พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่๙ ทรงมีคุณูปการแก่กองทัพเรืออย่างอเนกอนันต์ ซึ่งทหารเรือทุกนายต่างซาบซึ้งและเปี่ยมไปด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ /เรียบเรียงโดย Navy24
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือนอ้าย ปีเถาะ จุลศักราช ๑๒๘๙ รัตนโกสินทร์ศก ๑๔๖ ตรงกับวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ ณ โรงพยาบาลเมานท์ ออเบิร์น (Mount Auburn) เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซทท์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ทรงเป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ หรือเจ้าฟ้าทหารเรือ กับ หม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา พระราชบิดาของพระองค์ท่านทรงเชี่ยวชาญทางเรือดำน้ำและเรือตอร์ปิโดรักษาฝั่ง ทรงจัดทำโครงการเกี่ยวกับเรือดำน้ำไว้ มีผลให้เวลาต่อมา กองทัพเรือได้สั่งต่อเรือดำน้ำจำนวน ๔ ลำ อีกทั้งยังได้ทรงร่างโครงการสร้างกำลังทางเรือทั้งกองทัพไว้อีกด้วย จึงทำให้เกิดการสร้างกำลังรบทางเรือไว้ป้องกันประเทศชาติในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบัน
ย้อนไปเมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๔๙๓ เมื่อครั้งเสด็จพระราชดําเนินกลับจากยุโรป เสด็จนิวัตพระนครโดยเรือหลวงศรีอยุธยา กองทัพเรือได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเครื่องยศ “จอมพลเรือ” ณ ห้องโถงนายทหาร เรือหลวงศรีอยุธยา พระองค์ทรงรับแล้วมีพระราชดำรัสตอบ ความตอนหนึ่งว่า “ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ได้เห็นบรรดาเหล่าทหารเรือท้ังหลายได้พร้อมใจนําเครื่องยศจอมพลเรือมาให้ และอวยพรให้ข้าพเจ้า ในโอกาสท่ีกลับสู่พระนครในวันนี้ ข้าพเจ้าขอรับด้วยความขอบใจ และจะรักษาเกียรติศักดิ์น้ีด้วยดีอยู่เสมอ” ซึ่งยังความปลื้มปิติแก่ชาวราชนาวีไทยเป็นล้นพ้น
เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ยังทรงพระเยาว์ ทุกครั้งที่เสด็จประทับบนเรือพระที่นั่งซึ่งกองทัพเรือจัดถวายจะทรงมีความสนพระทัยในระบบอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ บนเรือ
อีกทั้งยังทรงโปรดการต่อเรือจำลองด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เองอยู่เสมอ เช่นการที่ทรงต่อเรือหลวงศรีอยุธยาจำลอง ซึ่งเป็นเรือรบหลวงที่กองทัพเรือจัดถวาย เมื่อครั้งทรงเสด็จนิวัตพระนครพร้อมสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล และ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ดังความในบทพระราชนิพนธ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เรื่อง “เจ้านายเล็กๆ ยุวกษัตริย์” ทรงเล่าไว้ว่า
“พระอนุชาได้เริ่มทำแบบเรือต่างๆ ด้วยไม้ เช่น แบบเรือรบที่ไม่มีขาย ในระยะนั้นกำลังทำเรือ ใบที่ใหญ่พอสมควร ใบก็เุย็บเองด้วยจักรเสร็จแล้ว เหลือแต่การทาสี เมื่อเริ่มไปแล้ว ก็พอดีเป็นเวลาที่กำลังจะตัดสินว่าจะอพยพออกไปสวิตเซอร์แลนด์ ทรงเล่าว่า ทุกคนก็ถามอย่างล้อๆ ว่า เรือจะ แห้งทันไหม”
