยพในครั้งที่ 3 ในปีพ.ศ.2383 เป็นพวกญวนที่นับถือศาสนาพุทธ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้พวกนี้ไปอยู่ที่บางโพธิ์ และขึ้นอยู่กับสมเด็จพระเจ้า น้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ สังกัดกรมอาสาญวน เป็นพลทหารปืนใหญ่ประจำป้อม นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงเป็นผู้บัญชาการทหารปืนใหญ่และทหารต่างด้าว ได้ทรงจัดวิธีการฝึกทหารแบบตะวันตกขึ้น ทรงปรับปรุงและจัดเป็นวิชาการทหารปืนใหญ่ตามแบบยุโรปทั้งทางด้านยุทธศาสตร์ และยุทธวิธีโดยใช้ปืน ใหญ่ซึ่งหล่อขึ้นเองด้วยเหล็ก ส่วนเครื่องแบบได้ให้แต่งตามแบบทหารซีปอย
ตำราปืนใหญ่
ในฐานะที่พระบาท สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นแม่กองฝึกยิงปืนใหญ่ และทรงบังคับบัญชาทหารปืนใหญ่ ทำให้จำเป็นต้องมีตำราเพื่อใช้ในการฝึก จึงได้ทรงพระราชนิพนธ์ตำราปืนใหญ่ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2348 โดยทรงแปลจากตำราภาษาอังกฤษ การหล่อปืนตามแบบวิธีการสมัยใหม่ และการยิงปืน ทรงรวบรวมทำเนียบนามปืนใหญ่ ตลอดจนความเชื่อและเคล็ดลับอาถรรพ์ต่างๆ ของไทยแทรกไว้ด้วย ตำรานี้เดิมใช้ฝึกหัดทหาร ปืนใหญ่ญวน แต่ต่อมาได้ใช้นำมาฝึกหัดทหารปืนใหญ่ของไทยเรื่อยมา จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้มีต้นฉบับเป็นสมุดเขียนตัวรงค์ด้วยลายมืออาลักษณ์
การวางผังถนนเจริญกรุง
เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีความเชี่ยวชาญในเรื่องปืนใหญ่ได้ทรง ทักท้วงการวางผัง การตัดถนนสายตรงจากสามแยกพุ่งเข้ามายังพระนคร เพราะทรงเห็นว่าหากข้าศึกนำปืนใหญ่มาตั้งที่ถนน จะง่ายต่อการยิงเข้าประตูเมือง ดังนั้นจึงได้ตัดถนนเจริญกรุงโค้งอ้อมมาทางสะพานดำรงสถิตซึ่งจะเห็นว่า ปัจจุบันถนนนี้มีการหักมุมกันอยู่
———————-
การทหารเรือ การทหารเรือ ของไทยเรานั้น เริ่มมีเค้าเปลี่ยนจากสมัยโบราณเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ในสมัยรัชกาลที่ 3 และผู้ที่เป็นกำลังสำคัญ ในกิจการด้านทหารเรือในสมัยนั้น คือ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ และ จมื่นไวยวรนาถ (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ : ช่วง บุนนาค) ด้วยทั้ง 2 ท่านนี้มีความรู้ในวิชาการต่อเรือในสมัยนั้นเป็นอย่างดี จึงได้รับหน้าที่ปกครอง บังคับบัญชาการทหารเรือในสมัยนั้น
ต่อมาได้แบ่งหน้าที่กันโดยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงบังคับบัญชาทหารเรือ วังหน้า ส่วนทหารเรือบ้านสมเด็จอยู่ในปกครองบังคับบัญชาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ในยามปกติทั้ง 2 ฝ่าย นี้ ไม่ขึ้นแก่กันแต่ขึ้นตรงต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงฝึกฝนทหารของพระองค์ โดยใช้ทั้งความรู้และความสามารถ และยังทรงมุ่งพระราชหฤทัยในเรื่องการค้าขายให้มีกำไร สู่แผ่นดินด้วยมิใช่สร้าง แต่เรือรบเพราะได้ทรงสร้างเรือเดินทะเล เพื่อการค้าระหว่างประเทศอีกด้วย นอกจากนี้พระองค์ได้ทรงนำเอาวิทยาการ สมัยใหม่ของยุโรป มาใช้ฝึกทหารให้มีสมรรถภาพเป็นอย่างดี ทรงให้ร้อยเอก น็อกส์ (Thomas George Knox) เป็นครูฝึกทหารวังหน้า