เมื่อครั้งทรงศึกษาอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงโปรดการประดิษฐ์ของเล่นด้วยพระองค์เอง เช่น เครื่องร่อน และเรือรบจำลอง เป็นต้น หลังจากเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้วทรงมีพระราชภารกิจต่าง ๆ มากมาย จึงทรงงานช่างงานประดิษฐ์น้อยลง ด้วยทรงตระหนักว่าประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยามย่อมต้องมีความสำคัญก่อนเสมอ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว ทรงมีพระราชภารกิจมากมายจึงมิได้ทรงงานช่างอีก หากแต่ความสนพระราชหฤทัยในด้านการต่อเรือก็มิได้หมดไป พระองค์ยังทรงพระราชทานแนวพระราชดำริซึ่งเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่กองทัพเรืออย่างหาที่สุดมิได้ทำให้กิจการของกองทัพเรือได้ก้าวไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง
เมื่อครั้งที่เสด็จประพาสยุโรป ในปี พ.ศ.๒๕๐๓ พระองค์ ได้ทอดพระเนตรกิจการต่อเรือของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะการต่อเรือเร็วรักษาฝั่งที่สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ทรงมีพระราชดำริว่า “ กองทัพเรือควรต่อเรือประเภทนี้ไว้ใช้ในราชการเองบ้าง เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของประเทศ ” และเมื่อกองทัพเรือได้ดำเนินการต่อเรือตามพระราชดำริ โดยเริ่มจาก เรือ ต.๙๑ เป็นลำแรก

ในปี พ.ศ.๒๕๑๐ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานคำปรึกษา และพระราชทานความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่องโดยตลอด อีกทั้งยังเสด็จมาเป็นประธานในพิธีวางกระดูกงูเรือ และเมื่อการต่อเรือ ต.๙๑ แล้วเสร็จยังได้เสด็จทอดพระเนตรการทดสอบเรือด้วยพระองค์เอง พร้อมกับพระราชทานข้อคิดเห็นในการแก้ไขข้อบกพร่องทางเทคนิคของเรือ จนเรือสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเรือยนต์รักษาฝั่งลำแรกของไทย ตั้งชื่อว่า “ต. ๙๑” (อักษรย่อ ต. หมายถึงประเภทเรือเป็นเรือตรวจการณ์ เลข ๙ หมายถึงรัชกาลที่ ๙ และเลข ๑ หมายถึงเป็นลำที่ ๑ ของเรือชุดนี้) หลังจากนั้นได้มีการต่อเรือยนต์รักษาฝั่งในชุดนี้ อีก ๘ ลำ คือ เรือ ต.๙๒- ต.๙๙ และได้เปลี่ยนชื่อจาก “เรือยนต์รักษาฝั่ง” เป็น “เรือตรวจการใกล้ฝั่ง”
หลังจากกองทัพเรือเว้นว่างจากการต่อเรือประเภทเรือยนต์ปืนตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเป็นระยะเวลานาน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรได้ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งพระราชทานแก่ผู้บังคับหมู่เรืออารักขา ซึ่งได้เข้าเฝ้า ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน เมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๕ ว่า
“เรือรบขนาดใหญ่มีราคาแพง และมีค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานสูง กองทัพเรือจึงควรใช้เรือที่มีขนาดเหมาะสมและสร้างได้เอง ซึ่งเมื่อสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.๙๑ ได้แล้ว ควรขยายแบบเรือให้ใหญ่ขึ้นและสร้างเพิ่มเติม”
จากพระราชกระแสรับสั่งในครั้งนั้น กองทัพเรือได้ดำเนินโครงการจัดสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ ชุด เรือ ต.๙๙๑ จำนวน ๓ ลำ ( มีระวางขับน้ำเต็มที่ ๒๑๕ ตัน ความยาวตลอดลำเรือ ๔๑.๔๕ เมตร) และได้กำหนดเลขหมายของเรือชุดนี้ว่า ต.๙๙๑ ต.๙๙๒ ต.๙๙๓ ด้วยการมอบหมายให้กรมอู่ทหารเรือดำเนินการต่อเรือที่ อู่ทหารเรือธนบุรี โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มีพระบรมราชวินิจฉัยในการออกแบบเรือ ขนาด รูปทรง น้ำหนัก รวมทั้งการใช้เชื้อเพลิง เพื่อให้เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งลำใหม่มีสมรรถนะสูงสุด
ต่อมาในปีงบประมาณ ๒๕๕๒ กองทัพเรือได้สนองแนวพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียงในโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.๙๙๔ เฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ เพิ่มอีก จำนวน ๓ ลำ คือ เรือ ต.๙๙๔ เรือ ต.๙๙๕ และ เรือ ต.๙๙๖ โดยดำเนินการพัฒนาแบบเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุด เรือ ต.๙๙๔ ให้มีคุณลักษณะที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ด้วยการพิจารณาจากปัญหาข้อขัดข้องที่เกิดขึ้นในหลายๆ ส่วน นำมาวิเคราะห์ปัญหาและแก้ไขจนสามารถทำให้การพัฒนาเรือนั้นมีคุณลักษณะที่เหมาะสมและตอบสนองต่อภารกิจได้ดีขึ้น ซึ่งคุณลักษณะทั่วไปของเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุด เรือ ต.๙๙๔ มีความยาวตลอดลำเรือ ๔๑.๗๐ เมตร ความกว้าง ๗.๒๐ เมตร กราบเรือสูง ๓.๘๐ เมตร กินน้ำลึก ๑.๘๐ เมตร ระวางขับน้ำเต็มที่ ๒๑๕ ตัน มีความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า ๒๗ นอต ระยะปฏิบัติการไม่น้อยกว่า ๑,๕๐๐ ไมล์ทะเล ระยะเวลาปฏิบัติการในทะเลต่อเนื่องไม่น้อยกว่า ๗วัน และมีความทนทะเล ระดับ ๓

หลังจากกองทัพเรือประสบความสำเร็จในการต่อเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.๙๙๑ และนำไปสู่การปรับปรุงเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.๙๙๔ ที่ได้มีการขยายแบบเรือ และรูปทรง ตามพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร กองทัพเรือได้น้อมนำแนวทางการพึ่งพาตนเองตามแนวพระราชดำริ จัดสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง ในการนี้กองทัพเรือ อนุมัติให้กรมอู่ทหารเรือ เป็นหน่วยสร้างเรือ และกำหนดให้ใช้พื้นที่ของกรมอู่ราชนีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ เป็นสถานที่ต่อเรือ โดยบริษัทอู่กรุงเทพ จำกัด ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในการดูแลของกองทัพเรือ ทำหน้าที่ให้บริการทางเทคนิคในการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ การเชื่อมต่อ การทดสอบ และทดลองอุปกรณ์ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางกระดูกงู เมื่อวันที่ ๒๓ ส.ค.๕๓ และปล่อยลงน้ำเมื่อวันที่ ๒ ธ.ค.๕๔ ณ อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี และพระราชทานชื่อเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำนี้ว่า “เรือหลวงกระบี่” /นาวิกศาสตร์๒๕๕๙