ทำให้ทหารไทยได้รับวิทยาการอันทันสมัยตามแบบทหารเกณฑ์หัดอย่างยุโรปการฝึกหัดใช้คำบอกทหารเป็น ภาษาอังกฤษทั้งหมดเริ่มมีเรือรบกลไฟเป็นครั้งแรก ชื่อเรืออาสาวดีรส 3 และเรือยงยศอโยชฌิยา 4 (หรือยงยศอโยธยา) ซึ่งเมื่อครั้งเรือยงยศอโยชฌิยา ได้เดินทางไปราชการที่สิงคโปร์ ก็ได้รับคำชมเชยจากต่างประเทศเป็นอันมาก ว่าพระองค์มีพระปรีชาสามารถทรงต่อเรือได้ และการเดินทางในครั้งนั้นเท่ากับเป็นการไปอวดธงไทยในต่างประเทศ ธงไทยได้ถูกชัก ขึ้นคู่กับธงอังกฤษ ที่ฟอร์ทแคนนิ่งด้วย และแม้พระเจ้าลูกยาเธอหลายพระองค์ก็ทรงโปรด ฯ ให้เป็นทหารเรือเช่นกัน
ประวัติของเรือที่พระองค์ทรงมีใช้ในสมัยนั้น ตามที่พลเรือตรี แชน ปัจจุสานนท์ ได้รายงานเล่าไว้ในหนังสือประวัติทหารเรือไทย มีดังนี้
- เรือพุทธอำนาจ (Fairy) สร้างเมื่อ พ.ศ. 2379 เป็นเรือชนิดบาร์ก (Bark) ขนาด 200 ตัน มีอาวุธปืนใหญ่ 10 กระบอก เรือลำนี้เป็นของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ เมื่อ พ.ศ. 2384 ไปราชการทัพรบกับญวน ใช้เป็นเรือพระที่นั่งของแม่ทัพ คือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เมื่อครั้งทรงเป็นกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ยกกองทัพไปรบกับญวน ตีเมืองบันทายมาศ (ฮาเตียน)
- เรือราชฤทธิ์ (Sir Walter Scott) สร้างเมื่อ พ.ศ. 2379 เป็นเรือแบบเดียวกันกับพุทธอำนาจ เมื่อ พ.ศ. 2384 ไปราชการทัพรบกับญวน
- เรืออุดมเดช (Lion) สร้างเมื่อ พ.ศ. 2384 เป็นเรือชนิดบาร์ก (Bark) ขนาด 300 ตัน เรือลำนี้เป็นของพระบาทสมเด็จ พระปิ่นเกล้าฯ เมื่อ พ.ศ. 2384 ได้ใช้ไปราชการทัพรบกับญวน พ.ศ. 2387 ได้นำสมณทูตไปลังกา
- เรือเวทชงัด (Tiger) สร้างเมื่อ พ.ศ. 2386 เป็นเรือชนิดสกูเนอร์ (Schooner) ขนาด 200 ตัน เรือลำนี้เป็นของพระบาท สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ
- เรือพุทธสิงหาศน์ (Cruizer) สร้างเมื่อ พ.ศ. 2398 เป็นเรือชนิดชิพ ขนาด 400 ตัน เรือลำนี้เป็นของพระบาทสมเด็จ พระปิ่นเกล้าฯ
- เรือมงคลราชปักษี (Falcon) ซื้อเมื่อ พ.ศ. 2400 เดิมเป็นเรือของชาวอเมริกัน ชนิดสกูเนอร์ (Schooner) ขนาด 100 ตัน พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ ทรงซื้อมา แล้วดัดแปลงใช้เป็นเรือรบ เรือพระที่นั่งของพระองค์
เกียรติประวัติของการทหารเรือไทยสมควรจะต้องยกถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะพระองค์เป็นผู้ที่ทรงสนพระราชหฤทัยในกิจการทหารเรือในสมัยนั้นเป็นอย่างมาก เมื่อปรากฏว่ามีเรือรบต่างประเทศเข้ามาเยี่ยม ประเทศไทยคราวใดพระองค์ก็มักหาโอกาสเสด็จไปเยี่ยมเยียนเรือรบเหล่านั้นเสมอ เพื่อจะได้ทรงทราบว่าเรือรบต่าง ประเทศเขาตกแต่งและจัดระเบียบเรือกันอย่างไร แล้วนำมาเป็นแบบอย่างให้กับเรือรบของไทยในเวลาต่อมา
จากพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเห็นได้ว่าพระองค์ทรงเป็นผู้นำในเรื่องเรือสมัยใหม่ ซึ่งผู้คนในสมัยนั้นไม่มีใครเชื่อเลยว่าเหล็กจะลอยน้ำได้แต่พระองค์ได้ทรงแสดงพระปรีชาสามารถให้ปรากฏ ทรงต่อเรือรบ กลไฟขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย ทรงมีพระปรีชาสามารถหลายด้าน ทรงแตกฉานเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษจนสามารถติดต่อ กับชาวต่างประเทศได้เป็นอย่างดีพระสหาย และพระอาจารย์เป็นชาวอเมริกันเสียเป็นส่วนมากทรงหมกมุ่นกับกิจการทหารเรือมาตั้งแต่ต้น
ด้วยเหตุนี้จึงถือได้ว่าพระองค์ทรงเป็น ผู้บัญชาการ ทหารเรือ พระองค์แรก และควรถวายพระนามว่า ผู้บัญชาการทหารเรือวังหน้า สมควรได้รับการถวายพระเกียรติยศขั้นสูงสุด จากเราชาวกองทัพเรือ ตั้งแต่นี้และตลอดไป
หลังจากพระราชพิธีบวรราชาภิเษกแล้ว พระองค์ก็เริ่มทรงพระประชวรบ่อยครั้ง หาสมุฏฐานของพระโรคไม่ได้ จนกระทั่งประชวรด้วยวัณโรคและเสด็จสวรรคตเมื่อวันอาทิตย์ เดือน 2 แรม 6 ค่ำ เวลาเช้าย่ำรุ่ง ตรงกับวันที่ 7 มกราคม 2408 สิริพระชนมายุ 58 พรรษา ทรงอยู่ในบวรราชสมบัติทั้งสิ้น 15 ปี มีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบวรศพเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2409 โดยมีการจัดการแห่พระเมรุมาศพระบวรศพเช่นเดียวกับพระศพสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ แต่เพิ่มเติมพระเกียรติยศพิเศษขึ้นหลายประการตามพระยศที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลหลายแหล่งกล่าวตรงกันว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระปรีชาสามารถมาก ทรงรอบรู้งานใน ด้านต่าง ๆ มากมาย เช่น งานด้านกองทัพบก กองทัพเรือ ด้านต่างประเทศ วิชาช่างจักรกล และวิชาการปืนใหญ่ ทรงรอบรู้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างดีจนสามารถที่จะทรงเขียนโต้ตอบจดหมายเป็นภาษาอังกฤษ กับ เซอร์ จอห์น เบาริง ราชทูตอังกฤษ ที่เดินทางมาเจริญพระราชไมตรีกับประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2398 (ค.ศ. 1855)
ซึ่งข้อความในสนธิสัญญานั้น ถ้าเอ่ยถึง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะมีคำกำกับว่า The First King ส่วนพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวจะมีคำกำกับว่า The Second King สำหรับในภาษาไทยนั้น ตามสนธิสัญญา ทางไมตรีกับประเทศอังกฤษ ในบทภาค ภาษาไทยจะแปลคำว่า The First King ว่า พระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์เอก ส่วนคำว่า The Second King นั้นจะแปลว่า พระเจ้าประเทศสยามพระองค์ที่ 2 นั่นเอง
*หลังจากที่ได้รับพระราชทานบวรราชาภิเษกเป็น “พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว” เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2394 ทรงมีศักดิ์สูงเสมอพระมหากษัตริย์เป็น “พระเจ้าประเทศสยามองค์ที่ 2” ได้ทรงย้ายมาประทับ ณ พระบวรราชวัง (ปัจจุบันคือบริเวณพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ) จนสิ้นพระชนม์ลงใน วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2408 ขณะที่ทรงมีพระชนมายุได้ 58 พรรษา