เรือหลวงแหลมสิงห์ ถือเป็นเรือรบลำใหม่ล่าสุดที่กองทัพเรือได้ใช้ศักยภาพและความรู้ความสามารถของกำลังพลกองทัพเรือ ในการดำเนินการติดตั้ง ทดสอบได้อย่างเต็มภาคภูมิ แม้ว่าจะใช้แบบเรือของบริษัทเอกชน แต่ถือเป็นการดำเนินการในการสร้างเรือขนาดใหญ่อีกลำด้วยการพึ่งพาตนเอง คือเรือตรวจการณ์ปืน ซึ่งแบ่งการสร้างเรือออกเป็น ๒ ระยะ ระยะแรกทำการต่อเฉพาะตัวเรือ รวมถึงระบบเครื่องจักร ณ อู่แห้งหมายเลข ๑ อู่ทหารเรือธนบุรี มีระยะเวลาในการดำเนินการประมาณ ๑๓ เดือน และหลังจากที่ปล่อยเรือลงน้ำแล้วได้นำตัวเรือไปทำการประกอบในส่วน superstructure (หอบังคับการเรือ เสาสื่อสาร) รวมถึงระบบอาวุธ ณ อู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ในระยะที่ ๒ นี้ มีระยะเวลาในการดำเนินการประมาณ ๑๐ เดือน
เรือตรวจการณ์ปืนลำใหม่นี้ ได้รับพระราชทานชื่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า “เรือหลวงแหลมสิงห์” (อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี) ขึ้นประจำการเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๙
พระมหากรุณาต่อนาวิกโยธิน พระราชทานทำนองเพลง “มาร์ชราชนาวิกโยธิน”
วันหนึ่งในปลายเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๐๒ นาวาเอก สนอง นิสาลักษณ์ ผู้บังคับการกรมนาวิกโยธิน ในขณะนั้น ได้ปฏิบัติหน้าที่เวรราชองครักษ์ ณ ศาลาเริง วังไกลกังวล ซึ่งขณะที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระเกษมสำราญกับการทรงดนตรีอยู่นั้น ได้มีรับสั่งให้ นาวาเอก สนอง ฯ ขึ้นร้องเพลงนาวิกโยธิน นาวาเอก สนอง ฯ ได้กราบบังคมทูลตามความจริงว่า เพลงนาวิกโยธินยังไม่มี และได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานเพลงประจำหน่วยนาวิกโยธิน ต่อมาในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๐๒ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทาน ทำนองเพลงพระราชนิพนธ์ “มาร์ชราชนาวิกโยธิน” แด่ นาวาเอก สนอง ฯ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ ฯ แก่เหล่าทหารนาวิกโยธินอย่างหาที่สุดมิได้ และในโอกาสต่อมาคณะนายทหารนาวิกโยธินก็ได้ร่วมกันประพันธ์คำร้องขึ้น เพลงมาร์ช ” ราชนาวิกโยธิน ” จึงเป็นเพลงประจำหน่วยที่มีคุณค่ายิ่ง
ต่อมาเมื่อหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ได้จัดสร้างอนุสาวรีย์ทหารนาวิกโยธิน บริเวณหาดเตยงาม อ่าวนาวิกโยธิน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ทหารนาวิกโยธิน ก็ได้อัญเชิญบทเพลง พระราชนิพนธ์ “มาร์ชราชนาวิกโยธิน” ไว้ด้านหน้าของอนุสาวรีย์ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอนุสาวรีย์ เมื่อ ๓๐ ก.ค.๒๕๒๘
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๐๗ เมื่อครั้งที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จ ฯ ทอดพระเนตรการแสดงกาชาดคอนเสิร์ต ทรงเห็นว่าเครื่องลมไม้ที่ใช้บรรเลงในวง มีสภาพเก่าและคุณภาพของเสียงไม่ได้มาตรฐาน จึงทรงพระราชทานเครื่องดนตรีส่วนพระองค์ จำนวน ๓ ชิ้น ให้แก่ กองดุริยางค์ทหารเรือ ประกอบด้วย ปี่บีแฟลต คลาริเนต พระราชทานเมื่อ ๗ มิ.ย.๒๕๐๗ ปี่โอโบ พระราชทาน เมื่อ ๑ ก.พ.๒๕๐๙ และปี่บาสซูน พระราชทานเมื่อ ๒๕ มิ.ย.๒๕๑๖ และต่อมาเมื่อวันที่ ๒๕ เม.ย.๒๕๒๙ ทรงมีพระราชดำรัสว่า “ ทหารเรือมีเครื่องเก่าๆ มาก ควรจัดพิพิธภัณฑ์ดนตรีขึ้น ” ซึ่งหลังจากนั้น พิพิธภัณฑ์ดนตรีที่กองดุริยางค์ทหารเรือ จึงได้ถือกำเนิดขึ้นมา
เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๐๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเรือใบประเภทโอเค ชื่อ เวคา (Vega*) ซึ่งทรงออกแบบและต่อขึ้นด้วยพระองค์เอง ลงน้ำที่ชายหาดด้านหน้าพระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แล่นใบข้ามอ่าวไทยไปยังอ่าวเตยงาม หน่วยบัญชาการนาวิกโยธินอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี รวมระยะทางประมาณ ๖๐ ไมล์ทะเล ด้วยพระองค์เอง ทรงใช้เวลาในการแล่นใบถึง ๑๗ ชั่วโมงเต็ม
หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเรือใบถึงอ่าวนาวิกโยธิน หรืออ่าวเตยงาม จึงทรงฉลองพระองค์ชุดสนามทหารนาวิกโยธินเป็นครั้งแรก และทรงนำ “ธงราชนาวิกโยธิน” ที่ทรงนำข้ามอ่าวไทยมาด้วยปักเหนือก้อนหินใหญ่ที่ชายหาดของอ่าวนาวิกโยธิน ในขณะที่วงดุริยางค์ทหารเรือบรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์มาร์ชราชนาวิกโยธิน และหลังจากนั้นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเปิดแพรคลุมแผ่นศิลาหน้าก้อนหินใหญ่ที่ปักธงราชนาวิกโยธิน มีข้อความจารึกว่า “ณ ที่นี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จอมทัพไทย ได้ทรงเรือใบขนาด ๑๓ ฟุต ด้วยพระองค์เองพระองค์เดียว จากหัวหินมาถึงสัตหีบ เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๐๙ เริ่มเวลา ๐๔๒๘ ถึงเวลา ๒๑๒๘ ทั้งนี้เป็นพระปรีชาสามารถอย่างยอดเยี่ยมเป็นครั้งแรกในประวัติการณ์ กองทัพเรือได้ขอพระราชทานพระมหากรุณาให้ทรงลงพระปรมาภิไธยไว้เป็นสิริมงคล และเพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่กองทัพเรือสืบไป”
เมื่อเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงว่างจากพระราชภารกิจ พระองค์จะเสด็จฯ ไปทรงเรือใบร่วมกับข้าราชบริพาร และนายทหารเรือเสมอ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการแข่งขันเรือใบเป็นประจำ ระหว่างทีมสโมสรจิตรดา และทีมราชนาวี โดยทั้งสองทีมจะผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพในทุก ๆ ปี โดยจะจัดการแข่งขันในห้วงระยะเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ เสด็จฯ แปรพระราชฐาน ไปประทับแรม ณ วังไกลกังวล และทรงเป็นผู้ชนะเลิศในการแข่งขันหลายครั้ง
การแข่งขันเรือใบประเพณี จิตรลดา-ราชนาวี นอกจากจะแสดงถึงความสนพระราชหฤทัย และพระอัจฉริยภาพในการแล่นเรือใบแล้ว ยังสะท้อนถึงพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น ที่ทรงพระราชทานโอกาสให้แก่เหล่าทหารเรือได้เข้าร่วมการแข่งขันเพื่อพัฒนาฝีมือในกีฬาเรือใบ ทุกวันนี้การแข่งขันเรือใบประเพณี จิตรลดา-ราชนาวี ไม่ได้จัดต่อเนื่องเหมือนเช่นอดีต คงเหลือไว้แต่คำบอกเล่าอย่างมีชีวิตชีวาและเปี่ยมปิติของผู้ที่เคยได้ร่วมชมพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้น
พระราชกรณียกิจต่าง ๆ ของพระองค์ท่าน ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว นับได้ว่าทรงมีกระมหากรุณาธิคุณแก่กองทัพเรืออย่างหาที่สุดมิได้ ทำให้กิจการของกองทัพเรือได้ก้าวไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กองทัพเรือมีความมั่นคง เป็นกองทัพที่จะปฏิบัติภารกิจ เพื่อความมั่นคงผาสุกของประเทศ และชาวไทยทั้งปวงตลอดไป
*Vega เป็นชื่อดวงดาวที่สุกใสที่สุดในกลุ่มดาวพิณ และมีความหมายว่ากำลังความเร็วเหนือสายน้ำ